โรคข้อสะโพกเสื่อมในสัตว์เลี้ยง (Hip Dysplasia)

โครงสร้างของร่างกาย การเคลื่อนไหว การเดิน การรับน้ำหนักตัวของคนและสัตว์ จำเป็นที่จะต้องมีกระดูก และข้อต่อในจุดต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดการหมุน การเหวี่ยง ซึ่งการยึดติดกันของกระดูกแต่ละชิ้น จะทำให้ประกอบขึ้นเป็นร่างกาย

ข้อสะโพกเป็นข้อต่อที่จะยึดระหว่างแนวกระดูกเชิงกราน กับกระดูกท่อนขาหลังในสัตว์ ซึ่งข้อต่อนี้เป็นส่วนที่รับน้ำหนักตัวอยู่ 40 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักของร่างกาย จึงเป็นข้อต่อที่จำเป็นมากในการยืน การเคลื่อนไหว หากเกิดความเจ็บปวดที่ข้อต่อ หรือ โรคข้อสะโพกเสื่อมในสัตว์เลี้ยง มักทำให้สัตว์ไม่อยากลุกยืน หรือเดิน ที่น้อยลงกว่าปกติ

ลักษณะทางกายวิภาคของข้อต่อสะโพกจะประกอบด้วย หัวกระดูกที่มีลักษณะกลมมน ( Femoral Head ) สวมเข้ากับกระดูกเชิงกราน ที่มีลักษณะเป็น เบ้า โค้ง ( Acetabulum ) ซึ่งจะรับพอดี เข้ารูปกับหัวกระดูก โดยจะมีเยื่อหุ้มข้อ ปกคลุมระหว่างหัวกระดูก และเบ้ากระดูก ซึ่งจะทำให้น้ำที่เป็นเหมือนสารหล่อลื่นเหนียว ๆ ไม่หลุด รั่ว ออกไปที่อื่น น้ำหล่อลื่นนี้จะทำให้กระดูกสองส่วนนี้ไม่มีการเสียดสี ชนกัน ลดความร้อนที่เกิดระหว่างการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ทำให้ผิวกระดูกทั้งสองส่วนนี้ไม่เกิดความเสียหายจากการสัมผัสกัน หรือจากความร้อนที่เกิดขึ้น อีกทั้งระว่างกระดูกสองชิ้นนี้ ยังมีเอ็นที่ช่วยยึดเข้าด้วยกัน โดยเส้นเอ็นนี้จะมีลักษณะที่เหนียว ยืดหยุ่น ทำให้กระดูกสองส่วนนี้มีการเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ มั่นคง ไม่แยกออกจากกัน

สาเหตุของอาการ

โรคข้อสะโพกเสื่อมในสัตว์เลี้ยง หรือการเสื่อมของข้อสะโพกในสุนัขเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยทั้งพันธุ์เล็กและใหญ่ โดยสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย เช่น ชิวาวา ยอร์คเชียเทอร์เรีย คอร์กี้ ปอมเมอเรเนียน พุดเดิ้ล ไทยหลังอาน บางแก้ว ไซบีเรียนฮัสกี้ ลาบาร์ดอร์รีทรีฟเวอร์ โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ พิทบูล อลาสกันมารามิวท์ หรือแม้กระทั่งพันธุ์ผสมทั่วไป จะมีสาเหตุมาจากการหลวมของข้อต่อ ไม่ว่าจะเกิดจากเบ้ากระดูกไม่มีลักษณะที่คลุมหัวกระดูกได้ดี หรือเกิดจากหัวกระดูกที่ไม่มีลักษณะที่เหมาะสมกับเบ้ากระดูก ทำให้เกิดการเสียดสีกันระหว่างหัวกระดูก กับเบ้ากระดูกมากขึ้น จนผิวหน้ากระดูกทั้งสองส่วนเสียหาย จากนั้นร่างกายจะพยายามซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ โดยการเพิ่มแคลเซียมบริเวณที่เสียหายมากขึ้น ส่งให้ผลให้ข้อต่อมีลักษณะที่ผิดรูป และน้ำในข้อต่อลดลง เนื่องจากผิวกระดูกที่เป็นแหล่งผลิตน้ำในข้อต่อถูกทำลาย เนื้อกระดูกสองส่วนจึงเสียดสีมากขึ้น จนเกิดความเจ็บปวดตามมาในที่สุด

สาเหตุของการเกิดข้อสะโพกเสื่อมในสุนัขนั้นพบว่า เกิดจากปัญหาทางพันธุกรรม โภชนาการ อัตราการเจริญเติบโตของสัตว์ที่รวดเร็ว ไม่สมดุลกัน เราจึงมักพบปัญหานี้ในสุนัขพันธุ์ใหญ่ และการเลี้ยงดู สถานที่ แหล่งที่อยู่ เช่น พื้นลื่น สัตว์ขาดการออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณสะโพกไม่แข็งแรง

ลักษณะอาการ 

อาการทั่วไปที่จะพบได้เมื่อพวกเขาเจ็บปวดจากปัญหาสะโพกเสื่อม คือ
1. เห็นอาการเจ็บขาเด่นชัดมากขึ้นหลังจากออกกำลังกาย โดยอาจแสดงออกข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ได้
2. วิ่งเหมือนกระต่ายกระโดด คือสองขาหลังลอยไปพร้อม ๆ กันในเวลาที่วิ่งเหยาะ ๆ หรือช้า ๆ ( Bunny hopping )
3. เหนื่อยง่าย ออกกำลังกายได้ลดลง
4. ลุกยืนลำบากหลังจากที่นอนมานาน
5. ไม่อยากกระโดดขึ้นที่สูง หรือไม่อยากขึ้นลงบันได จากที่ก่อนหน้านี้สามารถขึ้นลงได้ปกติ
6. อาจได้ยินเสียง “คลิ๊ก” บริเวณสะโพกในเวลาที่เดิน

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติมีวิธีที่แนะนำคือ
1. วิธีการคลำที่เรียกว่า Ortolani Sign หรือเรียกว่า Ortolani Test

เป็นการตรวจโดยการตรวจร่างกาย วิธีนี้ถูกใช้ในเด็กแรกเกิดตั้งแต่ปี 1937 และยังคงเป็น ” วิธีมาตรฐาน” สำหรับการวินิจฉัยเบื้องต้นของโรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติในทารกแรกเกิดทั่วโลก Ortolani Sign คือการตรวจตรวจหาการหย่อนของข้อสะโพก โดยสัตวแพทย์จะดันให้หัวกระดูกต้นขาออกไปนอกเบ้ากระดูกชิงกราน และเมื่อทำการบิดขาอย่างต่อเนื่อง ถ้ามีการหย่อนของข้อสะโพก หัวกระดูกต้นขาจะ “เด้ง” กลับมาเข้าในเบ้ากระดูก การตรวจหา Ortolani Sign มักตรวจโดยใช้ยาซึมเพื่อให้สัตวแพทย์ตรวจได้ง่ายขึ้น เนื่องจากการบิดขาอาจจะทำให้สัตว์ป่วยเจ็บและไม่ร่วมมือในการตรวจทำให้แปลผลตรวจได้ยาก

2. การถ่ายภาพรังสีสะโพก

อาจจะทำร่วมกับการให้ยาสลบหรือยาซึม เพื่อให้สามารถทำได้จัดท่าให้ได้ภาพที่ดีสุด เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง การถ่ายภาพรังสีจะดูลักษณะโครงสร้างของหัวกระดูก กับเบ้ากระดูก และรอยโรคที่เกิดขึ้นกับกระดูกสองชิ้นนี้ การถ่ายภาพรังสีนั้นแบ่งตามาตรฐานการตรวจเป็น 3 มาตรฐานหลัก ได้แก่

ภาพถ่ายรังสีของสุนัขที่เป็นโรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ ท่านอนหงายและนอนตะแคง ตามลำดับ (ภาพโดย น.สพ. บูรพงษ์ สุธีรัตน์)
  1. การตรวจมาตรฐานทั่วไป สัตวแพทย์จะทำการพิจารณาลักษณะกายวิภาคของข้อสะโพก เช่น การวัดมุมที่เรียกว่า Norberg Angle (สะโพกปกติควรมีมุมมากกว่าหรือเท่ากับ 105 องศา การวัดมุมนี้คือการวัดการคลุมหัวกระดูกต้นขาโดยเบ้ากระดูก ยิ่งมุมกว้าง ยิ่งมีการคลุมหัวกระดูกได้ดี), การดูการเคลื่อนหลุดของข้อสะโพก (subluxation), ลักษณะของขอบเบ้ากระดูกเชิงกรานด้านหน้า (cranial acetabular edge), ลักษณะของขอบเบ้ากระดูกเชิงกรานด้านบน (dorsal acetabular edge), ลักษณะการคลุมของข้อสะโพกมีความผิดปกติและมีกระดูกงอกหรือไม่ (cranial effective acetabular rim margin), ร่องเบ้ากระดูกเชิงกรานตื้นหรือไม่  (acetabular fossa), ลักษณะหัวและคอกระดูกต้นขามีการงอกของกระดูกเพิ่ม (femoral head/neck exostosis)ม ลักษณะหัวกระดูกต้นขาแบนหรือไม่  (femoral head recontouring)
  2. การวินิจฉัยและขอการรับรองจากคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียในสหรัฐอเมริกาหรือเรียกว่า PennHIP เพื่อตรวจหาการหย่อนของข้อสะโพก วิธีนี้เป็นอีกวิธีที่นิมมากในต่างประเทศ แต่ไม่เป็นที่นิยมภายในประเทศไทย
  3. การวินิจฉัยและขอการรับรองจากมูลนิธิออร์โธปีดิคส์ในสัตว์ (Orthopaedic Foundation of Animal :OFA) เราทำให้สามารถแบ่งความรุนแรงของปัญหาได้เป็น 5 ระดับ
    • ดีเยี่ยม (Excellent) : โครงสร้างของสะโพก หัวของกระดูกต้นขาอยู่ในเบ้าเชิงกราน โดยที่ตัวเบ้าคลุมตัวหัวกระดูกทั้งหมด มีช่องว่างระหว่างกันเพียงเล็กน้อย
    • ดี (good) : โครงสร้างส่วนใหญ่ของตัวเบ้าเชิงกราน คลุมหัวของกระดูกต้นขา พบว่ามีช่องว่างระหว่างกัน
    • เล็กน้อยพอยอมรับได้ (Fair): พบความผิดปกติเล็กน้อย ข้อสะโพกเคลื่อนเล็กน้อย จะพบว่าขอบด้านบน (dorsal acetabula rim) เว้าไปเล็กน้อย
    • เล็กน้อยจนถึงปานกลาง (Mild to moderate): พบหัวของกระดูกต้นขาบางส่วน เคลื่อนตัวออกจากเบ้า ถ้าเป็น mild จะยังไม่พบความผิดกติของโครงสร้างเบ้าเปลี่ยนไป แต่หาก ถ้าเป็น moderate  จะพบลักษณะคอและหัวกระดูกต้นขาเปลี่ยนแปลงไป
    • รุนแรง (Severe): พบโรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติอย่างชัดเจน พบข้อะโพกเคลื่อน ร่วมกัด ความผิดปกติของ หัวกระดูกต้นขา หรือพบว่าหัวกระดูก ต้นขาอยู่นอกเบ้ากระดูกเชิงกราน ตัวเบ้ากระดูกเชิงกรานมีลักษณะป้านออกและตื้นขึ้น
โรคข้อสะโพกเสื่อมในสัตว์เลี้ยง
ขอบคุณภาพจาก : theoraamericanbulldogs.com

** ในกรณีที่ไม่ได้ส่งตรวจกับสถาบัน Orthopedic Foundation of Animals และไม่ได้วางยาซึมหรือยาสลบสุนัข การดิ้นหรือบิดตัวอาจจะทำให้การวินิจฉัยไม่แม่นยำ

** ในสุนัขพันธุ์เสี่ยงดังที่กล่าวข้างต้น เจ้าของควรเริ่มพาพวกเขาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยตั้งแต่อายุสามเดือนเป็นต้นไป  เพื่อทำการป้องกัน หรือลดความรุนแรงของปัญหาสะโพกเสื่อม

การรักษา โรคข้อสะโพกเสื่อมในสัตว์เลี้ยง

แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

1.การรักษาในขณะที่เป็นลูกสัตว์และไม่มีโรคกระข้อเสื่อมและอักเสบ แบ่งเป็น 2 วิธีคือ

  1. การแบบประคับประคอง (Conservative Treatment) คือการไม่ผ่าตัด ประกอบด้วย
    • การเลือกซื้อลูกสุนัขจากพ่อแม่ที่ได้รับการรับรองจากสถาบัน OFA (Orthopaedic Foundation for Animals) สถาบันนี้จะให้ใบรับรองเกี่ยวกับคุณภาพ ลักษณะของสะโพกที่ได้รับความน่าเชื่อถือมากที่สุดในโลก โดยผู้เพาะพันธุ์จะนำสุนัขเข้ารับการถ่ายภาพรังสีและส่งภาพนี้ไปที่สถาบัน โดยสถาบันจะส่งผลกลับมาที่เจ้าของ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
    • ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้กล้ามเนื้อบริเวณสะโพกแข็งแรง ซึ่งกล้ามเนื้อจะเป็นตัวช่วยในการรับน้ำหนักตัว จึงเป็นการแบ่งเบาภาระการทำงานของข้อต่อ
    • ควบคุมน้ำหนักให้สมส่วน ไม่มีชั้นไขมันเข้ามาแทรกในชั้นกล้ามเนื้อ ไม่ทำให้กล้ามเนื้อ และข้อต่อทำงานหนักเกินไปจากการรับน้ำหนักตัวเอง
    • หลีกเลี่ยงพื้นลื่น เนื่องจากพื้นที่ลื่นจะทำให้พวกเขาลุกยืนได้อย่างลำบาก จำเป็นต้องใช้แรงมากในการลุกขึ้นยืน ข้อต่อสะโพกจะถูกใช้งานหนักขึ้น

ในหลาย ๆ ครั้ง เราพบว่า สุนัขแม้จะพบว่ามีข้อสะโพกเสื่อมที่รุนแรงมากในภาพรังสี แต่พวกเขาก็ยังสามารถเคลื่อนไหวได้ดี ลุกยืนได้ดี เนื่องจากพวกเขามีน้ำหนักที่สมส่วน อยู่บนสนามหญ้า มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นเราจึงไม่ต้องทำการรักษาเขาไม่ว่าจะเป็นด้วยทางยา หรือการผ่าตัดเลย

  1. การผ่าตัด (Surgical Treatment) คือการรักษาด้วยการผ่าตัด แต่การผ่าตัดนั้นแม้จะแก้ที่สาเหตุแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่พบปัญหาอีกต่อไปเลย เนื่องจากปัญหาข้อสะโพกเสื่อมเกิดขึ้นได้หลายปัจจัยจากที่ได้กล่าวมาข้างต้น การเลือกวิธีการผ่าตัดเพื่อแก้ไขนั้นขึ้นกับอายุสัตว์ ความรุนแรงของโรคและงบประมาณเป็นปัจจัยในการตัดสินใจเลือกวิธีผ่าตัด
    • JPS ( Juvenile Pubic Symphysiodesis ) วิธีการนี้คือการใช้ไฟฟ้า จี้บริเวณกระดูกเชิงกรานที่กำลังเจริญเติบโตในลูกสัตว์ ทำให้กระดูกเชิงกรานส่วนที่โดนจี้ตาย ไม่สามารถเจริญเติบโต หรือขยายได้อีก แต่เนื่องจากกระดูกเชิงกรานส่วนอื่นยังสามารถเจริญเติบโตได้อยู่ จึงทำให้กระดูกเชิงกรานนั้นโค้งลงมาคลุมหัวกระดูกมากขึ้น เมื่อพวกเขาโตเต็มที่ จึงเกิดความมั่นคงมากขึ้น ดังนั้นวิธีการนี้จึงควรจะเริ่มทำเมื่ออายุ 12-18 สัปดาห์ หรืออายุ 3-4.5 เดือนในลูกสัตว์ที่โครงสร้างหัวกระดูกและเบ้ากระดูกปกติอยู่  ถ้าอายุมากกว่านี้จะไม่มีประโยชน์ในการผ่าตัดด้วยวิธีนี้เนื่องจากมีการเจริญเติบโตของกระดูกไปแล้ว ไม่สามารถปรับมุมได้
    • DPO ( Double Pelvic Osteotomy ) หรือ TPO ( Triple Pelvic Osteotomy ) วิธีการนี้คือการตัดกระดูกเชิงกรานและปรับกระดูกเพื่อให้ได้องศาการคลุมหัวกระดูกตามที่เราต้องการ ซึ่งจะทำให้เบ้ากระดูกโค้งรับกับหัวกระดูกมากขึ้น TPO คือการตัด 3 ตำแหน่ง DPO คือการตัด 2 ตำแหน่ง ทั้งสองวิธีนี้ต่างกันเล็กน้อยที่วิธีการทำ ความยุ่งยากในการทำ แต่ผลคือการปรับมุมกระดูกให้โค้งรับหัวกระดูกทั้งคู่ การผ่าตัดวิธีนี้ควรทำในสัตว์ที่อายุ ระหว่าง 5-8 เดือนในลูกสัตว์ที่โครงสร้างหัวกระดูกและเบ้ากระดูกปกติอยู่
ภาพถ่ายรังสีหลังผ่าตัด DPO ( Double Pelvic Osteotomy ) (ภาพโดย น.สพ. บูรพงษ์ สุธีรัตน์)

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะพบได้คือ การถอนของวัสดุ (Implant Failure) การบาดเจ็บของเส้นประสาท และการเสียเลือดระหว่างผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่พบได้น้อยกว่ามากคือ เช่น การแคบของช่องเชิงกรานจนขับถ่ายลำบากในกรณีที่มีการผ่าตัดทำ TPO พร้อมกัน 2 สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการทำวิธี DPO สำหรับปัญหาอื่น ๆ เช่น การเกิดโรคข้อเสื่อมและอักเสบ (Degenerative Joint Disease/ DJD หรือ Osteoarthritis/OA) การที่มีข้อสะโพกหลวม (Joint Incongruity) การเดินที่ผิดปกติ สามารถหลีดเลี่ยงได้จากการเลือกสัตว์ป่วยที่เหมาะสมกับการผ่าตัดวิธีนี้และเลือดวัสดุที่เหมาะสม

2.การรักษาในขณะที่มีโรคกระข้อเสื่อมและอักเสบแล้ว แบ่งเป็น 2 วิธีคือ

  1. การแบบประคับประคอง (Conservative Treatment) คือการไม่ผ่าตัด ประกอบด้วย
    • การให้ยาลดปวด การให้ยาลดปวดที่เหมาะสมกับขนาดที่แท้จริง เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้สุนัขบรรเทาจากความเจ็บปวดได้ แต่ไม่ใช่ทุกตัวหรือทุกครั้งไป หลาย ๆ ครั้งเราพบว่าสุนัขยังแสดงอาการเหมือนเดิม ถึงแม้ให้ยาก็ตาม โดยการให้ยานี้จำเป็นที่จะต้องทานต่อเนื่องทุกวันในช่วงแรก จากนั้นถ้าสุนัขแสดงอาการดีขึ้น จึงอาจจะงด หรือหยุดยาเป็นระยะ ร่วมกับการช้วิธีการรักษาแบบอื่นร่วมด้วยตามสมควร เพื่อลดผลข้างเคียงของยา
    • การใช้ยาบำรุงข้อ (Neutraceuticals) ยาบำรุงข้อชนิดต่างมีมากมายในตลาด ยาบำรุงข้อมีราคาสูงและการตอบสนองต่อการรักษาอาจไม่ชัดเจน ขึ้นกับสัตว์แต่ละตัว ผู้เขียนมักแนะนำในเรื่องของการออกกำลังกาย การให้ยาลดปวด การทำให้เขามีความสมส่วนของโครงสร้างเป็นประเด็นหลักในการรักษาแบบประคับประคอง แต่ถึงอย่างไรก็ตามการใช้ยาบำรุงข้อ ข้อนั้นก็ขึ้นกับดุลยพินิจของสัตวแพทย์ผู้ให้การรักษา
    • การฉีด polysulfated glycosaminoglycan สารกลุ่มนี้เป็นสารตั้งต้นในการสร้างกระดูกอ่อนและมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบและอาการเจ็บ
    • การทำกายภาพบำบัดสามารถช่วยสุนัขที่มักจะนอนอยู่กับที่เป็นประจำ การเคลื่อนไหวข้อต่อและการยืดกล้ามเนื้อจะช่วยให้พวกมันรู้สึกสบายตัวและเคลื่อนไหวได้มากขึ้น การทำกายภาพบำบัดใช้ได้กับสุนัขที่เข้ารับการผ่าตัดด้วยโรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและเพิ่มความเร็วในการฟื้นตัว อาจจะทำร่วมกับการใช้เครื่องมือสำหรับกายภาพบำบัดอื่น ๆ เช่น การกระตุ้นไฟฟ้า อัลตราซาวด์ หรือเลเซอร์ระดับ 4
    • วิธีอื่นจากการรักษาที่เรียกว่าแพทย์ทางเลือกอื่น เช่น การฝังเข็ม, การรักษาด้วยสเต็มเซลล์และการแพทย์แผนจีนล้วนถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ การพูดคุยกับสัตวแพทย์เกี่ยวกับประสบการณ์และคำแนะนำจึงจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้กระบวนการรักษาในสุนัขประสบความสำเร็จได้
  2. การผ่าตัด (Surgical Treatment) การผ่าตัดเพื่อลดปัญหาความเจ็บปวด ในกรณีที่พวกเขาไม่ตอบสนองต่อยากิน และยังแสดงอาการเจ็บปวดตลอดเวลา โดยที่การผ่าตัดจะแนะนำอยู่ 2 วิธี โดยที่ทั้ง 2 วิธีนี้จะไม่ระบุว่า ควรทำวิธีใดวิธีหนึ่งมากกว่ากัน ขึ้นกับความเข้าใจของเจ้าของ รวมทั้งกำลังทรัพย์ พฤติกรรมของสัตว์ และสัตวแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด
    • การตัดหัวกระดูกและคอกระดูกออก (Femoral Head and Neck Excision, FHNE) วิธีการนี้ คือการตัดส่วนที่ผิดปกติของหัวกระดูกออก เพื่อทำให้เบ้ากระดูกไม่โดนเสียดสีกับหัวกระดูกที่เสื่อมหรือเสียหาย เนื่องจากสุนัขและแมว จะยืนในแนวขนานกับพื้นโลก และมีกล้ามเนื้อตรงเชิงกรานอยูหลายมัดที่พอจะรับน้ำหนักตัวได้ จึงทำห้มีส่วนช่วยในการรับน้ำหนักร่างกาย วิธีนี้จึงเหมาะในการผ่าตัดในสัตว์ที่มีขนาดตัวเล็ก หรือ เบา เพื่อให้กล้ามเนื้อสามารถรับน้ำหนักตัวได้บ้าง โดยทฤษฎีจึงแนะนำทำได้ในสัตว์ที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 17 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้น ยังสามารถทำได้ในสุนัขตัวใหญ่เช่นกัน เพียงแต่ว่าการเดินหรือใช้ขาจะช้ากว่าสัตว์ตัวที่เล็กกว่า ซึ่งจำเป็นต้องทำการกายภาพระยะยาว ข้อดีของวิธีการนี้คือ ค่าใช้จ่ายถูก ผลข้างเคียงของการผ่าตัดน้อย ต้องการการดูแลน้อย สามารถปล่อยวิ่งเล่นได้เลย ไม่จำเป็นต้องจำกัดที่ แต่ข้อเสียคือ จะไม่สามารถบอกได้ว่าจะลงใช้ขาได้เต็มหรือดีเมื่อไหร่ เนื่องจากกล้ามเนื้อในระยะแรกไม่สามารถรับน้ำหนักตัวการก้าวย่างได้ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกระดูกขาหลังในแนวตั้งมาก เกิดความไม่มั่นคงของกระดูกขาหลัง ทำให้อาจใช้เวลาได้ตั้งแต่ 10 วัน จนถึงหลาย ๆ เดือน จึงจำเป็นที่จะต้องกายภาพอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะลงน้ำหนัก ลักษณะการเดินหรือนั่งไม่ปกติ หรืออาจจะใช้ขาไม่เต็มที่ตลอดชีวิตก็ได้ ด้วยเหตุที่ไม่มีข้อต่อในการรับน้ำหนักตัวเอง และกล้ามเนื้อไม่สามารถรับน้ำหนักตัวได้ กลไกลการรับน้ำหนักตัวของการเดินจะผิดปกติไปอย่างสิ้นเชิง
    • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก (Total Hip Replacement, THR) ถือได้ว่าเป็น วิธีผ่าตัดมาตรฐานที่ควรทำที่สุด เพื่อทำให้การเดินกลับมาเป็นปกติในปัจจุบัน ทำให้เกิดกลไกการเดิน วิ่ง และรับน้ำหนักตัวได้ตามธรรมชาติ เนื่องจากมีข้อต่อที่รับน้ำหนักตัวจากเชิงกราน อีกทั้งไม่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้นที่ข้อต่อส่วนนี้อีกต่อไป การลงน้ำหนักมักเกิดขึ้นในวันที่ 2-3 หลังผ่าตัด ในทางกลับกัน เมื่อมีผลลัพธ์ที่ดีแล้ว ก็ย่อมมีข้อเสียควบคู่กันไป เช่น ปัญหาการติดเชื้อจากการผ่าตัด เนื่องจากเหล็กดามจะมีที่ขนาดใหญ่ และมีบางส่วนที่เหมาะกับการสะสมของแบคทีเรีย การหลุดของหัวกระดูกเทียมออกจากเบ้ากระดูกเทียม เนื่องจากลักษณะการเดิน หรือการนอน หรือเทคนิคของผู้ผ่าตัดเอง การแตกหักของกระดูกหลังจากผ่าตัดไปในสัปดาห์แรก วิธีการนี้จึงต้องการการดูแลหลังผ่าตัดที่สูงมาก ควรจะต้องจำกัดบริเวณอย่างน้อยสองเดือน ซึ่งการผ่าตัดรอบ สอง หรือสาม จึงจำเป็นต้องเกิดขึ้นตามมาได้ในกรณีที่เกิดปัญหา จึงอาจจะไม่เหมาะกับสุนัขที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว เพราะไม่สามารถดูแลหลังผ่าตัดได้ ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่สูง
ภาพถ่ายรังสีหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกในท่า นอนหงายและนอนตะแคง ตามลำดับ (ภาพโดย น.สพ. บูรพงษ์ สุธีรัตน์)

โดยสรุปทั้งสองวิธีเป็นวิธีการผ่าตัดที่ดี โดยการพิจารณาเลือกวิธีต่าง ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของตัวสัตว์ ความพร้อมของเจ้าและความชำนาญสัตวแพทย์

บทความโดย

น.สพ. บูรพงษ์ สุธีรัตน์
Burapong, Sutherat, DVM
โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
Talingchan Pet Hospital

น.สพ. นรวร นาคทิพวรรณ
Norawron Naktippawan, DVM
โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
Talingchan Pet Hospital

อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ (อว.สพ. ศัลยศาสตร์)
Wannasit Chantornvong, DVM, MS, BVSc, DTBVS
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์
Parichart Suwinthawong Animal Hospital

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่