หลังจากที่ได้เคยแนะนำวิธีการเลือกซื้อปลั๊กพ่วงที่มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัยไร้กังวลกันไปแล้ว ก็มีการถามไถ่กันเข้ามาอย่างต่อเนื่องว่า ปลั๊กแปลงขา หรือ Adapter นั้น มีวิธีเลือกเหมือนกับปลั๊กพ่วงไหม แล้วปลั๊กจะละลายเหมือนที่เห็นในทีวีหรือเปล่า ฯลฯ ถ้าตอบง่ายๆ ต้องบอกว่า ปัจจุบัน ปลั๊กแปลงขา เป็นอุปกรณ์เสริมทางไฟฟ้าที่ยังไม่มีมาตรฐาน มอก. ควบคุม ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ปลั๊กแปลงขาที่จำหน่ายในบ้านเรายังไม่มีมาตรฐานควบคุมเหมือนกับปลั๊กพ่วงที่มีเครื่องหมาย มอก.2432-2555 ที่เป็นตัวบอกได้ว่ารางปลั๊กพ่วงนั้นผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว
แต่อย่าพึ่งสิ้นหวังหรือหมดกำลังใจ เพราะทุกปัญหามีทางออกเสมอ ถ้าเรามีความจำเป็นจริงๆ เพราะต้องใช้ ปลั๊กแปลงขา เพื่อแปลงเต้ารับเดิมจาก 2 ขา เป็น 3 ขา หรือเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ วันนี้ผมได้รวบรวมเคล็ดไม่ลับในการเลือกซื้อปลั๊กแปลงขา ที่ไม่ใช่มีดีแค่ใช้กับเต้าเสียบได้หลายประเภทเท่านั้น แต่สามารถบอกได้ว่าปลั๊กแปลงขาที่มีคุณภาพนั้นควรเป็นอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง กระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินมาฝากกันครับ
1.หัวปลั๊กแปลง ใช้แปลงขา..ไม่ใช่แปลงแรงดันไฟฟ้า
หัวปลั๊กแปลง มีหลากหลายรูปแบบ เช่น “หัวเดียว”เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการแปลงขาปลั๊กไฟ (กลมหรือแบน) แบบใดแบบหนึ่ง หรือ “ชุดหลายหัว” ที่มีหัวปลั๊กแปลงหลายรูปแบบอยู่ในตัวเดียวกัน เหมาะสำหรับผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศอยู่เป็นประจำ ทั้งประเทศในแถบเอเชียหรือยุโรป และพึงระลึกอยู่เสมอว่าหัวปลั๊กแปลง มีไว้เพื่อแปลงรูปแบบของขาปลั๊กเท่านั้น ไม่ใช่ตัวแปลงแรงดันไฟฟ้า อย่าเข้าใจผิดเด็ดขาด!
2.วัสดุ..ต้องทนความร้อนและไม่ติดไฟง่าย
วัสดุที่ใช้ทำปลั๊กแปลงขา ควรทำจากวัสดุคุณภาพสูง มีคุณสมบัติไม่ลามไฟ เช่น พลาสติก ABS หรือพอลิคาร์บอเนต (PC) ซึ่งทนความร้อนและแรงกระแทกได้ดีกว่าพลาสติก PVC ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเพลิงไหม้ กรณีเกิดความร้อนสูง ขณะใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น ใช้กับหม้อทอดไร้น้ำมัน หรือหม้ออบลมร้อนที่กินไฟมาก
3.ขาเต้ารับ..ควรทำจากทองเหลือง/ทองแดง
ขาเต้ารับซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงจรภายในหัวปลั๊ก ควรทำจากทองเหลืองหรือทองแดง เพราะนำไฟฟ้าได้ดีกว่าเหล็กชุบสีหรือโลหะอื่นๆ ไม่ทำให้เกิดความร้อนสะสม จึงช่วยลดปัญหาปลั๊กละลายหรือไหม้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ส่วนบ้านที่มีเด็กเล็ก อาจใช้รุ่นที่มีม่านนิรภัย (Safety Shutter) เพื่อป้องกันเด็กเอานิ้วมือแหย่รู
4.หัวปลั๊ก..ขากลมหรือขาแบน
หลายท่านอาจไม่ซีเรียส เพราะคิดว่าถ้าเสียบหัวปลั๊กเข้ากับเต้ารับ แล้วใช้งานได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ความเป็นจริงแล้ว ถ้าเสียบเต้ารับไม่แน่น อาจมีความร้อนเกิดขึ้นได้ ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกเต้าเสียบหรือหัวปลั๊กขากลมแทนขาแบน เพราะเป็นมาตรฐาน มอก. ของประเทศไทย บางรุ่นมีฉนวนหุ้มที่โคนขาปลั๊กทั้ง 2 ขา เพื่อป้องกันนิ้วไม่ให้สัมผัสขาปลั๊กโดยไม่ตั้งใจ
5.อย่างมองข้าม..ตัวเลขที่ระบุบนหัวปลั๊กแปลง
หัวปลั๊กแปลงที่ดีต้องบอกพิกัดไฟสูงสุดที่สามารถรองรับได้ เช่น 250V 10A 2000W หมายความว่า รองรับแรงดันไฟฟ้าสูงสุด 250 โวล์ต ทนกระแสไฟได้สูงสุด 10 แอมแปร์ และรองรับกำลังไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 2000 วัตต์ อาจเลือกรุ่นที่มีระบบฟิวส์ที่ช่วยตัดกระแสไฟฟ้าเกิน หรือมีสวิตช์ไฟเปิด-ปิด แสดงสถานะการทำงาน เพื่อป้องกันไฟกระชากจากการถอดหัวปลั๊กแปลงออกจากเต้ารับ นอกจากนี้หัวปลั๊กแปลงรุ่นใหม่ๆ อาจมีช่องเสียบ USB เพิ่มมา สำหรับใช้ชาร์จอุปกรณ์มือถือ แท็บเล็ต ฯลฯ
ความแตกต่างระหว่าง หัวปลั๊กแปลงทั่วไป vs หัวปลั๊กแปลงคุณภาพ
หัวปลั๊กแปลงทั่วไป
วัสดุ : ทำจากพลาสติกคุณภาพต่ำ
ขาเต้ารับ : ทำจากเหล็กชุบสีหรือโลหะอื่นๆ
หัวปลั๊กแปลงคุณภาพ
วัสดุ : ทำจากพลาสติก ABS หรือพอลิคาร์บอเนต (PC)
ขาเต้ารับ : ทำจากทองเหลืองหรือทองแดงนำไฟฟ้าได้ดี
อย่างไรก็ดี หัวปลั๊กแปลง ที่มีแบรนด์น่าเชื่อถือ ราคาสินค้าก็ย่อมสูงตามไปด้วย อาจเป็นดัชนีบ่งบอกถึงคุณภาพสินค้าได้ง่ายๆ วิธีหนึ่ง และจากที่กล่าวมานี้ แม้ว่า หัวปลั๊กแปลง ของเราจะเทพขนาดไหนก็ไร้ผล ถ้าที่บ้านไม่มีระบบสายดิน
เรื่อง : พจน์ ผลิตภัณฑ์
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
ปลั๊กพ่วง ปลั๊กไฟ…เลือกอย่างไรดี
ขาของตัวเสียบปลั๊กไฟที่ได้มาตรฐาน กลม หรือ แบน?
ปลั๊กไฟ แบบ 2 รูเสียบสามารถปรับเป็นแบบมีสายดินได้หรือไม่