บ้านไม้ แบบไทยๆ กลิ่นอายโมเดิร์นของ ป๊อด ธนชัย อุชชิน ( ป๊อด โมเดิร์นด็อก )

บ้านไม้ สไตล์ไทยโมเดิร์นของ ป๊อด โมเดิร์นด็อก ศิลปินคนดัง ที่ปลีกตัวมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในช่วงวันธรรมดากับคุณแม่ พร้อมทำงานศิลปะท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นธรรมชาติของเขาใหญ่ ภายในบ้านที่ออกแบบให้เปิดโล่ง สามารถรับลมได้ดี จึงอยู่อาศัยได้อย่างสบายกายและใจ

สถาปนิก: Erix Design Concepts โดยคุณณัฐภาคย์ พัฒนาพรหมชัย  /  เจ้าของ: คุณธนชัย อุชชิน บ้

านไม้แบบไทยๆ

“ไม่คิดว่าเราจะมานั่งอาบแสงจันทร์ตรงระเบียงตอนตีสองได้ เราออกมาเจอธรรมชาติเพียงแค่เราเปิดประตู”  พี่ป๊อด หรือคุณธนชัย อุชชิน แห่งวงโมเดิร์นด็อก กล่าวถึงบ้านไม้อันเป็นที่พักส่วนตัวของเขาและคุณแม่ที่เขาใหญ่

จากกรุงเทพฯ ราวสองชั่วโมงเศษ บ้านไม้แบบไทยๆ หลังนี้เป็นที่พักอาศัยของป๊อด โมเดิร์นด็อก ศิลปินนักร้องที่ทุกคนยอมรับ บ้านและสวน ได้คุยกับพี่ป๊อดถึงการใช้เวลา ณ บ้านต่างจังหวัดหลังนี้  ทั้งเรื่องครอบครัวกับงานศิลปะในด้านที่ยังไม่เคยมีใครคุย กับบรรยากาศที่โอบล้อมไปด้วยแสงแดด สายลม และเม็ดฝนโปรยปราย ในสเปซสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นทรอปิคัล

โครงสร้างตัวบ้านเมื่อมองจากด้านนอกซึ่งทอดตัวไปสัมผัสสนามหญ้า ไร่อ้อย ทิวป่า และภูเขา ยามหมอกค่อยๆ เคลื่อนตัวผ่าน
ทางเข้า
ทางเข้าบ้านเปิดช่องเป็นบานประตูไม้ใหญ่ มีหลังคายื่นยาวออกมาบังแดดและฝนให้ชานบันได รับกับต้นไม้ใหญ่ดูร่มรื่น
อีกมุมของทางเข้า คุมโทนสีเทาเข้มด้วยองค์ประกอบจากทั้งผนังทาสี หินที่ก่อ หินประดับ และกรวดโรยพื้น
ประตูไม้
มุมประตูหน้าบ้านมีสตูลที่เป็นดีไซน์ไอคอน Butterfly Stool ออกแบบโดย Sori Yanagi ในปี 1954 ผลิตโดย Vitra แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวิส ด้านซ้ายเป็นห้องนอนของบ้าน

“ผมรู้สึกว่าชีวิตในวัยนี้มันเริ่มเป็นวัยที่ควรจะค่อยๆ เอาออกในทุกด้านในทุกมิติของชีวิต ทั้งทางกายภาพและการงาน คืออยากจะลดความซับซ้อนลง”

บ้านหลังนี้จึงมีความเรียบง่าย ลดทอนสิ่งต่างๆ เสมือนเป็นลานโล่งซึ่งอยู่กับธรรมชาติรายรอบอย่างเป็นมิตร จนพี่ป๊อดเปรียบว่าคล้ายศาลาวัด โดยเริ่มต้นจากภาพร่างที่มีในหัวก่อน แล้วนำไปปรึกษา คุณติ้ว – ณัฐภาคย์ พัฒนาพรหมชัย สถาปนิกแห่ง Erix Design Concepts ออกแบบมาเป็นบ้านไม้หลังคาจั่ว พร้อมระเบียงรอบด้านที่มีความเป็นพื้นถิ่นแบบตรงไปตรงมา รับลมได้ดี เพราะอยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง เป็นบ้านไทยในเส้นสายแบบมินิมัล ซึ่งถูกใจผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก

พี่ป๊อดเริ่มใช้บ้านหลังนี้เต็มที่ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา และปัจจุบันเริ่มอยู่บ้านหลังนี้ในช่วงวันธรรมดา ส่วนศุกร์เสาร์อาทิตย์จะมาอยู่บ้านที่กรุงเทพฯ “น่าแปลกใจมากว่าเมื่อตอนอยู่ที่นี่ เวลาจะเหลือเยอะมาก เราตื่นเร็วขึ้นด้วยนะ ด้วยบรรยากาศ ตื่นขึ้นมาก็จะวิ่งรอบโครงการ 3 กิโล แล้วก็นั่งอ่านหนังสือ ฟังเพลง ทำเพลงที่นี่ด้วย เพราะสมัยนี้สามารถทำเพลงกับเพื่อนที่กรุงเทพฯผ่าน Zoom ได้ มิกซ์กันที่นี่หลายเพลงมาก เอ็นจิเนียร์ยังบอกเลยว่า เวลาอยู่ที่นี่พี่ป๊อดดูมีเอนเนอร์จี้มากกว่าที่กรุงเทพนะ” (หัวเราะ) พี่ป๊อดยังตั้งชื่อบ้านหลังนี้ว่า “วิลล่าสติ” เพื่อย้ำถึงการอยู่อย่างมีสติ  โดยระเบียงยาวนอกจากจะเอาไว้นั่งเล่นแล้ว ยังใช้เป็นพื้นที่ในการเดินจงกรมอีกด้วย

ภายในบ้านเห็นโครงไม้ของหลังคาอย่างชัดเจน เสา คาน จันทัน คอยสร้างมิติให้กับบ้านเป็นระยะ สะท้อนความเป็นบ้านไม้แบบไทยๆ
การใช้ชีวิตในวิลล่าสติหลังนี้ดูสงบ มีความสุข และเรียบง่าย ท่ามกลางธรรมชาติและสเปซของงานสถาปัตยกรรม
หลังคาจั่ว ระเบียง เสาไม้ กระจกโปร่ง ระเบียงยาว ที่ออกแบบอย่างเรียบง่าย ลงตัวกับธรรมชาติที่รายรอบ ทำให้บ้านนี้มีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
ระเบียงและผนังที่กรุกระจกรอบด้าน มีหลังคาขนาดใหญ่ช่วยกันความร้อน ทำให้ใช้ชีวิตที่ระเบียงนี้ได้อย่างสบาย
กระจกช่วยสะท้อนบรรยากาศสีเขียวให้โครงสร้างของบ้านกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ในภาพจะเห็นจันทันเผยตัวออกมาอย่างชัดเจน / สนใจเรื่องการอ่านแบบบ้านให้เป็น คลิกบทความการอ่านแบบบ้านนี้ได้
ระเบียงด้านตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านเป็นจุดรับลมที่พัดเข้าสู่ตัวบ้านเป็นหลัก มีลานกลางแจ้งไว้ใช้งาน พร้อมกับชมวิวไร่อ้อยที่อยู่ติดกัน

ผู้ใช้งานหลักในบ้านหลังนี้ยังมีอีกหนึ่งท่านที่มีความสำคัญยิ่ง นั่นคือคุณแม่ โดยพี่ป๊อดจะรับคุณแม่มาพักด้วยกันเสมอ และบ้านหลังนี้ก็เป็นเหมือนสตูดิโอศิลปะของคุณแม่ที่กำลังเริ่มสร้างสรรค์งานในวัย 80 ปี จริงๆ แล้วพี่ป๊อดเคยลองใช้บ้านหลังนี้ทำงานศิลปะ แต่คิดว่างานศิลปะสไตล์เขาน่าจะไปสร้างเรือนเล็กๆ อีกหลังในพื้นที่สนามทำงานน่าจะดีกว่า ตอนนี้เลยใช้บ้านหลังนี้สอนคุณแม่ให้วาดรูปด้วย

บทสนทนาและรอยยิ้มน่ารักๆของพี่ป๊อดกับคุณแม่
มุมรับประทานอาหารขนาดเล็กจัดวางเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวอย่างเรียบง่าย ตู้ใส่ของเป็นระบบโมดูลาร์จากแบรนด์ USM ที่ต่อขยายได้ตามต้องการ
ภาพสเก็ตซ์ต่างๆ ที่คุณแม่พี่ป๊อดวาด ในภาพเป็นภาพที่คุณแม่ลองวาดภาพพี่ป๊อดเอง
พื้นที่เชื่อมต่อระหว่างห้องครัวกับลานห้องนั่งเล่นเป็นมุมรับประทานอาหาร ด้านซ้ายเป็นตู้ใส่ของทำหน้าบานเป็นไม้สีดำ ด้านหลังมีงานศิลปะแนวแอ็บสแตร็กท์ผลงาน Tae Pavit จากงาน Hotel Art Fair แขวนอยู่บนผนัง
บรรยากาศภายในห้องนั่งเล่นเป็นลานอเนกประสงค์ เห็นหน้าจั่วของบ้านชัดเจน รับกับวิวไร่สีเขียวด้านหน้า บันไดทอดตัวไปสู่ชั้นลอยใต้หลังคา
งานศิลปะประดับบ้าน
ผนังด้านหนึ่งของบ้านตีเกล็ดไม้แบบที่เราคุ้นเคยในบ้านไทย ทำบันไดโปร่งเพื่อให้อากาศไหลเวียนได้ดีและดูโล่ง ภาพที่ใส่กรอบเป็นภาพวาดของคุณแม่พี่ป๊อดที่เริ่มสร้างสรรค์งานศิลปะออกมา
ชั้นลอยที่ให้ความรู้สึกถึงความเป็นบ้านด้วยโครงสร้างไม้ใต้หลังคา ซึ่งบางครั้งพี่ป๊อดใช้เป็นที่นอนด้วย
ฝนตกแรงที่ลานนอกบ้าน สังเกตว่าน้ำจากหลังคาจะไหลตกอยู่นอกระยะระเบียง
ตัวบ้านเป็นเรือนไม้ที่มีโครงเรียบง่ายชัดเจน เส้นกรอบบานประตูถูกคิดและวางให้ตรงกับดั้งรอง (ตุ๊กตาตามภาษาช่างไม้) และดั้ง ทั้งยามเปิดและปิดประตู ช่วยให้บ้านดูสละสลวย รับกันในสัดส่วนที่ลงตัว / เรียนรู้บ้านไทยภาคต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ แบบเรื่อนไทย 4 ภาค
พี่ป๊อดแอบถ่ายรูปคุณแม่ ยามเดินเล่นที่ระเบียง

เราใช้วิชาครุศาสตร์ที่เรียนมา เริ่มซื้อสี ซื้อกระดาษ แล้วผลักดันให้แม่วาด ซื้อหนังสือศิลปะสวยๆ เนื้อหาดีๆ ของ Yayoi Kusama อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ และอาจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก เริ่มให้ input แม่เรา จนตอนนี้แม่ผลิตงานออกมามากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราภูมิใจมาก ทำให้เราเริ่มเข้าใจว่า ทำไมชะตาชีวิตถึงส่งให้เราไปเรียนครุศาสตร์ เพราะว่าเราทำให้แม่มีกิจกรรมทำตอนสูงวัย” (หัวเราะ)

พี่ป๊อดกล่าวถึงเรื่องการผลักดันการสร้างงานศิลป์ของคุณแม่อย่างน่ารัก งานศิลปะที่คุณแม่พี่ป๊อดวาดออกมานั้นเป็นการวาดตามความรู้สึก เป็นการสร้างสรรค์งานด้วยความรู้สึกบริสุทธิ์ เจือไปด้วยจินตนาการ นับเป็นการก้าวข้ามครั้งสำคัญ จากคนที่ไม่เคยทำงานศิลปะมาก่อน จนกลายเป็นความสนุกที่ได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ ภายในบ้านหลังนี้

หลังฝนพรำ ผู้อยู่อาศัยสามารถรับอากาศสดชื่นได้ที่ระเบียงรอบด้านของบ้าน จากรอยน้ำบนพื้นสังเกตได้ว่าระยะฝนสาดเข้ามาด้านหลังเสามีน้อยมาก สอดรับกับการออกแบบบ้านที่เหมาะกับภูมิอากาศของไทย

พี่ป๊อดกำลังหยอกล้อคุณแม่อย่างน่ารัก

ด้านรายละเอียดการออกแบบ คุณติ้ว สถาปนิก กล่าวถึงการมีระเบียงอยู่รอบบ้านว่า เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งสามารถชมวิวได้จากทุกด้าน ตัวบ้านยื่นไปรับลม ช่องเปิดขนาดใหญ่ช่วยให้เกิดการไหลเวียนอากาศที่ดี จนไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ ทำชายคาที่ยื่นยาวออกมาจากระเบียงเพื่อการป้องกันแดดที่ดี ทั้งยังกันฝนไม่ให้น้ำจากหลังคาหยดมายังระเบียง มีการตัดทอนเอาเชิงชายของหลังคาออกไป โชว์ให้เห็นโครงสร้างจันทันอย่างสวยงาม ด้านบนปูกระเบื้องหม่อมแบบโบราณที่สั่งสีมาพิเศษ และเพื่อป้องกันการรั่วซึม ด้านในจึงปูด้วยซีเมนต์บอร์ดพร้อมทากันซึมอีกชั้น ช่วยไม่ให้น้ำหยดหากกระเบื้องมีการชำรุด

ภาพแห่งความสุขริมระเบียงของเจ้าของบ้านในวิลล่าสติ บ้านไม้แบบไทยๆ ที่เรียบน้อยสไตล์โมเดิร์น
ภาพฝูงค้างคาวยามเย็นนับพันตัวที่บินออกจากภูเขาแถวนั้น

รายละเอียดในการออกแบบและก่อสร้างยังมีการวางกรอบประตูกระจกให้พอดีกับโครงหลังคาไม้ด้านบน สร้างความพอเหมาะพอดีของเส้นสายได้อย่างน่าชื่นชม ทำให้บ้านดูสงบ เรียบโล่ง กลางลานบ้านที่เป็นพื้นที่ใช้งานอเนกประสงค์ ตัวบ้านและโครงหลังคาเป็นโครงสร้างไม้ตะเคียน พื้นและฐานรากเป็นปูนที่ยกตัวบนพื้นที่ต่างระดับ 1.80 เมตร ช่วยให้ลมพัดผ่านได้ดี ดูโดยรวมแล้วจึงเป็นบ้านไม้แบบไทยๆ ที่สร้างทั้งความสบายตาและสบายใจให้ผู้ใช้งานและสัญจรผ่านจากทุกมุมมอง

“ผมชอบความน้อย ความโล่ง มันมีอิทธิพลต่อจิตใจเรา มันทำให้เรามีพลัง ทำให้หัวเราคิดอะไรดีๆ ออก เวลาที่เราอยู่ในพื้นที่โล่งๆ แบบนี้ ความคิดดีๆ จะโผล่ขึ้นมาเอง โดยที่เราไม่ได้คิด ผมมักได้ไอเดียกลับไปทำงาน แม้กระทั่งเนื้อเพลงบางเพลง และเพลงหลายเพลงก็เกิดขึ้นในบ้านหลังนี้” พี่ป๊อดกล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากบ้านไม้เรียบน้อยหลังนี้ ที่ความโล่งเป็นผลดีต่อจิตใจและความคิดสร้างสรรค์ในฐานะศิลปิน


เรื่อง: สมัชชา วิราพร

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล

ชีวิตธรรมดาในบ้านไม้ใต้ถุนสูง

บ้านไม้ยกพื้นสูงที่เปรียบดั่งงานศิลป์บนเนินเขา

“บ้านใต้ถุนสูง” ในสถาปัตยกรรมแบบใหม่