บ็อกเซอร์ (Boxer) ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย

ประวัติสายพันธุ์

สุนัขพันธุ์บ็อกเซอร์ มีการขนานนามว่าเป็นสุนัขปีเตอร์แพน (Perter Pan) เพราะเป็นสุนัขที่ไม่รู้จักเหนื่อย และเป็นมิตรกับทุกคน ซึ่งมาจากการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ 3 พันธุ์ คือ 1.สุนัขพันธุ์บลูเลนไบเซอร์ (Bullenbeisser) เป็นสุนัขนักล่าที่สูญพันธุ์ไปแล้ว 2.สุนัขไม่ทราบสายพันธุ์ 3.อิงลิช บูลด็อก (English bulldog)

ในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 19 มีชาวเยอรมัน Georg Alt ได้นำสุนัขเพศเมียพันธุ์บลูเลนไบเซอร์ผสมพันธุ์กับสุนัขที่ไม่ทราบสายพันธุ์ และได้ออกลูกสุนัขเพศผู้ออกมาเป็นสุนัขแคระ สีครีมปนขาว (Cream with White) ชื่อ Lechner’s Box ซึ่งสุนัขชื่อ Lechner’s Box ตัวนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของสายพันธุ์บ็อกเซอร์ที่ได้รู้จักกันทุกวันนี้

โดยสุนัขชื่อ Lechner’s Box ได้ผสมพันธุ์กับสุนัขเลือดชิด (Inbreed) คือสุนัขที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกันผสมพันธุ์กัน และได้ออกลูกสุนัขเพศเมียออกมา ชื่อ Atl Shecken ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับสุนัขพันธุ์บลูเลนไบเซอร์ หรือสุนัขพันธุ์ Bier boxer และสุนัขชื่อ Atl Shecken ได้ผสมพันธุ์กับสุนัขพันธุ์อิงลิช บูลด็อก ได้ออกลูกออกมา ชื่อ Flocki

สุนัขพันธุ์บ็อกเซอร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ของ German Stud Book

หลังช่วงท้ายของศตรวรรษที่ 19 ลูกสุนัขเพศเมียของสุนัขชื่อ Flocki และเป็นหลานของสุนัขชื่อ Lechner’s Box มีชื่อว่า Meta von der Passage และเป็นต้นแบบสุนัขแม่พันธุ์ของสายพันธุ์บ็อกเซอร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในปี ค.ศ. 1895 ที่เมืองมิวนิก (Munich) ทางใต้ของประเทศเยอรมนี ได้จัดตั้งสมาคม Boxer Club ขึ้นเป็นครั้งแรก

ในช่วงก่อนศตวรรษที่ 20 สุนัขพันธุ์บ็อกเซอร์ ได้ถูกนำเข้ามาเลี้ยงในสหรัฐอเมริกา และได้รับการขึ้นทะเบียนสายพันธุ์จากสมาคม The American Kennel Club (AKC) ในปี ค.ศ. 1904 โดยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (World War I) ทหารอเมริกาได้นำสุนัขพันธุ์บ็อกเซอร์มาเป็นสุนัขทหาร จัดเป็นหนึ่งในสายพันธุ์แรกที่ได้รับการคัดเลือก รวมถึงได้รับเลือกให้เป็นเพื่อนคู่หู และสุนัขอารักขา ทำให้สุนัขพันธุ์นี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และเป็นที่รู้จักจนถึงวันนี้

ลักษณะทางกายภาพ

สุนัขพันธุ์บ็อกเซอร์ บริเวณส่วนหัวเป็นลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์นี้ เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมที่โด่ดเด่น และสง่างาม บริเวณปากมีสัดส่วนพอดีกับหัว โดยมีความยาวของปากต่อหัวเท่ากับ 1:3 ริมฝีปากบนจะย้อยลงมาเล็กน้อย กรามสุนัขจะมีขากรรไกรล่างยื่นออกมามากกว่าขากรรไกรบนเรียกว่า Underbite หรือ Undershot bite ส่วนของปลายจมูกจะยกสูงขึ้นกว่าฐานจมูก

ดั้งเดิมของสุนัขพันธุ์บ็อกเซอร์ หางสุนัขจะถูกตัด หรือทำให้สั้นลง แต่ในปัจจุบันสัตวแพทย์สภา หรือกลุ่มตัวแทนของสัตวแพทย์ไม่เห็นด้วยเรื่องการตัดหางสุนัข โดยมีการออกกฎหมายห้ามตัดหางสุนัขพันธุ์นี้ทั่วโลกจากสมาคม Kennel Club (UK) ในปี ค.ศ. 1998 แต่ยังคงมีบางประเทศที่ยังแอบตัดหางสุนัขอยู่

ในปี ค.ศ. 2008 องค์กร The Fédération cynologique internationale (FCI) ได้ระบุว่าสุนัขพันธุ์บ็อกเซอร์ที่มีหางสั้น (Naturally stumpy tail) จัดเป็นสุนัขที่มีความผิดปกติทางสายพันธุ์

ในปี ค.ศ. 2009 สหรัฐอเมริกา และประเทศแคนาดา ได้ระบุถึงการตัดหูสุนัขให้สั้นลงยังสามารถทำได้

ในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2005 สมาคม The American Kennel Club (AKC) ได้มีการเปลี่ยนกฎหมายใหม่ คือห้ามมีการตัดหูสุนัข และหางสุนัข หากพบฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษแก่เจ้าของ

สุนัขเพศผู้มีความสูงมาตรฐานอยู่ที่ 22-25 นิ้ว หรือ 56-63 เซนติเมตรวัดจากหัวไหล่ถึงพื้น และสุนัขเพศเมียมีความสูงมาตรฐานอยู่ที่ 21-23½  นิ้ว หรือ 53-60 เซนติเมตรวัดจากหัวไหล่ถึงพื้น ทั้งสุนัขเพศผู้และสุนัขเพศเมียจะมีน้ำหนักมาตรฐานอยู่ที่ 55-70 ปอนด์ หรือ 25-32 กิโลกรัม

อายุขัย

สุนัขพันธุ์บ็อกเซอร์ โดยทั่วไปมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 13-15 ปี

ลักษณะนิสัย

สุนัขพันธุ์บ็อกเซอร์ มีความกระตือรือร้น ตื่นตัว และสนใจสิ่งรอบข้างเป็นอย่างมาก มักถูกนำมาเป็นสุนัขอารักขาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบรรพบุรุษแต่ก่อนเป็นสุนัขนักล่า หรือสุนัขทำงาน จะมีนิสัยเป็นตัวของตัวเอง และมีความั่นใจ อาจพบนิสัยดุร้ายได้ หากสุนัขรู้สึกไม่ปลอดภัย นอกจากนั้นยังมีนิสัยขี้เล่น มีความอดทน มีพลังงานมาก เป็นมิตรกับคนรอบข้าง และสัตว์ตัวอื่น ควรฝึกการเข้าสังคม และการปรับตัวขณะสุนัขยังเด็ก จะทำให้พฤติกรรม และบุคลิกภาพดีขึ้น

ความแตกต่างนิสัยของสุนัขเพศผู้และเพศเมีย คือสุนัขเพศผู้จะคอยเอาใจใส่ และรักเจ้าของ จะเติบโตในช่วงปีแรก และสุนัขเพศเมียจะเอาแต่ใจตัวเอง หงุดหงิด และมักระแวงคนรอบข้าง

การเข้ากับเด็ก

สุนัขพันธุ์บ็อกเซอร์ สามารถเข้าได้ดีกับเด็กเป็นอย่างมาก เป็นสุนัขขี้เล่น เป็นมิตรกับเด็กเล็ก สามารถปรับตัวและรับรู้ถึงอันตรายได้ เพื่อคอยปกป้อง และเป็นเพื่อนกับเด็กได้ในเวลาเดียวกัน

เป็นสุนัขชอบกระโดด หากต้องการแสดงความรักมากแค่ไหน จะกระโดดสูงเท่านั้น ซึ่งในสุนัขยังเล็กจะขาดการระมัดระวังตัวเอง ทำให้เกิดอันตรายกับสุนัขได้ แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการฝึกสอนสุนัข

การดูแล

การออกกำลังกาย

สุนัขพันธุ์บ็อกเซอร์ เป็นสุนัขสุขภาพแข็งแรง มีพลังงานมาก จำเป็นต้องออกกำลังกายด้วยการเดินประมาณ 45 นาที – 1 ชั่วโมงต่อวัน อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ หรือให้สุนัขวิ่งอิสระในสนามหญ้า หรือทุ่งนาในสภาพอากาศที่ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป เนื่องจากเป็นสุนัขขนบาง อาจทำให้เกิดการป่วยได้ และเป็นสุนัขที่ชอบเล่นเกม ควรสอนให้สุนัขเล่นคาบของมาคืนด้วยลูกบอล หรือการปาจานร่อน นอกจากนั้นยังสามารถพาสุนัขเดินขึ้นเขาก็ได้

อาหาร

โดยความต้องการอาหาร และพื้นฐานของสุนัขจะแตกต่างกับสุนัขตัวอื่น ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ อายุ, กระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism), น้ำหนักตัว, และกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน

สุนัขพันธุ์บ็อกเซอร์ (สุนัขโต) ควรได้รับอาหารที่มีประโยชน์ ปริมาณอาหารที่แนะนำคือ 2 ถ้วยต่อวัน แบ่งเป็น 2 มื้อ (ตอนเช้าและก่อนสุนัขเข้านอน) หรือให้ก่อนที่สุนัขจะนอนเป็นเวลาประจำ เพราะหากสุนัขกินแล้วนอนทันทีจะทำให้ย่อยอาหารได้น้อยลง

ลูกสุนัข ควรให้ปริมาณอาหารเป็น 2 เท่าของสุนัขโต แต่เจ้าของควรสังเกตปริมาณอาหารให้เหมาะสมกับการใช้พลังงานของสุนัขเองด้วย

โรคประจำพันธุ์

สุนัขพันธุ์บ็อกเซอร์ เป็นสุนัขที่สุขภาพแข็งแรง แต่สามารถเกิดการเจ็บป่วย หรือเกิดโรคขึ้นได้ เจ้าของควรรู้ถึงโอกาสการเกิดโรคจากความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยดูได้จากสุนัขพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ต้องแข็งแรง ไม่ซึม และมีใบรับรองประวัติสายพันธุ์

  • โรคผิวหนัง
    • โรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Skin Allergies)
    • โรคผิวหนังอักเสบ (Dermatitis)
  • โรคระบบหมุนเวียนโลหิตและหัวใจ
  • โรคระบบทางเดินอาหาร
    • ภาวะกระเพาะอาหารขยายและบิดหมุน(Gastric Dilatation Volvulus : GDV)
    • โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ (Colitis)
  • โรคระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และโครงสร้าง
  • โรคระบบต่อมไร้ท่อ
    • ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism)
    • กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome)
  • โรคตา
    • โรคกระจกตาเสื่อม (Corneal dystrophy)
  • โรคหู
    • โรคหูหนวกตั้งแต่กำเนิด (Congenital deafness)
  • โรคมะเร็ง
    • โรคเนื้องอกมาสต์เซลล์ (Mast cell tumors)
    • โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
    • โรคเนื้องอกในสมอง (Brain tumors)

เรื่อง : ทรงภูมิ อานันทคุณ

ติดตามข้อมูล บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่