บ้านไทยใต้ถุนสูง

คืนชีวิตให้บ้านเก่ากลายเป็น บ้านไทยใต้ถุนสูงเจือกลิ่นโมเดิร์น

บ้านไทยใต้ถุนสูง
บ้านไทยใต้ถุนสูง

บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้หลังนี้เกิดจากการนำไม้เก่าของบ้านเดิมที่เริ่มทรุดโทรม มาสร้างใหม่บนที่ดั้งเดิมของบ้านเก่า โดยผนวกเข้ากับโครงสร้างปูน กลายเป็นบ้านร่วมสมัยไม่ทิ้งบุคลิก แบบบ้านใต้ถุนสูง อย่างที่เคยเป็นมาตามวิถีชาวบ้านริมคลอง

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Volume Matrix Studio
บ้านริมคลองบางสมัคร อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา หลังนี้ เป็นความตั้งใจของ คุณสุเทพ เอี่ยมอ่อน เจ้าของบ้าน ที่อยากให้คงไว้ซึ่งเรื่องราวความทรงจำในอดีต ผ่านการเลือกใช้ไม้เก่าที่ยังคงสภาพดี นำมาใช้เป็นวัสดุหลักให้เเก่บ้านหลังใหม่ ผสมผสานเข้ากับโครงสร้างปูน จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็น แบบบ้านใต้ถุนสูง ดีไซน์ร่วมสมัย มีฟังก์ชันอิงกับวิถีชีวิตในชนบท

บ้านไทยใต้ถุนสูงครึ่งปูนครึ่งไม้ผสมกลิ่นอายโมเดิร์นร่วมสมัย
ภาพเก่าของบ้านหลังเดิมที่เป็นบ้านไม้ต่อเติมก่อนรื้อแล้วสร้างใหม่กลายเป็นบ้านในรูปขวามมือ
บ้านไทยใต้ถุนสูง แบบบ้านใต้ถุนสูง
ประตูด้านหน้าบ้านเห็นโครงสร้างปูนขัดมัน ไม้เก่า และอิฐมอญ อันเป็นวัสดุหลักของบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนหลังนี้ ทั้งยังมีสวนขนาดเล็กแสดงเครื่องใช้เพื่อเล่าเรื่องราวของชาวบางปะกง
บ้านไทยใต้ถุนสูง แบบบ้านใต้ถุนสูง แบบบ้านไทยใต้ถุนสูง
บ้านดีไซน์ไทยโมเดิร์นครึ่งปูนครึ่งไม้  มีใต้ถุนเปิดโล่งสำหรับรับลมจากทิศตะวันตกเฉียงใต้
ห้องกินข้าว แบบบ้านไทยใต้ถุนสูง
คุณสุเทพเจ้าของบ้าน เดินอยู่ที่ระเบียงซึ่งเชื่อมไปยังพื้นที่ใต้ถุนด้านหลังที่โปร่งโล่ง ขณะที่ภายในบ้านได้ถูกเชื่อมฟังก์ชันทั้งครัว มุมรับประทานอาหาร เเละมุมนั่งเล่นให้ยาวต่อเนื่องกันเเบบโอเพ่นสเปซ

ไม้เก่าจากบ้านเก่า กลายเป็นบ้านใหม่ในที่ตั้งเดิม

การออกเเบบครั้งนี้ คุณสุเทพได้ไว้ใจให้อยู่ภายใต้การดูเเลของคุณกึ๋น-กศินร์ ศรศรี แห่ง Volume Matrix หลังจากที่ได้พูดคุยถึงความต้องการของเจ้าของบ้าน คุณกึ๋นได้ขยายเเนวคิดการออกแบบบ้านหลังนี้ว่า

“เป็นการสร้างใหม่โดยที่ยังมีจิตวิญญาณเดิม โดยพยายามคงบุคลิกของเดิมไว้บางส่วน ให้อารมณ์ของบ้านไทยแบบชาวบ้าน ”

นอกจากนี้เขายังเล่าอีกว่าภาพของบ้านเดิมนั้นไม่ได้มีสัดส่วนตามขนบมาตรฐาน แถมใต้ถุนเดิมยังมีการทำผนังปูนล้อมรอบไว้ทั้งหมด ทำให้โครงสร้างมีปัญหา แต่สิ่งที่สะท้อนออกมาได้ดีคือวิถีของการอยู่อาศัยจริง โดยเขาได้นำสิ่งเหล่านี้มาถอดรหัสเสียใหม่ ผ่านภาษาโมเดิร์นด้วยการใช้โครงสร้างเป็นปูน เเละการออกแบบพื้นที่ใช้งานเเบบโอเพ่นสเปซ ซึ่งเป็นสิ่งที่บ้านโมเดิร์นนิยมใช้ ผนวกกับงานดีไซน์เเบบไทย ๆ โดยยึดหลักฟังก์ชันการใช้งานที่อยู่เเล้วสบาย อย่างการออกแแบบบ้านให้มีใต้ถุนสูง  มีชานเชื่อมต่อ และระเบียงรับลม โดยทุกพื้นที่มีไม้เก่าที่รื้อมาจากบ้านเดิมเป็นองค์ประกอบเกือบทั้งหมด

ห้องกินข้าว
ออกเเบบพื้นที่ภายในเเบบโอเพ่นสเปซ ด้านในสุดตรงกำแพงอิฐเป็นส่วนปรุงอาหาร ที่มีประตูลึกเข้าไปยังห้องนอนของเจ้าของบ้าน ถัดมาเป็นโต๊ะทานอาหาร พร้อมโซฟานั่งเล่น และเคาน์เตอร์ดื่มกาแฟชมวิวด้านขวามือ
โถงบันได
ผนังด้านตะวันตกเฉียงใต้ที่รับแดดเป็นส่วนของทางเดิน ด้านนอกมีต้นมะขามเทศ และเสาไม้จากบ้านเก่า มาช่วยสร้างร่มเงา เมื่อเเดดบ่ายส่องมากระทบจะเกิดเเสงเงาเสมือนภาพวาดจากธรรมชาติ
ใต้ถุนบ้าน แบบบ้านใต้ถุนสูง แบบบ้านไทยใต้ถุนสูง
คงบุคลิกของบ้านไทยอย่างใต้ถุนสูงโปร่งไว้ได้อย่างดี เเละจากตัวบ้านบริเวณเคาน์เตอร์ริมผนังสามารถนั่งจิบกาเเฟ พร้อมรับลมชมวิวหันหน้าออกสู่ลำคลองข้างบ้านได้
บ้านไทยใต้ถุนสูงครึ่งปูนครึ่งไม้ผสมกลิ่นอายโมเดิร์นร่วมสมัย แบบบ้านใต้ถุนสูง แบบบ้านไทยใต้ถุนสูง
โครงสร้างบ้านโดยรวมที่เห็นจากภายนอกด้านที่ติดคลอง

ที่นั่งใต้ถุน วัสดุเรียบง่าย และแสงในบ้านไทย

เมื่อเราก้าวเข้ามายังตัวบ้าน พื้นที่ภายในจะเน้นการวางผังเเบบเปิดโล่ง มีช่องเปิดทั้งประตูเเละหน้าต่างขนาดใหญ่ เพื่อทำหน้าที่กระจายเเสงจากธรรมชาติให้ส่องสว่างทั่วทั้งบ้าน นอกจากนี้ยังมีอีกสิ่งที่อดกล่าวถึงไม่ได้นั่นคือ บุคลิกของบ้าน ถึงเเม้จะมีดีไซน์โมเดิร์นร่วมสมัย เเต่ก็แอบมีสไตล์ไทย ๆ เจืออยู่ ซึ่งเชื่อมโยงกับรูปเเบบวัฒนธรรมการอยู่อาศัยเเละสภาพภูมิอากาศเเบบร้อนชื้น อย่างการออกแบบให้มีใต้ถุนสูงโปร่งสำหรับใช้งานอเนกประสงค์ เช่น นั่งเล่น นั่งดื่มกาแฟ โดยหันหน้าออกสู่คลองบางสมัครและวิวสวนที่เเสนร่มรื่น

ภายใต้การออกแบบที่เน้นใช้โครงสร้างปูนขัดมันที่เรียบง่าย ร่วมกับอิฐ และมีไม้เก่าจากบ้านเดิมเป็นส่วนตกแต่งหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นพื้น ระแนง และเสาที่ไม่ได้รับแรงมากนัก ทั้งนี้การนำเสาบ้านเดิมมาสร้างเป็นเสมือนระแนงขนาดใหญ่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ที่มีแดดส่องเข้ามานั้นก็เพื่อสร้างร่มเงา ในขณะบางส่วนของบ้านยามเย็นจะมีทั้งความสว่างและความมืด เหมือนกับสมัยก่อนที่บ้านไทยจะดูอบอุ่นเมื่อยามพลบค่ำจากแสงสลัวๆ ของตะเกียงที่สะท้อนผนังเป็นจุด ๆ ไม่ได้โล่งไปเสียทั้งหมด

ใต้ถุนบ้าน แบบบ้านใต้ถุนสูง แบบบ้านไทยใต้ถุนสูง
ปีกอาคารด้านห้องนอนมีทางเดินปูไม้เก่า สร้างให้บ้านยกลอยเพื่อป้องกันความชื้นและช่วยระบายอากาศ สีของไม้แตกต่างกันไปเป็นธรรมชาติตามวิถีการใช้งานแบบชาวบ้าน
บ้านไทยใต้ถุนสูง แบบบ้านใต้ถุนสูง
มุมมองจากด้านที่ติดคลองกลับไปหน้าบ้าน คอร์ตตรงกลางเป็นลานกรวดโล่ง นอกกรอบอาคารเป็นสวนแบบชาวบ้านดูสบาย ๆ ด้านขวามมือของรูปคือบ้านส่วนที่เป็นสองชั้น ด้านบนเป็นห้องนอนของลูกคุณสุเทพ
สวนส่วนต่อไปยังท่าน้ำของบ้านด้านคลองบางสมัคร เศษเสาไม้ที่ผุพังจนใช้งานไม่ได้ กลายมาเป็นประติมากรรมแท่งสี่เหลี่ยมต่างขนาดกันอย่างสวยงาม
แบบบ้านใต้ถุนสูง
ประตูด้านท่าน้ำของบ้าน แต่ปีนี้น้ำค่อนข้างแล้งกว่าทุกปี
ใต้ถุนบ้าน แบบบ้านใต้ถุนสูง แบบบ้านไทยใต้ถุนสูง

เปิดช่องทางลมให้ถูกทิศ พร้อมร่มเงาจากไม้ใหญ่

การเปิดช่องลมของบ้านถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้บ้านเย็น และสามารถออกมานั่งเล่นได้ ดังนั้นปีกด้านใต้ถุนของบ้านจึงถูกวางไว้ยังทิศตะวันตกเฉียงใต้ แม้จะเป็นทิศที่มีแดดร้อน แต่โชคดีที่พื้นที่เดิมมีต้นมะขามเทศขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านอยู่ทำให้เกิดร่มเงาช่วยบังแดด นอกจากนี้ภายในบ้านก็ยังมีการวางผังให้ผนังด้านนี้เป็นทางเดินก่อนเข้าห้องนอน ทำให้เป็นเสมือนตัวช่วยกั้นความร้อนไม่ให้กระทบผนังห้องนอนโดยตรง นอกจากนี้ประตูหน้าบ้านกับคอร์ตสวนกลางบ้าน หากเปิดแล้วจะกลายเป็นทิศทางให้ลมผ่านได้ดี ผู้อยู่อาศัยสามารถอยู่ได้อย่างสบาย โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศแม้ในวันที่อากาศร้อนอบอ้าว

มุมจิบกาแฟ
เคาน์เตอร์ดื่มกาแฟภายในบ้านพร้อมชมวิวภายนอก ด้านขวามมือเป็นบันไดขึ้นไปยังชั้นสอง ซึ่งอยู่ในด้านที่รับแดด วิธีนี้จึงช่วยกันความร้อนและแดดไม่ให้ส่องเข้าผนังห้องโดยตรง
ส่วนนั่งเล่น
ส่วนนั่งเล่นภายในเต็มไป ตกแต่งโชว์ถ้วยรางวัลที่ชนะจากการประกวดนก โครงสร้างยื่นไปสู่ต้นมะขามเทศขนาดใหญ่ด้านนอก
จากมุมไกล ๆ จะเห็นตัวอาคารเป็นรูปทรงกล่อง ด้านข้างถูกรายล้อมไปด้วยไม้ใหญ่ช่วยลดอุณหภูมิของบ้านได้อย่างดี

เสน่ห์ของ แบบบ้านใต้ถุนสูง ความเป็นท้องถิ่นแบบแฮนด์เมด

นอกจากข้อดีในการเลือกใช้วัสดุ เเละการออกแบบฟังก์ชันที่ช่วยให้บ้านอยู่สบายเเล้ว บ้านหลังนี้ยังมีกิมมิกอีกอย่างเเทรกอยู่ ดังที่เราได้เห็นว่ามีกรงนกหลาย ๆ กรงถูกนำมาประดับตกแต่ง ซึ่งมีส่วนให้คุณกึ๋นนำแนวคิดบางส่วนมาต่อยอดสู่งานออกแบบ อาทิ การที่เป็นของเก่าโอบล้อมของใหม่ เป็นการตีแผ่ความเป็นชาวบ้านออกมาไว้ด้านนอกโดยไม่ต้องอายใคร และยังมีความเป็นแฮนด์เมดในวิถีของมัน สะท้อนมาในงานไม้ที่ไม่ต้องเนี้ยบมาก รวมถึงงานอิฐที่แต่ละก้อนไม่เหมือนกัน

“ถ้าเรานำเสนอชีวิตเราออกมา ก็เพราะทุกชีวิตมันมีความน่าสนใจหมด ก็มีความสวยงามในการใช้ชีวิตด้วยกันของแต่ละหมด” คุณกึ๋นกล่าวทิ้งท้าย

DESIGNER DIRECTORY: เจ้าของ : คุณสุเทพ เอี่ยมอ่อน/ สถาปนิก : Volume Matrix Studio โดยคุณกศินร์ ศรศรี


เรื่อง : สมัชชา วิราพร

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล

30 บ้านใต้ถุนสูงอยู่สบาย

 บ้านไทยพื้นถิ่น จากวัสดุสมัยใหม่ที่ผสานกันอย่างลงตัว