วัสดุปูพื้นบ้าน

รวม 9 วัสดุปูพื้นบ้าน ยอดนิยม แต่ละแบบมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร   

วัสดุปูพื้นบ้าน
วัสดุปูพื้นบ้าน

การเลือกวัสดุปูพื้นบ้านเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะมีวัสดุปูพื้นให้เลือกหลายชนิด ทั้งรูปแบบ ราคา และคุณสมบัติก็แตกต่างกัน บ้างก็เหมาะกับภายนอกบ้าน บ้างก็เหมาะกับภายในบ้านที่เป็นส่วนแห้ง บางชนิดก็เหมาะกับภายในบ้านที่เป็นส่วนเปียก

วันนี้บ้านและสวน School จะชวนคุณมาทำความรู้จักกับ วัสดุปูพื้นบ้าน กัน เพื่อจะได้สามารถเลือกวัสดุให้เหมาะสมได้ตามต้องการ

พื้นภายนอก

พื้นภายนอกอาคารย่อมต้องเจอทั้งแดดและฝนบางทียังเจอกับความสกปรกเลอะเทอะอีกด้วย วัสดุที่ใช้จึงต้องทนต่อสภาพเหล่านี้ได้ พื้นภายนอกที่นิยมใช้ ได้แก่

ทรายล้าง กรวดล้าง

ทรายล้างและกรวดล้างเป็นพื้นประเภทเดียวกัน แตกต่างกันแค่ขนาดเม็ดทรายจะเล็กกว่ากรวดเท่านั้น ลักษณะพื้นผิวจะสาก ไม่ลื่น และคมเล็กน้อย แต่เดินด้วยเท้าเปล่าได้ นิยมใช้กันมากบริเวณทางเดินก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน ทางเดินรอบบ้าน ไปจนถึงพื้นเฉลียงและระเบียงบ้าน สามารถทำได้หลายสีโดยการผสมสีฝุ่นจีนลงไปขณะผสมเม็ดกรวดกับปูนซีเมนต์ และทำเป็นลวดลายต่าง ๆ ได้

หินธรรมชาติ

หินที่เหมาะกับพื้นภายนอกควรมีพื้นผิวสากเพื่อใช้งานได้อย่างปลอดภัย เช่น หินกาบ หินแกรนิตชนิดพ่นไฟหรือพ่นทรายให้ผิวหน้าหยาบ แต่ต้องหมั่นดูแลรักษาด้วยการทาน้ำยาซิลิโคนสูตรน้ำทุก ๆ 2 ปี เพื่อป้องกันการดูดซึมน้ำและการเกิดเชื้อรา พื้นหินธรรมชาติก็จะดูใหม่และน่าใช้อยู่เสมอ

กระเบื้อง

การซื้อกระเบื้องพื้นควรเลือกซื้อในหมวดกระเบื้องพื้นที่ทางร้านค้าจัดแยกไว้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีผิวหยาบ
และรับน้ำหนักได้ดีกว่ากระเบื้องผนัง ปัจจุบันมีกระเบื้องหลายแบบ เช่น กระเบื้องลายไม้ซึ่งผลิตให้มีแผ่นยาว หน้าแคบเหมือนขนาดไม้จริง หรือกระเบื้องเคลือบดินเผาที่มีลักษณะคล้ายงานแฮนด์เมด ผิวหน้ามีสีสันสดใสและแวววาวคล้ายเคลือบด้วยแก้ว แต่กระเบื้องชนิดนี้มีผิวมันและลื่น จึงควรเว้นร่องยาแนวให้กว้าง 1 - 1.2 เซนติเมตร ก็ช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้มาก

คอนกรีตพิมพ์ลาย

ทำลวดลายเลียนแบบพื้นหินธรรมชาติที่มีลวดลายอิสระ (Free Form) โดยใช้แม่พิมพ์ปั๊มลวดลายลงบนพื้นปูนซีเมนต์ผสมสีขณะยังหมาด นิยมใช้ทำพื้นโรงรถหรือทางเดินภายนอกบ้าน สวยงามดูเป็นธรรมชาติ และแปลกตากว่า
พื้นชนิดอื่น ๆ ที่มักมีลวดลายแบบเรขาคณิต

ไม้เทียม

ทำจากวัสดุซีเมนต์ผสมเส้นใยพืชอัดขึ้นรูปเป็นแผ่น ทำผิวหน้าและขนาดให้คล้ายไม้จริง ใช้ทำพื้นระเบียงแบบตีเว้นร่องได้สวยงาม ที่สำคัญต้องทาสีที่ใช้กับไม้เทียมเท่านั้น ปัจจุบันสามารถทาแล้วได้ลักษณะผิวและรอย
เสี้ยนใกล้เคียงกับไม้จริงมาก

พื้นภายใน

มักเน้นความสวยงามและรูปแบบเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะพื้นภายในอยู่ใกล้ชิดกับผู้ใช้งานมากกว่าพื้นภายนอก ส่วนเรื่องความทนทานจะเป็นเรื่องรองลงมา

แกรนิตโต้

เป็นกระเบื้องชนิดหนึ่งที่ใช้หินแกรนิตจริง ๆ เป็นวัตถุดิบ โดยนำมาบดละเอียดแล้วอัดขึ้นรูปเป็นแผ่น มีความแกร่งกว่ากระเบื้องดินเผาทั่วไป อีกทั้งมีสีสัน ความเงางามและขนาดที่ค่อนข้างแน่นอน ได้เหลี่ยมฉาก ฉะนั้นจึงปูได้อย่างสวยงามแทบไม่เกิดรอยต่อคล้ายกับหินแกรนิตจริง

แต่มีข้อควรระวังคือ หากซื้อแกรนิตโต้ราคาถูกอาจต้องปูเว้นร่องยาแนวไว้มากกว่า 2 มิลลิเมตร เนื่องจาก
กระเบื้องมีคุณภาพต่ำ

ไม้เทียม

เป็นวัสดุทดแทนพื้นไม้จริงซึ่งมีราคาแพง พื้นไม้เทียมหนาประมาณ 8 - 15 มิลลิเมตร ใช้ผิวไม้บาง ๆ ปิดทับบน
ไม้เนื้ออ่อนหรือแผ่น MDF (แผ่นอัดใยไม้) เรียกว่าไม้ลามิเนต (Laminated Wood) ส่วนไม้เทียมอีกชนิดหนึ่ง
มีเกรดสูงกว่า ซึ่งผู้ผลิตเรียกว่า “เอนจิเนียริ่งวู้ด” (Engineering Wood) จะมีผิวหน้าบนสุดเป็นไม้จริงมีความหนา 3 - 5 มิลลิเมตร ทำให้รู้สึกถึงหน้าสัมผัสของไม้จริงมากกว่าไม้เทียมแบบแรก และกรณีเกิดรอยบนผิวพื้นก็สามารถขัดแต่งให้กลับมาสวยเหมือนเดิมได้

ไม้จริง

มีลวดลายสวยงามดูเป็นธรรมชาติไม่ลื่น มีอุณหภูมิที่สบายเมื่อสัมผัส (ไม่เย็นเหมือนพื้นหิน) และไม่กระด้างจนทำให้ส้นเท้าแตกอีกด้วย ไม้ที่นิยมใช้งาน ได้แก่ ไม้มะค่า ไม้สัก ไม้แดง ขนาดที่นิยมคือ หน้ากว้าง 4 นิ้วและ 6 นิ้ว ส่วนความยาว ได้แก่ 1, 1.20 และ 1.50 เมตร การเลือกซื้อต้องดูไม้ที่ไม่มีรอยแตกรอยเจาะไชของแมลง ปุ่มหรือตา
และต้องแห้งสนิท โดยใช้ช่างปูพื้นที่มีความชำนาญ และควรหมั่นดูแลรักษาสภาพให้สวยงามด้วยการทำความสะอาดและเช็ดน้ำออกจากผิวพื้นเมื่อมีน้ำหก

กระเบื้องเคลือบ

ควรเลือกกระเบื้องที่มีผิวไม่ลื่น มีความแกร่ง ไม่เป็นรอยขูดขีดง่าย ทุกแผ่นมีขนาดเท่ากัน มุมได้ฉาก หากเป็นกระเบื้องพื้นลายไม้ซึ่งมีหน้าแคบและยาวคล้ายไม้ ควรระมัดระวังเรื่องการโก่งและบิดตัว ถ้าผิวหน้ากระเบื้องโก่งหรือบิด หลังจากปูเสร็จแล้วจะพบว่าที่มุมของแผ่นกระเบื้องจะคม เมื่อเดินอาจบาดเท้าได้

ทั้งหมดนี้เป็นประเภทของวัสดุปูพื้นหลักๆ ที่นิยมใช้สำหรับการสร้างบ้าน ใครชื่นชอบวัสดุใดก็สามารถเลือกใช้ได้ตามความต้องการ

 

ข้อมูลจาก: ช่างประจำบ้าน

เรื่อง: วิญญู วานิชศิริโรจน์

ภาพ: แฟ้มภาพนิตยสารบ้านและสวน นิตยสาร Room สำนักพิมพ์บ้านและสวน

ภาพวาดประกอบ: คณาธิป จันทร์เอี่ยม