วิธีสังเกตและเตรียมรับมืออาการเมารถในน้องหมา

วันก่อนลงรูปพาเจ้าพี่หมู (น้องหมา) นั่งรถไปเที่ยวกันในเฟสบุ๊ค แล้วมีเพื่อนมาคอมเมนท์ใต้รูปว่า “ดีจังพาน้องหมาขึ้นรถไปเที่ยวด้วยได้ น้องหมาของเค้านั่งรถไปไหนด้วยไม่ได้เลย เพราะเมารถ”

เมื่อเราอ่านแล้วก็แปลกใจและสงสัยว่า อาการเมารถในน้องหมา เป็นเรื่องปกติหรือยังไง แล้วอาการเมารถที่ว่าเป็นแบบไหน เพราะ ตั้งแต่พี่หมูเล็กๆ เราก็พานั่งรถเล่น ไปไหนไปกันตลอด ก็เลยหาข้อมูลเรื่องนี้และพบว่า

 

ลักษณะอาการเมารถ (motion sickness)

มีทั้งแบบที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนเห็นชัด และ แบบที่ถ้าไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่รู้ว่าสุนัขมีอาการเมารถ ฉะนั้นเจ้าของต้องสังเกตพฤติกรรมของสุนัขตนเองว่ามีอาการต่างไปหรือไม่ เช่น

  1. อาการวิตกกังวล ลุกลี้ลุกลนที่ไม่ใช่การอยากรู้อยากเห็น หรือสงบนิ่งผิดปกติ นอนซึมคล้ายจะหลับแต่ไม่ได้หลับ
  2. สุนัขเลียปากบ่อย มีน้ำลายสอ หน้าตาไม่ผ่อนคลาย ตึงเครียด
  3. ชีพจรเต้นเร็ว หายใจถี่ๆ เหมือนจะหอบ
  4. น้ำลายไหลมากขึ้นจนเยิ้มเปื้อนไปหมด
  5. สุนัขจะขย้อนคอ อึกๆๆ แล้วอาเจียนออกมา ซึ่งเป็นขั้นที่รุนแรง และ ต้องรีบได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน

อาการเมารถในน้องหมา

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดอาการเมารถในสุนัขแยกได้เป็น 2 กรณี ดังนี้

  1. เกิดจากความกลัว ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมในรถที่คับแคบ ไม่คุ้นชิน หรือเพราะเคยเห็นตอนรถมันเคลื่อนที่ด้วยความเร็วหรือมีเสียงดัง หรือเคยถูกบังคับให้ขึ้นรถ จนเกิดความหวาดกลัว วิตกกังวล เครียด ลักษณะอาการก็เหมือนๆกับคนเวลาเครียดมากๆ นั่นล่ะ ลำไส้ และกระเพาะบีบตัวจนรู้สึกอยากจะอาเจียน น้ำลายสอ ก่อนจะไหลเยิ้มออกมา บางตัวถ้าไม่นอนซึม ก็จะแสดงความวิตกกังวลออกมาชัดเจน ด้วยการเดินไปมา ไม่ยอมอยู่นิ่งๆ
  2. เกิดจากความผิดปกติของช่องหูส่วนในทำงานไม่สมดุล (ขัดแย้ง) กับสมองส่วนรับสัญญาณที่เกี่ยวกับความเคลื่อนไหว (ประสาทการทรงตัวทำงานไม่สมดุล รถที่เหวี่ยงและสั่นสะเทือนมากเกินไป ทำให้สุนัขที่มีประสาทการทรงตัวที่ไวกว่าปกติ) ส่งผลให้เกิดอาการเวียนหัว และคลื่นไส้ตามมา

วิธีป้องกันหรือบรรเทาอาการเมารถ

1 ฝึกให้สุนัขมีความคุ้นเคยกับรถให้ได้ โดยใช้วิธีการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ร่วมกับการใช้รางวัลเป็นตัวล่อ เช่น พาสุนัขไปที่รถ เปิดประตูให้สุนัขขึ้นมาบนรถ ถ้าสุนัขไม่ขึ้นก็อย่าใช้กำลังบังคับ อาจใช้วิธีนำอาหารมาล่อให้เขาเดินตามขึ้นมาเอง ปล่อยให้นั่งเล่นแบบนั้นไปก่อน สุนัขจะสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัว สักพักค่อยสตาร์ทรถ สังเกตอาการดูถ้าไม่ตกใจก็ค่อยๆขับรถออกไป ไม่ต้องไกลมากก็วนกลับ วันรุ่งขึ้นค่อยทำแบบนี้ใหม่จนกว่าสุนัขจะชิน ซึ่งเป็นวิธีค่อยๆ ให้สุนัขสร้างความคุ้นเคยทีละนิดนั่นเอง

2.จัดที่นั่งให้เหมาะสม ควรมี Dog Car Seat เพื่อความปลอดภัย และไม่ควรให้สุนัขนั่งพื้นรถ เพราะเป็นส่วนที่สั่นสะเทือนมากที่สุด จะไปกระตุ้นประสาทด้านการทรงตัวของสุนัข ทำให้รู้สึกคลื่นไส้และอยากจะอาเจียนออกมา หรืออีกวิธีคือ การให้สุนัขนั่งบนเบาะรถปกติ แล้วมองออกไปนอกหน้าต่าง ไปยังพื้นที่ไกลๆ จะทำให้การรับรู้จากหูชั้นใน และสายตาตรงกัน สุนัขจะรู้ว่ารถกำลังเคลื่อนที่อยู่ อาการเวียนหัว คลื่นไส้จึงคลายลง นอกจากนั้นการแง้มกระจกลง ปล่อยให้อากาศถ่ายเทเข้ามาก็ทำให้สุนัขรู้สึกผ่อนคลายขึ้นอีกด้วย แต่ก็ไม่ควรแง้มกระจกมากเกินไป เพราะจะทำให้สุนัขที่ซุกซนปีนหรือกระโจนหลุดออกไปได้

3.ก่อนการเดินทาง จะต้องงดให้อาหารสุนัขเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เพื่อรอให้อาหารย่อยจนสุนัขท้องว่าง ป้องกันไม่ให้สุนัขอาเจียน ที่สำคัญจะต้องขับรถอย่างนุ่มนวล ไม่ขับฉวัดเฉวียนไปมา

4.พกของเล่นที่สุนัขชอบไปด้วย อาจเป็นผ้าห่มที่สุนัขห่มอยู่ทุกวัน จะทำให้สุนัขรู้สึกผ่อนคลายความกังวลขึ้นเมื่อได้กลิ่นประจำของตนเอง หรือไม่ก็อาจเป็นตุ๊กตาที่สุนัขคาบเล่นบ่อยๆ ให้เอาติดรถมาด้วย สำหรับเป็นเพื่อนการเดินทางของสุนัข กลิ่นที่คุ้นชินจะทำให้เขาสบายใจขึ้น คลายความกังวลลง

5.ต้องมีการหยุดพักเป็นระยะๆ เพื่อให้สุนัขได้ลงจากรถมาเดินผ่อนคลาย มาสูดอากาศธรรมชาติ ผ่อนคลาย ลดความเครียดในการเดินทาง และสุนัขจะได้ฉี่หรืออึ

หากทำตามทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมาแล้วน้องหมายังมีอาการเมารถอยู่ ก็คงต้องปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อรับยาแก้เมารถมาทาน (ห้ามซื้อยาให้น้องหมาทานเองนะจ๊ะ)

อาการเมารถในน้องหมา

จากที่กล่าวมาทั้งหมด หวังว่าจะเป็นประโยชน์และทำให้การเดินทางของคุณกับน้องหมามีความสุข เกิดความทรงจำดีๆ ร่วมกันนะคะ

 

เรื่อง + ภาพ : ลีฬภัทร กสานติกุล


 

เทคนิคการ ฝึกลูกหมาให้ขับถ่ายเป็นที่เป็นทาง

การดูแลหมาสูงอายุ หรือ หมาแก่ ให้แข็งแรงและอายุยืนยาว