ความยั่งยืนไม่ใช่จุดหมาย แต่เป็นการเดินทางที่จะไม่หยุดนิ่ง

ความยั่งยืนไม่ใช่จุดหมาย แต่เป็นการเดินทางที่จะไม่หยุดนิ่ง

รางวัลสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน เป็นอีกรางวัลเกียรติยศที่ยกย่องเชิดชูและเป็นกำลังใจ แก่ชุมชนที่เป็นแบบอย่างด้านการอนุรักษ์ ที่เคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวประเภทชุมชนไม่น้อยกว่า 5 ปีขึ้นไป ซึ่งยังทำหน้าที่แข็งขันในการดูแลรักษาดิน น้ำ ป่า และทรัพยากรธรรมชาติให้ยังอุดมสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาแนวทาง และวิธีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นนวัตกรรม สามารถขยายผลจนเกิดประโยชน์ด้านทรัพยากร สังคมและเศรษฐกิจ ในปี 2562 มีชุมชนได้รับรางวัลทั้งสิ้น 7 ชุมชน แต่ละชุมชนมีรูปแบบและวิธีการจัดการทรัพยากร รวมถึงปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อให้เกิดความสำเร็จที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

คน-ธรรมชาติ สัมพันธ์ในภูมิทัศน์

ชุมชนบ้านบัว ต.บ้านตุ่น อ.เมือง จ.พะเยา อยู่ติดกับเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ในจังหวัดพะเยา ก่อนปี พ.ศ.2525 ชาวตำบลบ้านตุ่นและอำเภอใกล้เคียง เข้ามาบุกรุกทำลายป่า ตัดไม้ขนาดใหญ่ไปจนหมด ทำให้น้ำในลำห้วยเหือดแห้ง ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ วิกฤตนำมาสู่ความร่วมมือในการรักษาป่าทั้งป่าในอุทยานฯ และป่าใช้สอยในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ต๋ำ-ป่าแม่นาเรือ แล้วยังได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้ ทำโครงการปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ ในรูปของหมู่บ้านป่าไม้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 จัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับสมาชิก และร่วมกันฟื้นฟูป่าไม้ จนทำให้ป่าเริ่มฟื้นความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำเพียงพอต่อการทำการเกษตร น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยตุ่นสามารถให้ประโยชน์ในแปลงเกษตรได้มากกว่า 5,300 ไร่ ทุกหลังคาเรือนปลูกผักสวนครัว ปัจจุบันชาวบ้านหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ทำนาปลอดสารพิษ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์รวมถึงจักสานไม้ไผ่ที่มีตามธรรมชาติและปลูกเพิ่มเติมกว่า 600 ไร่

 

การอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชในไร่หมุนเวียน

ชุมชนแม่กองคา ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอเก่าแก่ ที่ยังคงรักษาวิถีประเพณีวัฒนธรรมให้คงอยู่จนถึงปัจจุบัน จากภูมิปัญญาและความสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่ ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่า โดยได้ลดพื้นที่การทำไร่หมุนเวียนให้น้อยลงกันพื้นที่ไร่ที่มีอายุเกินสิบปีขึ้นไปให้เป็นป่าเพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ และเป็นแหล่งอาหาร ทั้งนี้ไร่หมุนเวียนเป็นการอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นบ้านที่เก็บสืบทอดกันมานานนับร้อยปี มีพืชอาหารท้องถิ่นหลายสิบชนิดที่ปลูกร่วมกับข้าว รวมทั้งดอกไม้เพื่อทำหน้าที่ล่อแมลง การคัดเลือกและเก็บเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นที่มีดั้งเดิมกว่า 125 ชนิด นับเป็นบทบาทสำคัญในการช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งสืบทอดภูมิปัญญาการรักษาป่า เช่น การบวชป่า ผีเลี้ยงป่า และส่งต่อความรู้การอนุรักษ์ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตแก่คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าว่า “ใช้ป่าดูแลป่า ใช้น้ำรักษาน้ำ กินกบรักษาผา กินปลารักษาวัง”

 

การรักษาป่าแก้ปัญหาความยากจน

ชุมชนตำบลบ้านหนองข่า อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ เคยเป็นที่มั่นแห่งหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลังรัฐบาลประกาศยุติสถานการณ์สงครามปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ สหายเก่ากลับออกจากป่ามาร่วมพัฒนาชาติไทย ด้วยความผูกพันกับป่าที่เคยเป็นบ้าน แหล่งหลบภัยและแหล่งอาหารยังชีพ เมื่อพบว่าป่ากำลังถูกบุกรุกและทำลายเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ เหล่าสหายเก่าจึงรวมชาวบ้านจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ผ่านรูปแบบ “สภาผู้นำชุมชน” จัดทำแผนที่ชีวิตเพื่อเพิ่มศักยภาพชุมชนในการอนุรักษ์ป่า และแก้ปัญหาความยากจน ต้านทานการเข้ามาของพืชเศรษฐกิจเพื่อรักษาระบบนิเวศ ร่วมใจกันสร้างระบบเกษตรอินทรีย์ โดยมีกลุ่มอาชีพรองรับ วิจัยชุมชนเรื่องสมุนไพร เยาวชน เกิดการรื้อฟื้นความรู้จากสมุนไพรใบลาน การนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์จากป่าในตำบลขยายไปยังในระดับจังหวัดอำนาจเจริญ 113 ป่า ใน 78 ชุมชน พื้นที่ 23,000 ไร่ รวมกันเป็น “ชมรมฮักแพงป่าอำนาจเจริญ” และนำพลังการรวมตัวนี้ไปขับเคลื่อนร่วมกับ จ.อำนาจเจริญ เรื่องจังหวัดจัดการตนเองตามแนวทาง “จังหวัดธรรมเกษตร” ชมรมฯ กำหนดบทบาทเป็นผู้ขับเคลื่อนด้านการจัดการป่าชุมชนทรัพยากรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ และงานสมุนไพร

 

การจัดการน้ำที่ไม่มีต้นน้ำ

ชุมชนตำบลเชื้อเพลิง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ สืบเชื้อสายจากกลุ่มชาติพันธุ์ส่วยที่มีความผูกพันกับการดูแลรักษาป่ามาอย่างยาวนาน ย้อนไปเมื่อยี่สิบปีก่อนกำนันพินิจ เมืองไทย ร่วมกับแกนนำชุมชนเจรจาขอคืนพื้นที่ป่าคืนจากชาวบ้านผู้บุกรุกจนสำเร็จ ได้พื้นที่คืนมากว่า 1,000 ไร่ จึงร่วมดูแลป่าในพื้นที่สาธารณประโยชน์ 3,900 ไร่ ชุมชน 12 หมู่บ้าน มีความมุ่งมั่นว่าต้องรักษาป่าผืนนี้ให้ได้ จึงมีการปลูกป่า สร้างคูรอบพื้นที่ป่า 18 กิโลเมตร และอ่างเก็บน้ำ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ที่ไม่มีต้นน้ำ นำหลักการแรงโน้มถ่วงมาใช้ โดยยกคันกั้นน้ำสูงกว่าพื้นที่ทำการเกษตร วางท่อน้ำลึกประมาณ 1 เมตร เพื่อปล่อยน้ำไหลไปตามท่อกระจายส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่นาครอบคลุมทั้งตำบล โดยชาวบ้านจะขุดสระเล็กๆ ไว้ในที่นาของตนเพื่อกักเก็บน้ำไว้ และยังเป็นจุดส่งน้ำต่อไปยังพื้นที่ชายขอบ ด้วยการจัดการบนฐานคิดที่ว่า “น้ำจะไหลไปหาคนจนที่ขยัน” ทำให้เกษตรกรในชุมชนมีน้ำใช้อย่างพอเพียง

อ่านต่อหน้า 2