โรคลมชักในสุนัขและแมว (epilepsy)

โรคลมชักในสุนัขและแมว หรือ epilepsy เป็นโรคที่เกิดจากการที่มีคลื่นไฟฟ้าในสมองผิดปกติ หรืออาจเรียกได้ว่าเกิดไฟฟ้ารั่วในสมอง ทำให้เกิดอาการชัก (seizure) ให้เห็น โดยสามารถพบได้ทั้งในสุนัขและแมว

ซึ่งอาการ หรือ โรคลมชักในสุนัขและแมว อาจจะพบเห็นได้หลายแบบ ได้แก่ พบเพียงครั้งเดียวแล้วหายไป (isolated seizure) เกิดการชักซ้ำภายใน 24 ชั่วโมง (cluster seizure) หรือเกิดการชักต่อเนื่องไม่หยุด (status epilepticus) ซึ่งการชักต่อเนื่องไม่หยุดนี้ ถือเป็นภาวะฉุกเฉินต้องรีบแก้ไขและรีบพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์โดยด่วน จุดกำเนิดของไฟฟ้ารั่วหรือจุดลมชัก เรียกว่า seizure focus

ชนิดของอาการโรคลมชัก

1. การชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (Generalized epilepsy)

เป็นการชักที่เกิดขึ้นจากการที่มีการกระจายตัวของกระแสไฟฟ้าที่รั่วไปทั่วทั้งสมอง ทำให้สุนัขแสดงอาการแบบชักเกร็งกระตุกทั้งตัว อาจพบอาการเหยียดเกร็งแหงนคอ (รูปที่ 1) ร่วมกับอาการตะกรุยขาทั้ง 4 ข้าง อาจพบอาการน้ำลายไหล ปัสสาวะหรืออุจจาระราด รวมทั้งสามารถพบอาการร้องครางขณะชักร่วมด้วย บางครั้งจะพบอาการกัดลิ้นได้บ้างเช่นเดียวกับการชักในคน พบอาการได้ตั้งแต่เพียงแค่ไม่กี่วินาทีจนถึงหลายนาทีได้ การชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวจะพบการสูญเสียระดับความรู้สึกตัวร่วมด้วย บางครั้งสุนัขหรือแมวสามารถพบอาการก่อนจะมีอาการชักได้ เช่น เดินวน กระวนกระวาย ร้อง เดินตามเจ้าของ หรือมีพฤติกรรมที่แปลกไป โดยอาจเจออาการเหล่านี้ก่อนจะมีอาการชักเป็นวัน ชั่วโมง หรือนาทีได้ และเมื่อการชักหยุดอาจพบอาการมึนงง ตาบอดชั่วคราว เดินชน รวมทั้งอาการเดินเรื่อยเปื่อยภายหลังอาการชักได้

2. การชักเกร็งบางส่วน (Focal seizure)

เป็นการชักที่เกิดขึ้นจากการที่มีกระแสไฟฟ้าที่รั่วเพียงแค่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของสมองเท่านั้น ทำให้สุนัขหรือแมวมีอาการกระตุกเกร็งแค่เพียงกล้ามเนื้อบางส่วนของร่างกายเท่านั้น โดยอาการที่พบบ่อย เช่น การกระตุกของใบหน้า การกระตุกของขาข้างใดข้างหนึ่ง (รูปที่ 2) อาการงับอากาศ อาการเคี้ยวปาก เป็นต้น โดยการชักเกร็งบางส่วนจะพบว่าระดับความรู้สึกตัวยังเป็นปกติ อาจพบอาการเพียงแค่ไม่กี่วินาทีจนถึงหลายนาทีได้ ซึ่งการชักแบบนี้เป็นการชักที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงอาจจะสังเกตได้ยากกว่าการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว ซึ่งบ่อยครั้งที่การชักเกร็งบางส่วนถ้าไม่ได้รับการรักษาด้วยยาระงับชักจะสามารถพัฒนาไปเป็นการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวได้ในอนาคต

สาเหตุของการเกิดลมชัก

สาเหตุของการเกิดลมชักในสุนัขและแมวสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ

1. การเกิดลมชักจากพันธุกรรม

เป็นลมชักที่เกิดขึ้นจากการมีความผิดปกติของพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้เกิดเป็นจุดลมชักหรือจุดไฟฟ้ารั่วเกิดขึ้น โดยพบว่าโครงสร้างของสมองยังปกติ จะพบในสุนัขบางสายพันธุ์ที่มีรายงานไว้ เช่น

โดยการชักจากสาเหตุนี้ พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์ดังกล่าว ซึ่งช่วงอายุที่พบเจออาการนี้ได้จะอยู่ในช่วงอายุ 6 เดือน ถึง 6 ปี การวินิจฉัยการชักจากสาเหตุนี้ จะพบว่าผลการตรวจร่างกายทุกอย่างจะปกติ ทั้งผลการตรวจระบบประสาท ผลเลือด ผลการทำงานของอวัยวะภายใน ผลการสแกนสมองไม่ว่าจะเป็น MRI หรือ CT scan การตรวจน้ำไขสันหลัง พบว่าทุกอย่างจะให้ผลเป็นปกติ

2. การเกิดลมชักจากความผิดปกติของสมอง

เป็นการชักที่เกิดขึ้นจากโรคหรือความผิดปกติของโครงสร้างของสมองทำให้เกิดจุดลมชักหรือจุดไฟฟ้ารั่วจากตรงตำแหน่งของสมองที่มีความผิดปกติ เช่น

  • เนื้องอกในสมอง
  • โรคสมองอักเสบ
  • โรคหัวบาตร หรือโรคโพรงน้ำในสมองขนาดใหญ่
  • โรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์
  • ภาวะสมองกระทบกระเทือน
  • โรคสมองขาดเลือด

โดย ผลการตรวจระบบประสาทจะพบความผิดปกติให้เห็น ซึ่งจะต่างจากลมชักจากพันธุกรรมซึ่งให้ผลการตรวจระบบประสาทที่ปกติ การวินิจฉัยสาเหตุการชักจากความผิดปกติของสมองจะพบผลที่ผิดปกติขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นสาเหตุของการชักนั้นๆ เช่น การชักจากเนื้องอกในสมองจะพบว่าผลการสแกนสมองแบบ MRI หรือ CT scan จะพบก้อนเนื้องอกในสมอง (รูปที่ 3), การชักจากภาวะสมองอักเสบจะพบว่าผลการตรวจน้ำไขสันหลังผิดปกติ เป็นต้น โดยช่วงอายุและสายพันธุ์จะแปรไปตามโรคสาเหตุของการชักนั้นๆ เช่น การชักจากโรคหัวบาตรหรือโรคโพรงน้ำในสมองขนาดใหญ่มักพบในสุนัขหรือแมวที่มีอายุน้อย การชักจากโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์มักพบในสุนัขหรือแมวที่มีอายุมาก เป็นต้น โดยจะพบอาการผิดปกติของระบบประสาทที่นอกเหนือจากอาการชัก เช่น เดินวน เบลอ งง ตาบอด นิสัยเปลี่ยน อัมพฤกษ์หรืออัมพาต เป็นต้น

3.การเกิดลมชักจากโรคหรือความผิดปกติจากภายนอกสมอง

การชักจากโรคหรือความผิดปกติจากภายนอกสมองเป็นการชักที่เกิดขึ้นจากความผิดปกตินอกสมองแต่ส่งผลทำให้เกิดจุดลมชักหรือไฟฟ้ารั่วในสมองตามมา หรือการได้รับสารที่เป็นพิษต่อสมองจากการกำจัดสารเหล่านั้นออกนอกร่างกายไม่ได้ เช่น

  • การเกิดภาวะตับวาย
  • การเกิดภาวะไตวาย
  • การเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • การเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำจากการให้นมลูก
  • การได้รับสารพิษจากยาฆ่าแมลงกลุ่ม organophosphate

โดยการเกิดลมชักจากสาเหตุนี้จะพบว่าการทำงานของสมองจะยังคงปกติ แต่จะตรวจพบผลการตรวจเลือดหรือปัสสาวะผิดปกติหรืออาการอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาการระบบประสาท เช่น อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด ซีดหรือดีซ่าน เป็นต้น รวมทั้งประวัติการได้รับสารพิษดังกล่าวข้างต้น ส่วนช่วงอายุและสายพันธุ์ขึ้นอยู่กับโรคนั้นๆ ที่ทำให้เกิดอาการชัก

4.การเกิดลมชักที่ยังไม่ทราบสาเหตุ

การชักที่ยังไม่ทราบสาเหตุนี้สามารถพบได้ในกรณีต่าง ๆ เช่น

  • การเกิดลมชักในสายพันธุ์สุนัขที่ยังไม่มีรายงานถึงการเกิดลมชักจากพันธุกรรม ซึ่งความผิดปกติทางพันธุกรรมนั้นยังไม่มีการศึกษายืนยันอย่างชัดเจน
  • การชักในสุนัขที่มีโรคในสมองแต่ผลการตรวจระบบประสาทยังพบว่าปกติและยังไม่ได้รับการวินิจฉัยด้วยการสแกนสมองด้วย MRI หรือ CT-scan รวมทั้งการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง
  • การชักในสุนัขที่ยังไม่มีผลการยืนยันโรคชัดเจน เช่น ยังไม่ได้ตรวจเลือดเพื่อตรวจหาความผิดปกติของการทำงานของอวัยวะภายใน เป็นต้น

เมื่อใดที่ควรเริ่มการรักษาด้วยการให้ยาระงับชัก

ข้อพิจารณาของการเริ่มให้ยาระงับชักแบบกินต่อเนื่อง สัตวแพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
1. ได้รับการวินิจฉัยว่าเกิดความผิดปกติของสมอง เช่น มีอาการชักร่วมกับผลการตรวจระบบประสาทที่ผิดปกติ, ผลการตรวจด้วยวิธี MRI หรือ CT-scan สมองพบความผิดปกติ, ผลน้ำไขสันหลังผิดปกติ, มีประวัติได้รับการกระทบกระเทือนสมอง เป็นต้น
2. เกิดการชักแบบต่อเนื่องไม่หยุด อาจต่อเนื่องยาวนานถึง 5-20 นาที โดยไม่มีระยะพักของการชัก นอกจากนี้ยังรวมทั้งการชักซ้ำภายใน 24 ชั่วโมงอีกด้วย
3. พบการชักซ้ำภายใน 4-6 สัปดาห์
4. พบอาการหลังชักรุนแรงและยาวนานผิดปกติ
หากพบการชัก 1 ใน 4 ข้อพิจารณานี้ สัตวแพทย์จะเริ่มให้ยาระงับชักแบบกินต่อเนื่องเพื่อควบคุมอาการชักต่อไป

การรักษาอาการชัก

จุดประสงค์ของการรักษาอาการชักนั้น เพื่อลดความถี่ของการชักและป้องกันไม่ให้เกิดการชักแบบต่อเนื่องจนทำให้สุนัขหรือแมวเสียชีวิต โดยความถี่ในการชักที่สามารถยอมรับได้คือ ระยะเวลาการชักแต่ละครั้งต้องมีความถี่ห่างกันมากกว่า 3 เดือน หากพบอาการชักถี่กว่านั้นอาจต้องมีการปรับยา หรือ เพิ่มยาระงับชักชนิดอื่นกินควบคู่กันไปด้วย ยาระงับชักแต่ละชนิดมีการใช้แตกต่างกันไป อาจต้องมีการตรวจเลือดเพื่อดูระดับยาในเลือดและค่าเลือดต่าง ๆ เช่น เอนไซม์ตับ เป็นต้น เพื่อติดตามดูความเป็นพิษของยาระงับชักต่อร่างกายสัตว์ด้วย
หากยังพบอาการชักอยู่แม้ว่าจะให้ยาระงับชักกินต่อเนื่องแล้ว ควรพิจารณาดังต่อไปนี้
1. เจ้าของสัตว์เลี้ยงได้ป้อนยาระงับชักตรงตามเวลาหรือไม่ ยาระงับบางชนิดต้องได้รับทุก 12 ชั่วโมง บางชนิดทุก 8 ชั่วโมง จำเป็นต้องได้รับยาให้ตรงตามเวลา เพื่อประสิทธิภาพในการควบคุมการชักที่ดี
2. สัตว์เลี้ยงได้กินยาระงับชักหรือไม่ บางครั้งสัตว์เลี้ยงอาจไม่ยอมกินยา ป้อนยายาก หรือต้องบดยาผสมน้ำหรืออาหาร ทำให้ปริมาณยาที่ได้ไม่เพียงพอต่อการคุมอาการชัก บางครั้งเมื่อป้อนยาสัตว์เลี้ยงได้แล้วแต่มีการแอบอมยาหรือคายยาทิ้งในภายหลังได้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องคอยสังเกตพฤติกรรมหลังป้อนยาอย่างใกล้ชิด
3. การเกิดลมชักแบบดื้อยา สามารถพบได้ในกรณีที่จุดลมชักหรือจุดที่ไฟฟ้ารั่วในสมองควบคุมได้ยาก อาจจำเป็นต้องใช้ยาระงับชักมากกว่า 1 ชนิด หรือบางครั้งอาจต้องใช้ถึง 3-4 ชนิด เพื่อควบคุมอาการชักร่วมกัน
หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงพบอาการชักหรือสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงมีอาการชัก ให้นำไปพบสัตวแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงที ป้องกันไม่ให้พัฒนาไปเป็นการชักแบบต่อเนื่องเพราะสัตว์เลี้ยงอาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้หากสามารถถ่ายภาพเคลื่อนไหวขณะที่สัตว์เลี้ยงมีอาการชักทั้งการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวหรือการชักบางส่วน จะเป็นข้อมูลที่ดีในการประกอบการวินิจฉัยของสัตวแพทย์ได้

บทความโดย

ผศ.น.สพ.ดร.นิรุตติ์ สุวรรณา (อว.สพ.อายุรศาสตร์)
Asst. Prof. Nirut Suwanna, DVM, MS, PhD, DTBVM
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Department of Companion Animal Clinical Science, Faculty of Veterinary Medicine, Kasetsart University

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่