บ้านเหล็กในป่าใหญ่

บ้านเหล็กสวยเท่ในแถบเขาใหญ่ที่เน้นการก่อสร้างได้รวดเร็ว การตกแต่งภายในเป็นไปอย่างเรียบง่าย จัดวางเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ไม้สอยแต่พอดีเน้นการใช้งานง่าย สะดวกสบาย ดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก และใช้งบประมาณอย่างประหยัด ที่สำคัญคืออยู่ร่วมกับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ด้วยความเข้าใจและอ่อนน้อม

เจ้าของ – ออกแบบ : คุณประภากร วทานยกุล

บ้านโครงสร้างเหล็ก

บ้านโครงสร้างเหล็ก
หลังคาโครงสร้างเหล็กยื่นยาวครอบคลุมตัวบ้านไว้ทั้งหมด ป้องกันแสงแดดได้ดี ในยามบ่ายหรือแม้แต่หยดน้ำค้างในยามค่ำลมธรรมชาติพัดผ่านช่องเปิดของอาคารพร้อมกับเสียงนกและแมลงที่คอยขับกล่อม เป็นบ้านที่ออกแบบเพื่อการอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติอย่างแท้จริง
บ้านโครงสร้างเหล็ก
ยกพื้นอาคารสูงจากระดับดิน ผนังโดยรอบเป็นบานเปิดขนาดใหญ่ ชายคาเหล็กที่ยื่นยาว ล้วนเป็นแนวคิดของบ้านไทยที่ปรับรูปลักษณ์ให้ดูทันสมัยด้วยการใช้วัสดุอย่างเหล็กและกระจก

ห้องรับประทานอาหาร

“คนรู้จักหลายคนเคยชวนผมมาซื้อที่ปลูกบ้านที่นี่  แต่ผมไม่เคยเชื่อ  จนได้มาสัมผัสบรรยากาศด้วยตัวเองและได้พบที่ดินผืนนี้ซึ่งอยู่ในฝั่งที่ผู้คนและความเจริญยังคืบคลานเข้ามาไม่ถึง  ผมจึงตัดสินใจซื้อที่และสร้างบ้านหลังนี้ทันที  ก่อนที่ธรรมชาติและความสวยงามของเขาใหญ่จะค่อยๆ จืดจางไป” 

พี่เล็ก-คุณประภากร  วทานยกุล  สถาปนิกรุ่นพี่มากฝีมือ  กรรมการผู้จัดการบริษัทสถาปนิก 49  จำกัด  และอดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์  ผู้เป็นเจ้าของ “บ้านสวนสงบ  เขาใหญ่” หลังนี้  เล่าถึงความเป็นมาให้ฟังด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขจนผมสัมผัสได้

เลยทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไปสักระยะผ่านวิถีชีวิตชนบทไปตามถนนลูกรังขนาดเล็กอันคดเคี้ยวซึ่งสองฝั่งขนาบด้วยไร่อ้อยและมันสำปะหลังสูงท่วมศีรษะ  ภาพ บ้านโครงสร้างเหล็ก ชั้นเดียวสีเทาดำที่วางตัวขนานไปกับทิวเขาเบื้องหลังอย่างสงบนิ่งก็ค่อยๆ ปรากฏสู่สายตาของพวกเรา
พี่เล็กพยายามออกแบบตัวบ้านบนที่ดินกว่า9 ไร่  โดยคงสภาพแวดล้อมเดิมให้มากที่สุด  และการก่อสร้างต้องไม่มีผลกระทบต่อธรรมชาติ  ผมเดินเข้าไปใกล้ตัวบ้านซึ่งออกแบบด้วยรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า  โครงสร้างหลักเป็นเหล็กทั้งหมด  ยกพื้นสูงจากระดับดิน 1.20 เมตร  เพื่อป้องกันความชื้นและระบายอากาศได้ดี  ผนังอาคารเป็นบานกระจกขนาดใหญ่ที่เปิดรับลมธรรมชาติได้รอบทิศทางหลังคาเหล็กยื่นยาว 3.50 เมตร  ป้องกันตัวอาคารโดยรอบจากแสงแดด  ทั้งหมดนี้เป็นการออกแบบที่เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนชื้นอย่างประเทศไทย
ภายในออกแบบเป็นโถงโล่งด้วยเพดานสูง 5 เมตรวางพื้นที่ใช้งานในลักษณะ Open Plan ต่อเนื่องกันหมด  ตั้งแต่ส่วนนั่งเล่นด้านใน  ส่วนเตรียมอาหาร  ส่วนรับประทานอาหาร  ไปจนถึงส่วนอเนกประสงค์  ซึ่งติดกับสระว่ายน้ำด้านนอกมีเพียงห้องนอนและห้องน้ำเท่านั้นที่กั้นผนังเป็นสัดส่วนชัดเจน

ชานไม้ สระว่ายน้ำ
พี่เล็กซื้อไม้เต็งเก่าแผ่นใหญ่ซึ่งคงทนแข็งแรงมากมาจากอำเภอทองผาภูมิ นำมาใช้กับส่วนระเบียงภายนอก นอกจากนี้ยังเพิ่มลูกเล่นให้สระว่ายน้ำด้วยการปูกระเบื้องเคลือบสีเทาดำคละลายจัดวางสลับสับเปลี่ยนให้ดูน่าสนใจ

การก่อสร้างที่รวดเร็ว  การตกแต่งภายในอย่างเรียบง่าย  จัดวางเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ไม้สอยแต่พอดี  เน้นการใช้งานง่าย  สะดวกสบาย  ดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก  และใช้งบประมาณอย่างประหยัดถือเป็นโจทย์สำคัญในการออกแบบบ้านหลังนี้รายละเอียดน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ  การนำวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่มาใช้ร่วมกับเหล็ก  เพื่อปรับให้อารมณ์และความรู้สึกซึ่งแข็งกระด้างดูนุ่มนวลขึ้นเป็นการประสานวัสดุสองขั้วให้รวมเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างลงตัว

ทุกสัปดาห์หลังจากเสร็จสิ้นการทำงานในวันศุกร์พี่เล็กจะรีบขับรถกลับมาบ้านหลังนี้ทันที เพราะรักในความเงียบสงบของที่นี่ซึ่งอยู่ห่างไกลจากถนนใหญ่เสียงรถราจอแจ และความศิวิไลซ์ทุกรูปแบบ

“ตั้งใจจะมาอยู่ที่นี่ในวัยเกษียณ  เพราะทุกวินาทีที่ใช้กับบ้านหลังนี้คือความสุขที่เราต้องรีบตักตวง เป็นเหมือนแบตเตอรี่ก้อนใหญ่ของชีวิตก็ว่าได้ 
“การมาอยู่ที่เขาใหญ่  เราต้องเข้าใจว่าเรามาขออาศัยอยู่กับธรรมชาติ  ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ทุกต้นสัตว์ป่าน้อยใหญ่ทุกตัว  ล้วนเป็นเสมือนเจ้าบ้านเขาอยู่มาก่อนเรา  เราผู้มาใหม่ต้องไม่ไปเปลี่ยนแปลงของเขาเสียหมด  ทำเท่าที่จำเป็น  มนุษย์ชอบเปลี่ยนแปลงธรรมชาติตามใจตัวเอง  ถ้าไม่เคารพเจ้าบ้านก็ไม่ควรมาอยู่ที่นี่”

ห้องนั่งเล่น
แสงแดดยามบ่ายสาดส่องผ่านมู่ลี่ไม้เกิดแสงเงาตกกระทบภายในส่วนนั่งเล่นซึ่งจัดวางเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งอย่างเรียบง่าย
ห้องนอน
เพิ่มความสดชื่นให้ห้องนอนสีขรึม (เทาและดำ) ด้วยการแซมสีเขียวที่ทำให้ห้องดูสวยลงตัวยิ่งขึ้น
ห้องน้ำสีดำ
ห้องน้ำคืออีกไฮไลต์หนึ่งของบ้าน พี่เล็กนำกระเบื้องสีดำราคาตารางเมตรละไม่กี่ร้อยบาทมาใช้ร่วมกับอ่างอาบน้ำไม้จริงขนาดใหญ่สั่งทำพิเศษ แสงแดดที่ผ่านม่านไม้ไผ่เข้ามาจากส่วนอาบน้ำเอ๊าต์ดอร์ ทำให้ Mood & Tone ของพื้นที่นี้ดูมีเสน่ห์มาก

บ้านกลางป่า
บ้านโครงสร้างเหล็ก หลังนี้จึงเป็นต้นแบบ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” ของมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ด้วยความเข้าใจ ด้วยความเคารพ อย่างน้อยที่สุดการไม่เปลี่ยนแปลงหรือทำลายก็เป็นสิ่งที่พวกเราพึงกระทำ ผมเดินทางกลับด้วยความอิ่มใจและมีความสุขอย่างบอกไม่ถูก รู้สึกเหมือนได้ชาร์จแบตเตอรี่ให้ตัวเองด้วย นับเป็นความประทับใจที่ยากจะลืมเลือน จนผมเริ่มอยากมีบ้านแบบนี้เป็นของตัวเองสักหลังแล้วสิครับ


เรื่อง : ศุภชาติ บุญแต่ง
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล

ผู้ช่วยช่างภาพ : อานนท์ ตรีปฐมวงศ์ยศ

สไตล์: ภควดีพะหุโล

บ้านโครงเหล็ก สไตล์โรงนาฝรั่งของสายเอ๊าดอร์

10 บ้านโชว์โครงเหล็ก เรียบง่ายได้อย่างเท่