Classroom MakeOver

โกลเด้นแลนด์ เปิดหลักสูตรใหม่ พัฒนาพื้นที่การเรียนรู้โรงเรียนต้นแบบเพื่อผู้พิการทางสายตา

Classroom MakeOver
Classroom MakeOver

โกลเด้นแลนด์ เปิดหลักสูตรใหม่ พัฒนาพื้นที่การเรียนรู้โรงเรียนต้นแบบเพื่อผู้พิการทางสายตา ภายใต้โครงการ GOLD GIVING : CLASSROOM MAKEOVER

CLASSROOM MAKEOVER โครงการสร้างองค์ความรู้และพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กผู้พิการทางสายตา โดยที่มาของโครงการ อยู่บนพื้นฐานแนวคิด Developing the best ซึ่งเป็น tagline ที่สะท้อนปรัชญาการทำงานของโกลเด้นแลนด์ ที่ตั้งใจจะพัฒนาและมอบสิ่งที่ดีที่สุดในทุกๆ เรื่อง โดยการเข้าไปพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้สำหรับกลุ่ม ผู้พิการทางสายตาครั้งนี้ เป็นการคิดพัฒนาแบบองค์รวม เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็กอย่างเต็มที่ และถือเป็นห้องเรียนตัวอย่าง เพื่อให้โรงเรียนผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศสามารถนำหลักสูตรนี้ไปปรับใช้ได้ สำหรับโรงเรียนต้นแบบที่โกลเด้นแลนด์เลือกพัฒนาคือ โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา จ.ชลบุรี

Classroom MakeOver

สำหรับโครงการนี้ทางผู้บริหารของบริษัทฯ เล็งเห็นว่า The Best ของแต่ละคนนั้นย่อมแตกต่างกัน ครั้งนี้จึง มอบโอกาสให้แก่ “ผู้พิการทางสายตา” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังขาดโอกาส เพื่อให้พวกเขาสามารถพัฒนาสู่ The Best ของเขาได้ และเป็นการกระตุ้นให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของคนเหล่านี้อีกทางหนึ่ง

Classroom MakeOver

คุณธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงโครงการในครั้งนี้ว่า “โกลเด้นแลนด์เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่มุ่งมั่นพัฒนาสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเรื่องโครงการที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงานให้เช่า และล่าสุดกับโครงการมิกซ์ยูส โครงการสามย่านมิตรทาวน์ เราพัฒนาทุกพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ครั้งนี้เราจึงคิดพัฒนาโครงการเพื่อส่งต่อคืนสู่สังคมในรูปแบบของการพัฒนาพื้นที่เช่นกัน พื้นที่ของเราเป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ให้กับเด็กผู้พิการทางสายตา โดยเฉพาะเด็กเล็ก บริษัทเล็งเห็นว่า ทุกคนเกิดมามีโอกาสไม่เท่ากัน เนื่องจากบางคนเกิดมาแล้วมีความบกพร่อง หรือไม่พร้อมเหมือนคนปกติทั่วๆ ไป แต่เราเชื่อว่าทุกคนสามารถที่จะถูกพัฒนาให้มีศักยภาพ The best ในระดับของเขาได้

โกลเด้นแลนด์จึงได้คิดริเริ่มทำโครงการนี้ขึ้น โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญและชำนาญการในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการออกแบบเพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของน้องๆ ให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพให้ดีที่สุด ซึ่งการพัฒนาห้องเรียนครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การไปทาสี หรือเอาของเล่น เอาหนังสือไปใส่ แต่เป็นการคิดแบบครอบคลุมครบ 360 องศา ทุกตารางนิ้วของห้องเรียนถูกออกแบบโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นพัฒนาการทุกด้านของเด็กให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”

สำหรับปัญหาของผู้พิการทางสายตาในประเทศไทย คือมีไม่ถึง 15% ของผู้พิการทางสายตา ที่ได้มีโอกาส เข้าสู่ระบบการศึกษา ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในการพัฒนาเด็กผู้พิการทางสายตา และสังคมส่วนใหญ่ก็ยัง ขาดความใส่ใจกับการที่จะพัฒนาศักยภาพของคนกลุ่มนี้ นอกจากนั้นในประเทศไทยเองก็ยังขาดแหล่งความรู้ ที่จะมาเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กอย่างถูกวิธี

ซึ่งประเภทของผู้พิการทางสายตา (Type of Blindness) แบ่งเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ประเภทแรก ตาบอดสนิท (Blindness) ผู้ที่มองเห็นได้น้อยมาก หรือไม่สามารถใช้สายตาให้เป็นประโยชน์ได้ ต้องใช้ ประสาทสัมผัสอื่นแทนในการเรียนรู้ หรือทำกิจกรรม ส่วนประเภทที่สอง ตาบอดเลือนราง (Low Vision) ผู้ที่บกพร่องทางการมองเห็นไม่รุนแรง ยังสามารถมองเห็นอักษรพิมพ์ขนาดใหญ่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ประสาทตาจะเสื่อมลงเรื่อยๆ และบอดสนิทในที่สุด หากไม่ได้รับการกระตุ้นการใช้สายตาอย่างถูกวิธี

จากปัญหาเหล่านี้ของเด็กผู้พิการทางสายตา โกลเด้นแลนด์จึงได้มีการจัดทำพื้นที่การเรียนรู้ที่สามารถใช้สอนวิชาในการพัฒนาด้านต่างๆ ประกอบไปด้วย วิชาสัมผัส, วิชาแสง, วิชาลมหายใจ และวิชาเดซิเบรลล์ เพื่อเป็น การเสริมสร้างพัฒนาการเบื้องต้นของเด็กกลุ่มนี้อย่างบูรณาการ เพราะหากเด็กเหล่านี้ได้รับการกระตุ้น อย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นการเสริมสร้างให้เด็กมีพัฒนาไวยิ่งขึ้น

Classroom MakeOver

วิชา สัมผัส คุณแบงค์ – เอกฉันท์ เอี่ยมอนันต์วัฒนะ ผู้อำนวยการ บริษัท ครีเอทีฟครูส์ จำกัด สถาปนิกผู้ออกแบบ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “สำหรับไอเดียการออกแบบที่ทำให้เกิดการออกแบบนี้ขึ้นมามีอยู่ 2 ประเด็น ไอเดียแรก เป็นของผู้อำนวยการโรงเรียน ท่านบอกว่าเด็กตาบอดเรียนรู้ไม่เหมือนเด็กปกติ เด็กปกติจะเริ่มเรียนรู้ จากภาพรวมก่อนเป็นภาพย่อย แต่ถ้าเป็นเด็กตาบอด คือจะกลับกัน คือเขาจะต้องเข้าไปจับก่อน ก็เหมือนเป็น การสแกนส่วนย่อยก่อนถึงจะเห็นเป็นภาพรวม ส่วนไอเดียที่สอง คือเรื่องหลักสูตรพรีเบรลล์และแนวทางในการใช้ห้องให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นได้รับการแนะแนวจากพี่สา ที่ปรึกษาเฉพาะทางสำหรับผู้พิการทางสายตา กระทรวงศึกษาธิการ ที่แนะว่าจะทำยังไงให้เด็กกลุ่มนี้ซึ่งเป็นเด็กเล็กผู้บกพร่องทางการมองเห็นวัยก่อนเรียน อักษรเบรลล์ (พรีเบรลล์) สามารถเรียนรู้ไปสู่ The Best ซึ่งคือการเรียนรู้ให้ดีขึ้น แม้ว่าเด็กแต่ละคนจะมีระดับและทักษะการเรียนรู้ที่ต่างกัน หลักสูตรต่างๆ จึงไม่เหมือนกัน แต่ก็สามารถนำหลักสูตรเหล่านี้มาปรับเป็นพื้นฐานใน การออกแบบห้องเรียนได้

Classroom MakeOver

ตัวห้องเรียนที่ออกแบบนั้น ทางผู้อำนวยการได้เลือกห้องสมุดที่มีผนัง 6 ด้าน ทางเราใช้ความรู้ด้าน การออกแบบผสานกับหลักสูตรพรีเบรลล์ (Pre-Braille) ทำให้ทั้งห้องสามารถใช้เรียนรู้ได้รอบด้าน อันนี้เราก็เริ่มโดยไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ แล้วก็มีผนังให้เด็กไปเกาะกับผนัง เล่นกับผนัง หมุด ตัวหมุดก็จะมีหลักสูตรต่างกัน มีอยู่ 6 แบบ ตามผนัง 6 ด้าน ตัวหมุดด้านแรก จะเริ่มที่ระเบียงก่อน ตัวหมุดจะมีขนาดเท่าๆกัน แล้วก็เป็นรูปทรงมาตรฐาน ทรงกลม ทรงเหลี่ยม สามเหลี่ยม ผนังที่สอง ก็เป็นเรื่องขนาดเริ่มต่างกัน แล้วก็มีตัวเลขให้นับ ผนังต่อไป ก็จะเป็น ตัวหมุดมีเสียงอยู่ข้างใน เพราะว่าพอเราเริ่มจากสัมผัสแล้ว เราก็เริ่มพัฒนาสัมผัสอื่นๆ ที่เด็กมีนอกจากการมองเห็น ก็จะมีสัมผัส ได้ยิน ได้กลิ่น แล้วก็เสียงที่เราใช้ในหมุด ก็จะเป็นของในชีวิตประจำวัน เช่น เกลือ พริกไทย อันนี้ประหลาดใจมาก ที่เด็กสามารถเขย่าพริกไทย เขย่าเกลือ แล้วแยกแยะได้ว่ามันไม่เหมือนกัน”

Classroom MakeOver

วิชาแสง อาจารย์อ้อ – ผศ.ดร. วรรณภา พิมพ์วิริยะกุล ไลท์ติ้ง ดีไซเนอร์ กล่าวถึง “สำหรับเด็กสายตาเลือนราง เราจึงสามารถใช้ทฤษฎีสี และแสงมาออกแบบเพื่อเด็กผู้พิการทางสายตา ให้เด็กสามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยในสภาพแวดล้อมปกติ โดยเอาแสงมาเป็นเครื่องมือในการช่วยสอนเด็กที่มีการมองเห็นเลือนรางได้ เช่น สามารถเอาสีของแสงมาจับต้องกับวัตถุเพื่อให้เห็นรูปทรงที่แตกต่างออกไป แต่ในอีกแง่หนึ่ง แสงนับว่ามีศักยภาพเยอะในเรื่องของการช่วยกระตุ้นการใช้ดวงตา ซึ่งเราได้เอาความรู้เรื่องทฤษฎีแสงและสี มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อสาธิตให้เด็กสายตาเลือนรางจะได้เรียนรู้เรื่องสี เรื่องแสงและรูปทรงไปพร้อมๆ กัน”

Classroom MakeOver

วิชาลมหายใจ คุณก้อย – ชลิดา คุณาลัย Scent Designer (นักออกแบบกลิ่น) กล่าวว่า “คนเราทุกคนจะมีประสาทสัมผัสทั้ง 5 ถ้าประสาทสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่งหายไป อีก 4 สัมผัสที่เหลือ จะต้องทำงานให้ดีขึ้น หากน้องๆ มองไม่เห็น เรื่องกลิ่นถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการดำรงชีวิตของน้องๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกแบบกลิ่นให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อเป็นการเตือนอันตรายให้กับน้อง และสามารถนำการสูดดมกลิ่นต่างๆ มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย”

Classroom MakeOver

วิชาเดซิเบรลล์ คุณอู่ – ไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตนา ซาวด์ สตูดิโอ จำกัด กล่าวว่า “การเรียนรู้ในการได้ยิน เสมือนเรามอง-เห็นสถานที่นั้นจริงๆ ธรรมชาติของการได้ยินเสียงของมนุษย์ หูซ้ายและขวาเรามีการประมวลผลที่ต่างกัน ไกลแค่ไหน ระยะทางแค่ไหน มาจากทางซ้ายหรือขวา ซึ่งระบบที่เราเลือกบันทึกเสียง เป็นระบบ Binaural recording จำลองความได้ยินของมนุษย์ผ่านความห่างของกระโหลก โดยจะมีหูซ้าย หูขวา มีใบหู แล้วก็ใส่ไมโครโฟนไว้สองข้าง โดยพยายามที่จะทำให้น้องๆ ได้เรียนรู้ ฝึกฝนการใช้ประสาทการได้ยิน เป็นส่วนช่วยในการใช้ชีวิต ผมว่าเสียงเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิต ทำให้น้องๆ ได้ทำอะไรมากขึ้น มีจินตนาการได้กว้างไกลมากขึ้น”

Classroom MakeOver

สำหรับโครงการ GOLD GIVING : CLASSROOM MAKEOVER นี้ถือว่าเป็นโครงการที่โกลเด้นแลนด์ตั้งใจทำขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากเหล่าพันธมิตรผู้มีจิตกุศลและชำนาญเรื่องต่างๆ มาร่วมกันพัฒนาห้องเรียนแบบ 360 องศา ให้ใช้งานได้จริงในทุกพื้นที่และทุกส่วนของห้อง เพื่อต่อยอดการเรียนรู้และเสริมสร้างพัฒนาการสำหรับ ผู้พิการทางสายตาให้สามารถออกมาเป็น The Best ที่ดีในสังคมต่อได้ในอนาคต


Clip VDO วิชาสัมผัส

Clip VDO วิชาแสง

Clip VDO วิชาลมหายใจ

Clip VDO เดซิเบรลล์

สามารถติดต่อขอรับคู่มือสำหรับการออกแบบห้องเรียน เพื่อพัฒนาน้องๆ ผู้พิการทางสายตา ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ 02-764-6244


ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์จำกัด (มหาชน) 02-764-6200 ต่อ 6241-6243

  • กมลพันธ์ ชินพงศ์ (แนน) 062-645-4164 [email protected]
  • ณฤณรรณฏ์ มหาอนันตพัฒน์ (นัท) 095-556-6624 [email protected]
  • รุ้งเพชร จันทร์เพ็ญ (รุ้ง) 094-561-4996 [email protected]