บัวบกโขด ต้นไม้สไตล์มินิมัล

ไม้โขดฟอร์มสวยยังคงมาแรง ซึ่งหนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น บัวบกโขด หรือบัวบกหัว เจ้าก้อนกลมๆ ที่มีรูปทรงน่ารักแปลกตา ด้วยหัวหรือโขดทรงกลมที่โผล่พ้นขอบดิน และมีก้านเล็กๆ ใบกลมบาง ที่โผล่ออกมาเป็นเส้น ก็ยิ่งทำให้เป็นที่ชื่นชอบของนักปลูก ตกแต่งบ้านก็ได้ วางบนโต๊ะทำงานก็สวยดี

แต่เจ้าต้นไม้ชนิดนี้ไม่ได้ปลูกง่ายไปเสียทีเดียว ลองมารู้จัก บัวบกโขด ให้มากขึ้น ทั้งวิธีการเลือกกระถาง วัสดุปลูก และการดูแลอย่างถูกวิธี เพื่อให้ #ต้นสายมินิมัล อยู่กับเราไปนานๆ

ทำความรู้จัก บัวบกโขด

บัวบกโขด

บัวบกโขด หรือบัวบกหัว เป็นพืชล้มลุกที่มีหัวอยู่ใต้ดิน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stephania erecta Craib วงศ์ Menispermaceae อยู่ในกลุ่มไม้อวบน้ำ เป็นไม้โขดที่เติบโตได้ดีในป่าบ้านเรา มีหัวหรือรากขนาดใหญ่ไว้สะสมน้ำและสารอาหาร ยิ่งอายุเยอะหัวยิ่งใหญ่และออกก้านใบได้ง่าย

ขนาดของบัวบกโขด

บัวบกโขด

ด้วยหน้าตาที่น่ารัก ราคาไม่แพง จึงเป็นที่นิยมในวงการไม้ประดับ และยังเป็นพืชที่ดูแลง่าย เพียงแค่วางในที่แสงรำไร รดน้ำอยู่เสมอ ก็เพียงพอ บัวบกโขดมีหลายขนาด ขึ้นอยู่กับอายุของหัว ยิ่งนานปียิ่งมีหัวใหญ่ ซึ่งหมายถึงความแข็งแรง มีน้ำและสารอาหารมากขึ้นด้วย ราคาเริ่มต้นที่ 40 บาทไปจนถึง 300 บาท รลูกที่ใหญ่จะแพงกว่าลูกเล็กๆ แต่การันตีได้เลยว่ามีก้านใบงอกขึ้นมาแน่นอนถ้าเลี้ยงอย่างถูกวิธี วิธีเลือกซื้อให้เลือกหัวทรงกลมสวยในแบบที่ต้องการและบีบเบาๆ หากหัวไม่นิ่มเป็นอันใช้ได้

แยกส่วนต้นส่วนรากก่อนปลูก

บัวบกโขด
ก่อนปลูกต้องแยกให้ออกว่าตรงไหนส่วนต้น ตรงไหนส่วนราก วิธีสังเกตคือ ส่วนรากจะเห็นเป็นตุ่มรากมากกว่า 2-3 จุด บางหัวจะเห็นรากเก่าอยู่นิดๆ ให้เอาด้านนั้นวางลงดิน ส่วนต้น จะเห็นเป็นปมนูนขึ้นมา มีขนาดใหญ่กว่าตุ่มราก มีอยู่จุดเดียว ตรงกลางหัวพอดี ให้เอาด้านนี้ขึ้นข้างบน จากนั้นก็วางให้ถูกด้านเป็นอันเรียบร้อย
 

เรื่องดินก็สำคัญ

บัวบกโขด
 
ดินที่นิยมใช้และหาได้ง่ายในการปลูกบัวบกโขดก็คือดินแคคตัส เพราะหัวของบัวบกโขดนั้น สะสมน้ำและอาหารไว้ได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ดินที่ชื้นและอุ้มน้ำ ควรใช้ดินที่ร่วนและระบายน้ำได้ดี ไม่ให้ชื้นจนเกินไป เพราะดินที่ชื้นเกินไปและไม่ระบายน้ำ จะทำให้หัวของบัวบกโขดเกิดเชื้อราและเน่าเสียได้ ก่อนใส่ดินปลูกในกระถางอย่าลืมรองก้นด้วยถ่านทุบจะช่วยให้กระถางระบายน้ำดีขึ้น
วิธีการปลูกบัวบกโขดในกระถางให้ตักดินแคคตัสลงไปในกระถาง แล้วทำให้เกิดแอ่งเล็กน้อย สำหรับวางบัวบกโขด จากนั้นวางส่วนรากลงบนดิน ทั้งนี้จะโรยก้อนกรวดท็อปปิ้งหน้าดินอีกชั้นเพื่อความสวยงามก็ได้
 

ขนาดกระถางเลือกให้พอดี

ควรเลือกกระถางให้เหมาะสมกับขนาด กระถางที่เล็กเกินไป จะทำให้ไม่สามารถวางบัวบกลงได้พอดี และไม่สามารถรดน้ำได้ บัวบกโขดจะไม่ได้รับธาตุอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต ส่วนกระถางที่ใหญ่เกินไป ทำให้มีพื้นที่หน้าดินเยอะ เวลารดน้ำจะทำให้ดินชื้นและแฉะ ส่งผลให้เกิดเชื้อราและเน่าตายได้ ขนาดกระถางที่เหมาะสมคือมีที่ว่างระหว่างหัวกับขอบกระถางไม่เกิน 3 เซนติเมตร จะอยู่ในระยะที่สวยงาม และมีหน้าดินเหลือไม่มากเกินไป
 

รดน้ำสม่ำเสมอ อย่าให้แฉะ

บัวบกโขด
 
หลังปลูกลงดินให้ฉีดน้ำหรือรดน้ำทุกครั้ง หลังจากนั้นก็วางในที่แสงส่องถึง จะแสงรำไร หรือแสงมากก็ได้ ข้อควรระวังคือไม่ต้องรดน้ำบ่อย ประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ รดแค่ให้ดินชุ่มก็เพียงพอ
 

น้ำมากไป หัวอาจจะเน่าได้

บัวบกโขด
 
หากรดน้ำเยอะเกินไป จะทำให้เกิดเชื้อราและหัวเน่าได้ สังเกตได้จากการสัมผัส ถ้าจับแล้วหัวนิ่มๆ มีน้ำหนักเบา ก็หมายความว่าน้องลาโลกไปแล้ว ยิ่งถ้าพลิกดูตรงรากแล้วเจอราสีขาวๆ ก็ชัดเจนเลยค่ะ

บัวบกโขดมีดอกด้วยนะ

ไม้โขด บัวบกโขด
 
ถ้าเลี้ยงมาในจุดที่สมบูรณ์ บัวบกโขดจะออกดอกเล็กๆ สีเหลืองๆ ให้เชยชมด้วยแต่ไม่ต้องตกใจไปหากน้องทิ้งใบ หรือบังเอิญทำก้านหัก เพราะโดยธรรมชาติจะทิ้งใบช่วงฤดูร้อน และจะงอกมาใหม่ภายใน 2-4 สัปดาห์
 

อยากให้ต้นแตกใบต้องเจอแสงเยอะ

ไม้โขด บัวบกโขด
 
การปลูกบัวบกโขดนั้น ถ้าอยากให้ต้นยาวเลื้อย ให้วางในพื้นที่แสงรำไร เพราะเมื่อแตกกิ่งก้านออกมาแล้ว ตัวก้านจะยืดตัวหาแสง ทำให้ได้ก้านยาว แต่ถ้าชอบแบบก้านสั้นๆ ใบเยอะๆ ก็ให้วางไว้ในที่แสงเต็มวัน ต้นก็จะแตกใบกลมๆ ให้ได้ชมอยู่เสมอ
 

ยังมีไม้โขดอีกหลายชนิด พร้อมวิธีดูแลปลูกเลี้ยง ในหนังสือ ไม้อวบน้ำ succulents

สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่

เรื่อง: thanwaa.bkk
ภาพ: Seriphap