วัสดุสร้างบ้าน

3 แบบบ้านที่เพิ่มความพิเศษให้กับบ้านด้วยลูกเล่นของวัสดุแต่งบ้าน

วัสดุสร้างบ้าน
วัสดุสร้างบ้าน

โมเดิร์นกับธรรมชาติ

เจ้าของ : คุณดวงสุดา – คุณณัฐพงศ์ เพียรเชลงเอก
ออกแบบ : Gooseberry Design โดยคุณณัฐพงศ์ เพียรเชลงเอก

บ้านโมเดิร์นยุคนี้มักจะมีรูปทรงพื้นฐานเป็นกล่องสี่เหลี่ยมเรียบๆ วางทับซ้อนกันจนเกิดเป็นฟังก์ชันภายใน แต่บ้านโมเดิร์นหลังนี้กลับนำหลังคาทรงจั่วซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของบ้านที่เราคุ้นเคยมาใช้ แถมยังออกแบบฟาซาดด้านหนึ่งของอาคารเป็นกระถางต้นไม้เรียงล้อไปกับตัวบ้านช่วยเติมมุมมองธรรมชาติเขียว ๆ ได้อย่างน่าสนใจ

แนวคิดเท่ ๆ นี้มาจาก คุณเอก – ณัฐพงศ์ เพียรเชลงเอก สถาปนิกผู้เป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งซื้อที่ดินต่อจากบ้านหลังเดิมออกมาอีก 50 ตารางวา ด้วยข้อจำกัดของที่ดินซึ่งมีหน้าค่อนข้างแคบและลึก เมื่อต้องการช่องเปิดโล่งและพื้นที่ธรรมชาติ คุณเอกจึงตัดสินใจสร้างคอร์ตไว้กลางบ้าน แล้วแยกพื้นที่ใช้งานออกเป็นสองส่วนเชื่อมโยงกันไว้ด้วยโถงบันไดและทางเดิน

“เพราะที่ดินแคบและเราไม่อยากได้บ้านที่ออกมาเหมือนตึกแถว เลยทดลองทำรูปทรงสมมาตรหลายแบบ สุดท้ายก็มาจบที่การทำคอร์ตไว้ตรงกลาง ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ภายในบ้านจึงพบกับโต๊ะอาหารขนาดยาวและห้องครัวเป็นอันดับแรก ออกแบบตามพฤติกรรมของเรา เพราะส่วนใหญ่แขกที่มาบ้านก็เป็นคนสนิท ซึ่งไม่ต้องรับรองด้วยห้องรับแขก บ้านจึงมีแพตเทิร์นกะทัดรัดเหมือนคอนโด ห้องครัวของเราเน้นการใช้งานแบบมัลติฟังก์ชันคือ ทั้งกินข้าว ทำงาน สังสรรค์ และเล่นกับลูก อีกอย่างเรามักจะพึ่งครัวใหญ่จากบ้านคุณแม่ที่อยู่ติดกันมากกว่าด้วย”

อีกแพตเทิร์นหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้าน คือลายช่องเหลี่ยมต่อเนื่องกันตั้งแต่กระถางต้นไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมธรรมดาเรียงซ้ำ ๆ เฉียงขึ้นไปตามรูปทรงของบ้านใช้เป็นฟาซาด ต่อเนื่องมายังลายฉลุบนรั้วและประตูบ้าน หน้าบานตู้เก็บของ ชั้นติดผนังในห้องนั่งเล่น แนวกระถางต้นไม้ริมรั้ว ไปจนถึงหิ้งพระชั้นบน ซึ่งคุณเอกเรียกว่า “Brick System” เป็นเหมือนสัญลักษณ์เชื่อมต่อไปยังส่วนต่างๆ ของบ้าน ให้สื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน

ดีไซน์แพตเทิร์นที่ล้อกันระหว่างกระถางต้นไม้และลายฉลุบนรั้ว

มีการผสมผสานดีไซน์แบบทรอปิคัลเข้าไป ใช้ไม้สีเอิร์ธโทนให้สัมผัสสบายๆ ผสมกับงานคอนกรีตเปลือยหล่อในที่ทิ้งร่องรอยแบบงานศิลปะทำมือที่ดูสวย โดยเฉพาะห้องทำงานชั้นบนจะเห็นงานหล่อคอนกรีตบริเวณใต้หลังคาทรงจั่ว โดยไม่ทาสีหรือปิดฝ้าทับ เพราะต้องการเปิดเพดานให้สูง เมื่อบวกกับความลาดเอียงของรูปทรงจั่วจึงช่วยลดพื้นที่รับแสงแดดไปด้วยในตัว บ้านก็จะไม่สะสมความร้อนเหมือนการใช้หลังคาทรงแบน (Flat Slab)

บ้านทั้ง 3 หลังนี้ มีการดีไซน์แบบเรียบง่ายแต่เพิ่มรายละเอียดให้กับบ้าน ด้วยการเลือกใช้วัสดุธรรมดามาจัดเรียงการใช้งานใหม่ เป็นอีกไอเดียการออกแบบบ้านเท่ ๆที่นำไปปรับใช้ให้บ้านดูพิเศษขึ้นได้ไม่ยาก หาไอเดียการตกแต่งบ้านในแนวคิดนี้เพิ่มเติมได้ที่หนังสือ “บ้านธรรมดาเป็นพิเศษ” สำนักพิมพ์บ้านและสวน และหาไอเดียตกแต่งบ้านแบบอื่น ๆเพิ่มเติมได้จากหนังสือในซีรี่ย์เดียวกัน

เรื่อง Ektida N. , วุฒิกร สุทธิอาภา  , ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ , นันทิยา , ฤทธิรงค์