ไฟรั่ว ไฟดูด ไฟช็อต..ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

เมื่อพูดถึงอุบัติเหตุต่างๆที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านเก่าที่ระบบไฟฟ้าเริ่มเสื่อมสภาพตามกาลเวลา จนกลายเป็นเหตุให้เกิดไฟรั่ว ไฟดูด ไฟช็อต หรือเกิดเพลิงไหม้ได้แบบไม่คาดฝัน แต่อันตรายจากไฟฟ้า สามารถป้องกันได้ ถ้าเราใส่ใจและไม่ประมาท ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของเรานั่นเอง

ไฟรั่ว..ไฟดูด..ไฟช็อตคือ?

ไฟรั่ว หมายถึง การที่กระแสไฟฟ้าได้รั่วไหลจากวงจรไฟฟ้าไปที่ผิวของสายไฟหรือโครงโลหะของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เป็นต้น หากเราไปสัมผัสอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ทั้งนี้กระแสไฟฟ้ารั่วเกิดได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเดินสายไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการเสื่อมสภาพของฉนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้มาเป็นเวลานาน

ไฟดูดคือ การที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกาย ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็ง หัวใจทำงานผิดจังหวะ และเต้นอ่อนลงจนหยุดเต้นและเสียชีวิตในที่สุด ไฟฟ้าดูดเกิดขึ้นได้หลายกรณี เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้ามีการชำรุด ทำให้มีกระแสไฟรั่วออกมา เมื่อมีการสัมผัส กระแสไฟฟ้าก็จะไหลผ่านเข้ามาที่ร่างกายลงสู่พื้นดิน หรือเกิดจากการสัมผัสกับสายไฟที่มีการรั่วของกระแสไฟฟ้า ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าดูดขึ้น สิ่งแรกที่ควรทำคือตัดกระแสไฟฟ้าให้เร็วที่สุด เช่น ถอดปลั๊ก ปิดเมนสวิตช์ ปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บ และนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

ไฟช็อต หรือไฟฟ้าลัดวงจร หมายถึง การที่ไฟฟ้าไหลผ่านจากสายไฟฟ้าเส้นหนึ่งไปยังอีกเส้นหนึ่งโดยไม่ผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือโหลดใดๆ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ได้ ส่วนใหญ่เกิดจากฉนวนของสายไฟฟ้าชำรุด หรือจากการสัมผัสกันโดยบังเอิญ

ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยลดอันตรายจากไฟฟ้า วันนี้เรามีวิธีป้องกันไฟรั่ว ไฟดูด ไฟช็อตในบ้านแบบง่ายๆ มาฝากกัน

1.ตรวจเช็คมิเตอร์ไฟฟ้า

เราควรตรวจเช็คอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆภายในบ้านให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ เบื้องต้นให้ทดสอบมิเตอร์ไฟฟ้าก่อน โดยปิดสวิตช์ไฟทุกจุด รวมทั้งถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆออกให้หมดจากนั้นไปดูมิเตอร์ที่หน้าบ้านว่าเฟืองเหล็กยังหมุนอยู่หรือไม่ หากยังหมุนอยู่แสดงว่ามีกระแสไฟรั่ว ให้รีบแก้ไขโดยด่วน

นอกจากนี้ให้ลองตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดอื่นๆ เช่น เครื่องตัดไฟรั่วว่ายังทำงานดีอยู่หรือเปล่า ด้วยการกดปุ่มทดสอบหรือ Test (ควรกดปุ่มทดสอบนี้เป็นประจำทุกๆ 1-3 เดือน) ถ้ายังใช้ได้ดีสวิตช์หรือคันโยกจะตกลงมาทันทีเพื่อตัดกระแสไฟฟ้า รวมถึงเบรกเกอร์ลูกย่อยยังสามารถใช้ปลดวงจรไฟฟ้าได้หรือไม่ หากพบอุปกรณ์ชำรุดหรือเสียหายก็หามาเปลี่ยนใหม่ให้เรียบร้อย

2.ตรวจเช็คสายไฟฟ้า

ตรวจสอบสายไฟฟ้าดูว่ามีส่วนใดชำรุดเสียหายบ้าง โดยเฉพาะสายไฟที่ซ่อนอยู่บนฝ้าเพดาน อาจเปื่อยกรอบเนื่องจากผ่านการใช้งานมานาน หรือถูกพวกหนูกัดแทะฉนวนจนสายขาดได้ (ในกรณีที่ไม่ได้หุ้มสายไว้ด้วยท่อร้อยสายไฟ) ถ้าพบก็ต้องเปลี่ยนใหม่

3.ตรวจเช็คเต้ารับไฟฟ้า

จากนั้นก็มาตรวจสอบเต้ารับไฟฟ้าดูว่าหลวม มีรอยแตกร้าวหรือรอยไหม้บ้างหรือไม่ ถ้าเต้ารับหลวมก็ขันสกรูให้แน่นดังเดิม แต่ถ้ามีการแตกร้าวหรือพบรอยไหม้ก็ควรเปลี่ยนใหม่ และควรทดสอบเต้ารับทุกจุดว่ามีไฟหรือเปล่า โดยใช้ไขควงวัดไฟ ทดสอบดูก็ได้

4.ตรวจเช็คเครื่องใช้ไฟฟ้า

ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการจับต้องขณะใช้งาน อาทิ เครื่องซักผ้า โดยดูว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่วหรือไม่ ด้วยการใช้ไขควงวัดไฟแตะที่ตัวเครื่องในส่วนที่เป็นโลหะ ถ้าหลอดไฟติดหรือเรืองแสงแสดงว่ามีไฟรั่วเกิดขึ้น ให้หยุดใช้งานทันที และตรวจเช็คว่ามีการติดตั้งสายดินถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่มีให้ติดตั้งสายดินให้เรียบร้อย เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ไม่เกิดอันตรายจากไฟฟ้าดูดนั่นเอง

TIPS :

ขณะที่ร่างกายเปียกชื้น เราไม่ควรสัมผัสกับอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้าน หากเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้นเกิดกระแสไฟรั่ว ซึ่งถ้าไฟรั่วเพียงเล็กน้อย เราอาจรู้สึกเจ็บเล็กน้อย แต่ถ้าไฟรั่วเกิน 30 มิลลิแอมป์ขึ้นไป ก็อาจทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตได้ ส่วนกรณีที่ต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีโครงเป็นโลหะ และใช้งานในบริเวณพื้นที่เปียกเป็นประจำ เช่น เครื่องซักผ้า นอกจากจะต้องมีระบบสายดินแล้ว เราควรสวมรองเท้าทุกครั้งที่ใช้งาน เพื่อช่วยป้องกันไฟดูดได้อีกทางหนึ่ง

ถ้าเครื่องตัดไฟรั่วไม่ทำงาน และแก้ไขเบื้องต้นแล้ว ยังพบปัญหาอยู่ แนะนำให้เรียกช่างไฟฟ้ามืออาชีพมาช่วยแก้ไข และในขณะที่ปลดเมนสวิตช์ เพื่อการซ่อมแซมนั้น ให้เขียนป้ายเตือนไว้ว่า “ห้ามสับไฟ! ช่างไฟฟ้ากำลังทำงาน” แขวนไว้ที่เมนสวิตช์ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน

 

กลุ่มผลิตภัณฑ์เบรคเกอร์ลูกย่อยรุ่นต่างๆของซีเมนส์ มาตรฐานใหม่สำหรับการป้องกันด้านระบบไฟฟ้า สามารถติดตั้งภายในตู้คอนซูเมอร์ยูนิต และโหลดเซ็นเตอร์ เหมาะกับการใช้งานในบ้านพักอาศัย หรืออาคารพาณิชย์.มีฟังก์ชั่น SLR (Slide Latch-Release) ทำให้สามารถปลดล็อกเบรกเกอร์ออกจากแผงวงจรได้ด้วยมือเปล่า โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริม

เบรกเกอร์กันไฟรั่ว/ไฟดูด/ไฟเกิน/ไฟช็อต (RCBO) รุ่น 5SU9 จากซีเมนส์ เป็นอุปกรณ์ที่รวมคุณสมบัติของ RCCB และ MCB เข้าไว้ด้วยกัน สามารถตัดวงจรอัตโนมัติเมื่อมีค่ากระแสไฟรั่ว 10 มิลลิแอมป์ และ 30 มิลลิแอมป์ เหมาะสำหรับใช้ป้องกันไฟดูดแก่ผู้อยู่อาศัย และป้องกันไฟรั่วของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่ภายนอกอาคาร มีตัวบอกสถานะการทำงานของอุปกรณ์ ทำให้สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อเกิดเหตุขัดข้อง

 

URL : www.siemens.co.th/simbox-consumer-unit

Contact : 0-2715-5578