ไร่กาแฟออร์แกนิค

พานิช ชูสิทธิ์ กับไร่กาแฟออร์แกนิกที่ไม่มีชื่อ แต่เป็นที่รู้จักทั่วชุมพร

ไร่กาแฟออร์แกนิค
ไร่กาแฟออร์แกนิค

ระยะทาง 67 กิโลเมตร จากตัวอำเภอฯ เมือง จังหวัดชุมพร สู่จุดหมายคือ บ้านธรรมเจริญ ในอำเภอท่าแซะ ไม่อาจทำให้ใจเต้นรัว แรง และเร็วคล้ายไม่เป็นจังหวะ ได้เท่ากับระยะทางอีก 10 กิโลเมตร จากเขตชุมชน ไปยัง “ไร่กาแฟ ที่ไม่มีชื่อ” ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาอันเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำท่าตะเภา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากด่านทัพต้นไทร (เนิน 491) พื้นที่รอยต่อระหว่างพรมแดนไทยและสหภาพเมียนมาร์

“ไร่กาแฟ ที่ไม่มีชื่อ” คืออีกหนึ่ง Hidden Place ของ จังหวัดชุมพร ที่คนต่างถิ่นไม่ค่อยมีใครได้ไปสัมผัสนัก เช่นเดียวกับคนในพื้นที่ที่ต่างปรารถนาอยากไปรู้จักไร่กาแฟแห่งนี้ด้วยตนเอง ทั้งจากชื่อเสียงเรียงนามของเจ้าของไร่ ซึ่งเป็นบุคคลกว้างขวางเเละเป็นผู้อยู่เบื้องหลังวงการกาแฟของจังหวัดชุมพร เเต่ด้วยระยะทางที่ไกล บวกกับถนนหนทางมีความยากลำบาก บนระดับความสูง 200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ทำให้เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการเดินทางที่ได้ลงแรงลงใจไปนั้นจะคุ้มค่าหรือไม่ แต่แค่เพียงคำว่า “ไร่กาแฟออร์แกนิก บนแปลงปลูกที่อยู่สูงที่สุดของจังหวัดชุมพร” ได้กลายเป็นแม่เหล็ก เปลี่ยนให้ถนนลูกรังที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อที่ทั้งแคบเเละขรุขระ กับระยะทางอีกหลายกิโลเมตรที่แสนยาวนาน ไม่ได้ทำให้เราเกิดความวิตกกังวลเลยอย่างใด เพราะใจที่จดจ่อไปยังจุดหมายปลายทางนั้น ได้ช่วยให้เราลืมความเหน็ดเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง

ไร่กาแฟออร์แกนิค

พานิช ชูสิทธิ์ คือเจ้าของไร่กาแฟที่ไม่มีชื่อแห่งนี้ เราเรียกเขาสั้น ๆ ว่าพี่พานิช เช่นเดียวกับที่คนในพื้นที่เรียกขาน โดยพี่พานิชนั้นถือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังวงการกาแฟของจังหวัดชุมพร ซึ่งเขามีบทบาทเป็นทั้งนักพัฒนาสายพันธุ์ ดริปเปอร์ บาริสต้า พ่อค้าที่กำหนดราคาขายด้วยตนเอง ตลอดจนเป็นเกษตรกรปลูกกาแฟที่ได้รับการรับรองว่ากาเเฟจากไร่ของเขาเป็นกาแฟออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์  ท่ามกลางไร่เเละสวนพืชเศรษฐกิจที่อัดแน่นไปด้วยสารเคมีเจ้าอื่น ๆ ที่อยู่รายล้อม

ไร่กาแฟออร์แกนิค

“เดี๋ยวเราต้องนั่งรถโฟร์วิลขึ้นไปแปลงปลูกบนสันเขา แล้วค่อย ๆ เดินคุยกันลงมากันนะ”

คำชักชวนของพี่พานิชเจ้าของไร่ฟังดูราบเรียบ พร้อมกับชี้ชวนให้ดูสันเขาที่มองเห็นอยู่ลิบ ๆ ว่า “นู้นคือไร่กาแฟ” ซึ่งกว่าจะได้มาสัมผัสกับผลกาแฟโรบัสต้าในไร่ที่ปลอดสารเคมีนั้น เราต้องนั่งรถกระบะอ้อมผืนป่ายางพารา ป่าทุเรียน ไปยังสันเขาด้านบนซึ่งเป็นผืนดินที่ติดกับตาน้ำ อันอุดมสมบูรณ์เเละชุ่มฉ่ำสำหรับใช้หล่อเลี้ยงต้นกาแฟบนผืนดินที่มีความชันเกือบ 70 องศา ทำให้การทรงตัวเเละการเดินบนไหล่เขาไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยทีเดียว

“ไร่ตรงนี้ปลูกกาแฟแบบอินทรีย์ เพราะอยากทำไว้ให้ลูกหลานได้เห็นว่า การปลูกกาแฟให้ได้คุณภาพ เเละขายได้ราคานั้นต้องทำอย่างไร” บทสนทนาเริ่มออกรสยิ่งขึ้น เมื่อเราละทิ้งรถกระบะไว้บนสันเขา แล้วลุยเท้าเข้าไปยังแปลงปลูกกาแฟ ซึ่งเป็นการเดินลงเนินที่ลาดชัน ท่ามกลางป่ากาแฟที่มีกิ่งก้านสาขาแผ่กว้าง เหลือพื้นที่เป็นทางเดินเเคบ ๆ ให้ย่ำเท้าลัดเลาะไปได้เเบบทีละคนเท่านั้น

“เดิมทีครอบครัวผมทำธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟมาก่อน เป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตกาแฟทางภาคใต้ ซึ่งเป็นเชิงอุตสาหกรรมมากกว่าที่ทำอยู่ตอนนี้ จึงพอเข้าใจในเรื่องกาแฟอยู่บ้าง แต่ผมก็เลือกทำรับเหมาถมดินเป็นอาชีพ เเต่พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตกเมื่อ 20 ปีก่อน ทำให้ธุรกิจถมดินไปไม่รอด เลยมองหาอาชีพใหม่ ประจวบเหมาะกับมีคนขายที่ตรงนี้ให้ ผมเลยซื้อไว้ สิ่งที่คิดได้ตอนนั้นคือจะทำเกษตร ปลูกพืชที่ได้ผลผลิตเร็ว และเป็นพืชท้องถิ่นที่ปลูกง่าย จึงลงมือปลูกกาแฟโรบัสต้าไว้ก่อนเพราะต้นทุนต่ำ โตเร็ว เหมือนกับไร่อื่น ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ซึ่งตอนนั้นราคาขายกาแฟค่อนข้างมีราคาที่สูง”

ไร่กาแฟออร์แกนิค

“มองย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปี ชาวสวนชาวไร่แถวนี้ปลูกกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก แต่พอมียางพารา เเละปาล์มเข้ามา ซึ่งขายได้ราคาดีกว่า คนก็แห่ไปปลูกพืชเหล่านั้นแทนกาแฟ หรืออย่างตอนนี้ก็เปลี่ยนไปปลูกทุเรียนแทน ผลผลิตกาแฟของอำเภอท่าแซะจึงค่อย ๆ หายไป เมล็ดกาแฟที่ได้คุณภาพจึงหาได้ยาก เเถมกลไกตลาดโลกยังทำให้ราคาขายตกต่ำไปด้วย จากที่เคยรับซื้อกาแฟจากไร่อื่น ๆ ก็ล้มเลิกไป” เสียงสะท้อนจากปากของหนุ่มใหญ่ที่กำลังพาเราสำรวจต้นกาแฟที่ผลเริ่มทยอยสุกเป็นสีแดง หรือที่เรียกว่า Cherry ซึ่งใกล้ระยะพร้อมเก็บเกี่ยว ชวนให้เรานึกภาพตามนับเเต่ยุครุ่งเรืองจนถึงยุคปัจจุบัน ตามจังหวะการก้าวเท้าที่ค่อย ๆ เดินตามเจ้าของไร่กาแฟไปช้า ๆ

“เมื่อ 6 ปีก่อนมีการตั้งสมาคมกาแฟพิเศษแห่งประเทศไทยขึ้น เป็นโอกาสที่ทำให้ผมได้ทำความรู้จักกับนักพัฒนาสายพันธุ์ท่านอื่น ๆ อย่าง คุณก้อง สุพจน์ กรประสิทธิ์วัฒน์ นักพัฒนาสายพันธุ์เจ้าของก้องวัลเล่ย์ ตัวเเปรสำคัญผู้ทำให้มูลค่าของกาแฟมีราคาสูงขึ้น ครั้งนั้นทำให้ผมได้รู้จักกับ Wet Process เเละ Dry Process ผมจึงหยุดรับซื้อกาแฟแบบอุตสาหกรรมที่เคยทำ แล้วหันมาพัฒนากาแฟในไร่ เรียนรู้การผลิตกาแฟแบบไฟน์โรบัสต้า (Fine Robusta) จนได้กาแฟพิเศษรสชาติต่างจากโรบัสต้าทั่วไป บาริสต้าบางคนนำไปผสมอาราบิก้า เพื่อให้ได้รสชาติที่มีความเข้มข้นอันเป็นเอกลักษณ์ของโรบัสต้า ทั้งยังผลักให้มีรสที่นุ่มลึกของอาราบิก้ามีบอดี้ที่หนักขึ้น สู้ไซรัปเเละนมได้ดี ไม่ว่าจะทำเป็นเอสเปรสโซ หรือกาแฟเมนูเย็นต่าง ๆ  โดยยังคงรสชาติหอมนุ่มของกาแฟให้ยังคงอยู่”

ไร่กาแฟออร์แกนิค

“ต้นกาแฟในไร่ ส่วนใหญ่มาจากตำบลสี่ขีด จังหวัดนครศรีธรรมราช ผมมีหลายแปลงด้วยกัน แต่แปลงนี้ตั้งใจปลูกเป็นไร่กาแฟเชิงเดี่ยว ไว้ให้ลูก ๆ หลาน ๆ ได้ดูว่าปลูกกาแฟแบบไม่ผสมผสานกับพืชอื่น ๆ นั้นเป็นอย่างไร สภาพของดินที่นี่ยังสมบูรณ์ อยู่ใกล้กับตาน้ำธรรมชาติ สูงขึ้นไปก็เป็นป่าต้นน้ำ ถ้าเรารักษาต้นให้ดี รากก็จะแข็งแรง การดูแลก็ต้องคอยตัดกิ่งแขนง ตัดหญ้าเก็บกวาดแปลงให้เรียบร้อย ช่วงที่ผลกาแฟเข้าเนื้อ คือช่วงที่เมล็ดกำลังสร้างแป้งสร้างน้ำตาล ต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ จะช่วยให้ได้เมล็ดกาแฟที่มีรสชาตินุ่ม ถ้าใส่ปุ๋ยเคมีช่วงนี้ รสชาติจะกระด้าง ไม่ละมุน อันนี้คนจะปลูกกาแฟต้องรู้ด้วยว่าปุ๋ยอินทรีย์กับปุ๋ยเคมีมีผลทำให้รสชาติกาแฟแตกต่างกัน” 

ไร่กาแฟออร์แกนิค

ไร่กาแฟออร์แกนิค

พี่พานิชเล่าเพิ่มเติมว่า ความท้าทายของการพัฒนากาแฟโรบัสต้าให้มีรสชาติที่ดี หนีจากเกรดคุณภาพที่เป็นได้เพียงกาแฟส่งโรงงานผลิตกาแฟสำเร็จรูปอย่างที่เคยเป็นมาตลอด จนเป็นที่ยอมรับ และขายได้ในราคาที่สูงขึ้น มีเคล็ดลับเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ ดินที่ปลูก ปุ๋ยที่ใส่ น้ำที่รด เวลาที่ตากเมล็ด อุณหภูมิที่คั่ว ความร้อนของน้ำที่ชง ช่วงเวลาที่น้ำไหลผ่านเมล็ดที่คั่วบด และคุณภาพของคนดื่มด้วย

“จะรู้ว่ากาแฟรสชาติดีหรือไม่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์การดื่มของคนดื่มด้วย”

ไร่กาแฟออร์แกนิค

ปัจจุบัน พี่พานิช ยังคงเดินหน้าพัฒนาสายพันธุ์กาแฟโรบัสต้าในหลายพื้นที่ ทั้งพื้นที่จังหวัดตาก ซึ่งเคยเป็นถิ่นของอาราบิก้า หรือพื้นที่ภาคอีสานอย่างจังหวัดเลย ที่ปลุกกระแสการดื่มกาแฟโรบัสต้าในพื้นที่ให้คึกคัก และสนับสนุนนักพัฒนาสายพันธุ์รุ่นใหม่จนสามารถเพิ่มมูลค่าของโรบัสต้าที่ปลูกได้ในราคากิโลกรัมละ 1,000 บาท แบบที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน เขายังเรียนรู้กระบวนการรูปแบบใหม่ ๆ ที่ในเวทีโลกแต่ละปีจะมีการแนะนำให้ทดลองทำอยู่เรื่อย ๆ อย่าง Anaerobic Process เป็นการโปรเซสที่ได้คะแนนดีเมื่อปี 2017 รวมถึงขั้นตอนการคั่วเมล็ด การดริป ที่ทีมงานเราได้ละเลียดรสนุ่มของกาแฟคุณภาพผ่านฝีมือของเขาในช่วงบ่ายของวันนั้น

ไร่กาแฟของพี่พานิช ยังคงไร้ชื่อ แต่เมล็ดกาแฟที่เขาจะจำหน่ายตั้งใจจะใช้ชื่อว่า Green Hill ซึ่งแน่นอนว่าความหมายของชื่อ บอกที่มาของเมล็ดกาแฟของเขาได้เป็นอย่างดี

 

 

เรื่อง JOMM YB

ภาพ : เอกรัตน์ ปัญญะธารา