บ้านโมเดิร์น บ้านสีเทา

สร้างบ้านกล่องบนที่ดินหน้าแคบให้มีความโปร่ง อยู่สบาย

บ้านโมเดิร์น บ้านสีเทา
บ้านโมเดิร์น บ้านสีเทา

บ้านสีเทาเข้มที่ดูเหมือนกล่องปิดทึบหลังนี้เกิดขึ้นจากการแก้ปัญหาการสร้างบ้านในที่ดินหน้าแคบให้ได้ประโยชน์สูงสุด  เพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยเพียงพอสำหรับสมาชิกทุกคนในบ้าน โดยหมุนเวียนวัสดุของบ้านเก่ามาใช้อย่างคุ้มค่า จนกลายเป็นบ้านที่โปร่งและอยู่สบาย

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Wat Kuptawatin (วัฒน์ คุปตะวาทิน)

เมื่อครอบครัวคุปตะวาทินซึ่งมีสมาชิก 5 คน ตัดสินใจย้ายจากบ้านไม้เดิมมาอยู่ในย่านอุดมสุข แต่ด้วยขนาดที่ดิน 60 ตารางวานี้มีหน้ากว้างประมาณ 10 เมตร คุณบาส – วัฒน์และคุณบุ๊ค – คณิต คุปตะวาทิน สองพี่น้องสถาปนิกจึงช่วยกันออกแบบบ้านหลังใหม่โดยมีโจทย์หลักคือ ทำให้มีพื้นที่ใช้สอยเพียงพอสำหรับทุกคน และแก้ปัญหาการสร้างบ้านในที่ดินหน้าแคบให้ได้ประโยชน์สูงสุด

“บ้านเดิมเป็นเรือนหอของคุณพ่อคุณแม่ เป็นบ้านไม้หลังคาปั้นหยาอายุกว่า 30 ปี และมีขนาดเล็กเกินไปสำหรับครอบครัว 5 คนที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จึงขายที่ดินตรงนั้นและเก็บไม้เก่ามาใช้กับการสร้างบ้านใหม่บางส่วน ทั้งเพื่อลดค่าใช้จ่าย และหมุนเวียนทรัพยากรมาใช้ให้คุ้มค่า ซึ่งถือเป็นการใช้ไม้หมุนเวียนครั้งที่ สาม เพราะไม้ที่สร้างบ้านเดิมก็เป็นการซื้อไม้เก่ามาสร้าง” คุณบาสเล่าถึงบ้านที่เคยเติบโตมาตั้งแต่เด็ก เป็นความทรงจำที่ยังคงต่อเนื่องเพียงแต่เปลี่ยนรูปทรงมาสู่บ้านหลังใหม่

บ้านสีเทาเข้มแนวตั้งที่ดูเหมือนกล่องปิดทึบ ในความเรียบมีมิติจากฟาซาดเหล็กเจาะรูพับเป็นลอนคล้ายผ้าม่านโปร่งผืนยาวพรางตาระหว่างภายนอกกับภายใน จึงยังมองทะลุออกมาจากภายในบ้านได้อย่างไม่อึดอัด “บ้าน 3 ชั้นหลังนี้มีพื้นที่ใช้สอย 350 ตารางเมตร มี 4 ห้องนอนสำหรับคุณพ่อคุณแม่และลูก 3 คน ออกแบบฟังก์ชันเรียบง่าย เน้นพื้นที่ชั้นล่างซึ่งทุกคนมาใช้เวลาร่วมกันในห้องนั่งเล่น รับประทานอาหาร และห้องครัวให้เป็นโถงเปิดโล่ง ส่วนชั้น 2 และชั้น 3 เป็นห้องนอนชั้นละสองห้องที่มีแปลนคล้ายกัน โดยวางตำแหน่งห้องน้ำชั้น 2 และชั้น 3 ให้ตรงกันเพื่อวางระบบท่อสะดวกและประหยัด”

บ้านกล่อง บ้านสีเทา บ้านโมเดิร์น ฟาซาด
ออกแบบฟาซาดด้วยแผ่นเหล็กเจาะรูพับเป็นลอน เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้ภายในบ้าน แต่จากภายในห้องยังคงมองทะลุออกมาได้ การพับเป็นลอนช่วยสร้างมิติให้พื้นผิวและทำให้แผ่นเหล็กคงรูปได้ดีขึ้น
หลังคาเหล็ก
ทำหลังคาด้วยแผ่นเหล็กหนา 10 มิลลิเมตร ที่ดูบางเบา รับด้วยเสาไม้จากบ้านเก่าที่ต่อเหล็กปลายและโคนเสาให้มีสัดส่วนเข้ากับบ้านสไตล์โมเดิร์น และช่วยให้โคนเสาสัมผัสความชื้นน้อยลง
ห้องนั่งเล่น
ห้องนั่งเล่นออกแบบเป็นโถงโล่งสูงสองชั้น โดยทำผนังและหน้าต่างกระจกทั้งสองด้านให้ลมและแสงธรรมชาติเข้ามาจนทลายความอึดอัดให้หมดไป
ห้องนั่งเล่น
นำเครื่องเรือนจากเรือนหอของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งเป็นสไตล์ไทยย้อนยุคมาจัดวางผสมผสานให้เข้ากับบ้านสไตล์โมเดิร์น เป็นการส่งผ่านความทรงจำจากบ้านเดิมมายังบ้านใหม่ให้ยังรู้สึกคุ้นเคย

หนึ่งในความท้าทายของสองพี่น้องสถาปนิกคือ การออกแบบบ้านในที่ดินหน้าแคบ 10 เมตร ให้ยังคงอยู่สบายไม่อึดอัด “เริ่มจากการวิเคราะห์ที่ตั้งซึ่งหน้าบ้านหันทางทิศเหนือและมีบ้านสร้างขนาบทั้งสามด้าน จึงออกแบบให้ส่วนพักอาศัยอยู่โซนฝั่งซ้ายซึ่งเป็นทิศตะวันออก ส่วนทางเดินและบันไดไว้โซนฝั่งขวาซึ่งทิศตะวันตกเพื่อช่วยป้องกันความร้อนเข้ามาภายในบ้าน ทั้งยังคำนึงถึงการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า จึงออกแบบผนังฝั่งซ้ายและฝั่งขวาเป็นผนังทึบเพื่อให้สร้างโดยมีระยะห่างจากแนวที่ดินได้น้อยที่สุด แต่เว้นจังหวะเปิดโล่งบริเวณห้องนั่งเล่นที่เว้นระยะห่างจากเขตที่ดินอย่างน้อย 2 เมตร เพื่อให้ทำหน้าต่างและช่องแสงได้ และชั้นบนทำช่องแสงสกายไลต์บางส่วน รวมถึงการใช้เหล็กเจาะรูที่มีความโปร่งและแข็งแรงมาทำพื้นทางเดินและบันได ทำให้ลมและแสงสว่างกระจายไปทั่วบ้าน”

ประตูรั้ว ประตูเล็กหน้าบ้าน ชั้นวางรองเท้า ตู้วางทีวี ที่เก็บกุญแจ และงานไม้อีกหลายชิ้นคือไม้เก่าจากเรือนหอที่คุณพ่อผู้เป็นต้นแบบความเป็น “นายช่าง” ของลูกๆ ได้ลงมือทำเองระหว่างที่กำลังสร้างบ้าน “บ้านใหม่เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก จึงนำไม้พื้นและผนังเก่ามาทำเป็นส่วนประกอบอาคารและส่วนตกแต่ง เช่น พื้น ประตู และเฟอร์นิเจอร์ในบ้านซึ่งคุณพ่อลงมือทำเอง มีใช้เสาไม้เก่าบริเวณทางเข้าหน้าบ้าน ส่วนไม้โครงสร้างที่เหลือ เช่น คาน ตง ที่ไม่ได้ใช้ก็นำไปขายให้กลับมาเป็นทุนสร้างบ้าน และไม้ก็ได้หมุนเวียนไปใช้ประโยชน์อื่นต่อได้”

ทางเดิน
ทำทางเดินโครงเหล็กเชื่อมระหว่างห้องด้านหน้ากับห้องด้านหลัง ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นสะพาน
ส่วนนั่งเล่น  ส่วนรับประทานอาหาร  ครัว
ส่วนนั่งเล่น รับประทานอาหาร และครัวเปิดโล่งเป็นส่วนเดียวกัน โดยออกแบบประตูเลื่อนซ่อนในผนัง สามารถเลื่อนเปิดปิดตามการใช้งานได้

ทางเดิน
ทำผนังทางเดินชั้น 2 เป็นหน้าต่างบานเกล็ดตลอดแนวที่สามารถเปิดระบายอากาศได้ทั้งผืนโดยไม่ยื่นมาเกะกะ
โถงบันได
วางโถงบันไดและทางเดินให้อยู่ทิศตะวันตก เพื่อป้องกันความร้อนแผ่เข้ามาในบ้าน โดยปูพื้นด้วยแผ่นเหล็กเจาะรูที่ทำให้บันไดแคบๆ ดูโปร่ง และอากาศสามารถไหลเวียนระหว่างชั้นได้
สร้างมุมมองดีๆ โดยกำหนดตำแหน่งช่องเปิดบริเวณบันไดให้มองเห็นวิวมุมสูงจนดูเหมือนเป็นภาพในกรอบรูป
ไม้เก่าจากบ้านเดิมเป็นไม้เบญจพรรณ ส่วนใหญ่เป็นไม้แดง โดยนำมาปูพื้นและทำประตูบ้าน เป็นการนำทรัพยากรมาหมุนเวียนใช้อย่างคุ้มค่า
ระเบียง
ระเบียงด้านหน้าบ้านใช้ฟาซาดแทนราวกันตก โดยเปิดโล่งด้านบนให้แสงแดดส่องลงมาได้
ทำผนังกระจกและประตูสูงถึงฝ้าเพดาน ให้มุมมองต่อเนื่องไปยังภายนอก ซึ่งมีผนังแผ่นเหล็กเจาะรูช่วยกรองแสงและสร้างความเป็นส่วนตัว
หน้าต่างห้องน้ำทำเป็นบานเกล็ดกระจกฝ้าทั้งผืนที่แสงเข้ามาได้มากและสามารถเปิดบานเกล็ดเล็กน้อยให้ระบายอากาศได้โดยไม่ทำให้โป๊
พื้นที่ระหว่างห้องนอนบนชั้น 3 เป็นห้องอเนกประสงค์ที่ในอนาคตจะปรับเป็นห้องดูหนัง ผนังด้านขวาเป็นทิศตะวันตกจึงทำเป็นผนังทึบ แล้วเปิดช่องแสงสกายไลต์ด้านบนแทน

แม้ขนาดที่ดิน ฟังก์ชัน และงบประมาณจะเป็นทั้งตัวแปรและข้อจำกัดของการสร้างบ้าน แต่ก็ไม่อาจจำกัดการออกแบบที่ดีเพื่อสร้างความอบอุ่นภายในบ้านได้ด้วยการ “ใส่ใจ” คิดและทำร่วมกัน จนทำให้บ้านหน้าแคบกลายเป็นบ้านที่โปร่งและอยู่สบาย

ปูพื้นด้วยแผ่นเหล็กเจาะรูพ่นสีขาวที่ทั้งเบาและดูโปร่ง โดยควรเลือกรูขนาดเล็กและถี่เพื่อให้เดินสบายเท้า
คุณพ่อใช้เศษไม้ประกอบเป็นกล่องเก็บของแล้วติดล้อเลื่อนให้สามารถลากและเลื่อนเก็บไว้ใต้โต๊ะได้สะดวก
ทำชั้นเหล็กด้านข้างบันไดตามความสูงลูกตั้ง และใช้บันไดเป็นมุมนั่งใส่รองเท้าแทนการทำม้านั่ง
นำอิฐช่องลมมาจัดวางแนวตั้งและเว้นระยะเป็นจังหวะ  ทำให้ผนังมีลูกเล่นไม่ซ้ำใคร
ทำราวจับยื่นเข้ามาจากราวกันตกประมาณ 10 เซนติเมตร และทำราวกันตกให้สูงกว่าปกติ ก็ช่วยลดความหวาดเสียวจากที่สูงได้

เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข

สไตล์ : Jeedwonder Jeed

ผู้ช่วยสไตลิสต์ : กิ่งกาญจน์ ปัญญาแก้ว, วิมพ์วิภา ติละโพธิ์

บ้านกล่องสีดำของนักออกแบบ บนที่ดินสี่เหลี่ยมคางหมูขนาด 18 ตารางวา

บ้านโมเดิร์นทรงกล่องกลิ่นอายเอเชีย

BOX-SHAPED HOUSES รวมบ้านทรงกล่อง 12 หลังดีไซน์เรียบเท่