ความยั่งยืนไม่ใช่จุดหมาย แต่เป็นการเดินทางที่จะไม่หยุดนิ่ง

การอนุรักษ์เขาหินปูนและระบบนิเวศ

ชมรมรักษ์เขาเอราวัณ ต.ช่องสาริกา อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เป็นแกนนำต่อสู้และคัดค้านสัมปทานเขาเอราวัณ กระทั่งโครงการระงับไป ต่อมาได้ร่วมกับชุมชนตำบลช่องสาริกาสร้างชุมชนเป็นชุมชนแห่งการอนุรักษ์และพัฒนา ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรและใช้ประโยชน์เขาเอราวัณอย่างยั่งยืน ตั้งแต่การพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ จากการค้นพบวัตถุโบราณและซากดึกดำบรรพ์กว่าล้านปี รวมทั้งขยายเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น จัดทำข้อบัญญัติตำบลเรื่องการควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพาะต้นจันผา ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่ขึ้นตามเขาหินปูน ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อชุมชนพึ่งพาตนเองได้ ร่วมกับอบต.สาริกาคัดค้านการประกาศให้พื้นที่ของชุมชนเป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (สีม่วง) แต่ให้เป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ขยายงานในกลุ่มเยาวชนทำกิจกรรม เช่น เยาวชนมัคคุเทศก์ การเรียนรู้การดับไฟป่า และการรวมตัวกันจัดตั้งวงดนตรีอ้ายก้าน เพื่อเผยแพร่งานอนุรักษ์ และนำรายได้ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์

การสร้างเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรธรรมชาติ

ชุมชนบ้านคลองเรือ ได้ชื่อจากลำคลองในหมู่บ้านที่มีลักษณะคล้ายลำเรือ ตั้งอยู่ 9 ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ชาวบ้านที่นี่โยกย้ายมาจากทั่วทุกภาคในประเทศ หอบความหวังที่จะลงหลักปักฐานในที่ดินแห่งใหม่เข้ามารุกป่าทำเป็นที่ดินทำกิน จนป่าเสื่อมโทรม หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะร่วมกับชุมชนใช้แนวทาง “คนอยู่-ป่ายัง” เข้ามาแก้ปัญหา สร้างกติกาการจัดการร่วมกัน จนชุมชนสามารถฟื้นป่า 1,875 ไร่ และเพิ่มการดูแลพื้นที่ป่าสงวนกว่า 7,242 ไร่ แม้ถูกจำกัดห้ามขยายที่ดินทำกิน แต่ชุมชนได้เปลี่ยนแปลงและพัฒนาวิถีการผลิตสู่การทำเกษตรแบบประณีต ผ่านการลองผิดลองถูก จนค้นพบการปลูกต้นไม้ 4 ชั้น ซึ่งเป็นเกษตรแนวดิ่งสอดคล้องกับที่ดินที่มีจำกัด พืชหลักประกอบด้วยหมาก ทุเรียน มังคุด กาแฟ และพืชสมุนไพร ช่วยสร้างรายได้ตลอดทั้งปี มูลค่าหลายแสนต่อครัวเรือน ลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเศรษฐกิจในแบบเชิงเดี่ยว ชุมชนบ้านคลองเรือเป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นว่าป่าอยู่ได้เพราะคนช่วยอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน

การจัดการป่าเพื่อประโยชน์หลากหลาย

กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนบ้านวังตง จ.สตูล ร่วมกันรักษาป่าชายเลนกว่า 1,600 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและการใช้ประโยชน์ของชุมชน เมื่อเกิดกระแสเลี้ยงกุ้งกุลาดำ คนขายที่ให้นายทุนมาเลี้ยงกุ้งปล่อยน้ำเสียและปิดทางออกทะเล ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ การหาอยู่หากิน กลุ่มผู้หญิงได้รับมอบหมายในการเจรจากับนายทุนเพราะเชื่อว่าบุคลิกที่ประนีประนอมอ่อนน้อม และอ่อนหวาน เหมาะสมในสถานการณ์เผชิญหน้าการเจรจาบรรลุผลสำเร็จ เมื่อได้ป่าชายเลนกลับคืน 50 ไร่ ชาวบ้านก็ปักต้นโกงกางจนเต็มพื้นที จนป่ามีความสมบูรณ์ ถึงปัจจุบันป่ามีความสมบูรณ์มาก กำหนดโซนป่าที่เป็นเขตอนุรักษ์ เพื่ออนุบาลสัตว์น้ำ เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กับโซนที่เป็นพื้นที่ทำกินออกจากกัน ทำให้สัตว์น้ำในทะเลหน้าบ้านเพิ่มขึ้น ชาวบ้านมีรายได้ต่อวันประมาณ 1,000 บาท และยังมีการลาดตระเวนในป่าอยู่เสมอ อีกทั้งยังขยายงานด้านสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาขยะในชุมชน จัดทำธรรมนูญสุขภาพ ที่เรียกว่า “แกหรานาทอน” เพื่อสุขภาวะ และสวัสดิการของชุมชน

ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ กรรมการรางวัลสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน ได้ชี้ให้เห็นเงื่อนไขสำคัญที่นำมาสู่ความยั่งยืนใน 4 ประเด็น โดยสรุป ดังนี้

  • การให้สิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Tenure Security) ดังเช่น กรณีชุมชนบ้านคลองเรือที่มีการปลกู ป่า 4 ชั้นชาวบ้านได้รับสิทธิทำกินในที่ดินชัดเจนในลักษณะของการตกลงร่วมกันระหว่างรัฐกับชาวบ้าน
  • ความยั่งยืนไม่ใช่จุดที่หยุดนิ่ง (Static Point) แต่การจัดการทรัพยากรคือการเรียนรู้ จัดไป ปรับไป ทำไป เช่น กรณีที่ชมรมรักษ์เขาเอราวัณ มีการติดตามเรื่องการดำเนินเอกสารของหน่วยงานราชการอยู่เป็นระยะๆ และอีกหลายกลุ่มที่รู้จักปรับตัว (Adaptive) เป็นการเรียนรู้ว่าอะไรได้ผล อะไรไม่ได้ผล เพราะฉะนั้น ความยั่งยืนคือการเดินทาง (Journey) ที่ต้องลองผิดลองถูก ผ่านการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตามพลวัตของสิ่งแวดล้อม การเมือง สังคมและวัฒนธรรม
  • คนนอก (Outsider) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่รัฐมีอิทธิพลและมีส่วนสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน เช่น กรณีชุมชนบ้านคลองเรือที่มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ นำโดยคุณพงศา ชูแนม ซึ่งได้อุทิศตนทำหน้าที่ในการรังวัดที่ดิน และออกเอกสารสิทธิ์ให้สามารถทำกิน สร้างความมั่นใจให้กับชุมชน
  • การอนุรักษ์ (Conservation) การเชื่อมโยงการอนุรักษ์ให้เข้ากับการผลิตเพื่อปากท้องของประชาชน จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนหรือชุมชนสามารถควบคุมการใช้ทรัพยากรได้ และมีอำนาจในการควบคุมทรัพยากรด้วยตนเอง

บทเรียนจากผลงานรางวัลลูกโลกสีเขียวเป็นรูปธรรมเชิงประจักษ์ ยืนยันความคิด “คนอยู่กับป่า” ว่าเป็นแนวทางการอนุรักษ์ที่สร้างให้เกิดความยั่งยืน