ออกแบบ : คุณพิศิษฐ ศรีสุขวงค์ และคุณสฤษฎ์ แดงจันทร์
หลังคุณแม่นิตยา ศรีสุขวงค์จากไปอย่างกะทันหันด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อลูกชายค้นเจอสมุดบันทึกของแม่ที่บันทึกทุกเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิต รวมถึงความฝันของแม่ ลูกๆ ที่เคยแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพและสร้างครอบครัวจึงได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อร่วมกันทำตามเจตนารมณ์ของแม่
คุณเอก-พิศิษฐ ศรีสุขวงค์ บุตรชายคนที่สี่ผู้พบสมุดบันทึกและเป็นตัวตั้งตัวตีคนสำคัญในการเริ่มต้นทำในสิ่งที่แม่บันทึกไว้ โดยเปิดร้านกาแฟเล็กๆ เมื่อ 6 ปีก่อนตามที่แม่เขียนเล่าไว้ว่า “เคยเป็นลูกจ้างในร้านกาแฟตอนยังเป็นเด็กหญิงตัวเล็กๆ ที่กำพร้าพ่อแม่ ต้องทำงานดิ้นรนต่อสู้ชีวิตเพียงลำพัง ฝันอยากมีร้านกาแฟร้านขนมเล็กๆ เป็นของตัวเอง” พร้อมตั้งชื่อร้านว่า “ฟาร์มคาเฟ่ เดอ กาลเวลา” เพื่อรวบรวมเรื่องราวของครอบครัว และสานความฝันของแม่ให้เป็นจริง


“ไร่นี้เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า มีเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ อยู่ติดแม่น้ำแม่กลอง เดิมเป็นที่รกร้าง มีปลูกผลไม้บ้าง ครอบครัวเราเป็นเกษตรกรกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า แม่เป็นรุ่นที่สามแล้ว เรากลับมาปรับปรุงฟื้นฟูไร่ ปลูกผักพื้นบ้านทั่วไป ข้าวโพด อ้อย จนเอกมาทำคาเฟ่ที่ตลาดท่าม่วง แรกๆ เราก็ขายกันแค่กาแฟและ เบเกอรี่ จนร้านได้รับความสนใจ มีผู้คนแวะเวียนกันมามากขึ้น เราเลยเพิ่มเมนูอาหารขึ้นมา แรกๆ ก็ซื้อผักจากที่อื่นมาใช้ แต่เราก็ไม่มั่นใจและบอกลูกค้าได้ไม่เต็มปากว่าเป็นผักปลอดสารพิษ ไหนๆ เราก็มีที่ดินเป็นของตัวเอง ทำไมเราไม่ปลูกผักเองเลยล่ะ” คุณตุ้ม-ศุภรัตน์ แดงจันทร์ บุตรสาวคนที่สองของตระกูลศรีสุขวงศ์ อีกหัวเรี่ยวหัวแรงหลักที่ดูแลแปลงผักของ ไร่กาลเวลา เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการปลูกผักออร์แกนิกให้เราฟัง



“เริ่มปลูกผักจริงจังเมื่อ 4 ปีก่อน โดยมีลูกชาย (คุณทอส – สฤษฎ์ แดงจันทร์) ไปศึกษาหาความรู้เรื่องการปลูกผัก แล้วทดลองมาปลูกที่ไร่ แรกๆเราปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ แต่ก็ไม่ตอบโจทย์เรา เพราะต้องใช้สารวิทยาศาสตร์ผสมในน้ำเพื่อให้ผักเติบโต เราไม่กล้ากินผักที่เราปลูกเอง เลยเปลี่ยนวิธีปลูกใหม่ ลองปลูกด้วยดิน จากที่เคยเริ่มปลูกผักสลัดแค่ 4 ชนิด ปัจจุบันปลูกเพิ่มขึ้นหลายชนิด ทั้งกรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก เบบี้คอส เบเบี้เรดคอส กรีนคอส กรีนปัตตาเวีย บัตเตอร์เฮด เรดโครอล ฟิลเล่ย์ไอซ์เบิร์ก ผักเคล และสวิสชาร์ด”
คุณทอส อดีตหนุ่มออฟฟิศที่ทำงานในบริษัทด้านดิจิทัลเอเจนซี่ในกรุงเทพฯ เขารักธรรมชาติ รักวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงรักและผูกพันกับคุณยายผู้เลี้ยงดูมา จึงตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อกลับมาพัฒนาและช่วยงานที่ไร่อย่างเต็มตัว


