โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ จากผืนดินแห้งแล้ง…สู่ความเขียวชอุ่ม

ในหนังสือชุด Garden & Farm ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน เรามีคอลัมน์ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่พาไปศึกษาดูงานตามที่ต่าง ๆ ซึ่งใน Garden & Farm Vol.10 โรงเรือนข้างบ้าน เราออกเดินทางไป โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ อีกหนึ่งสถานที่คุ้นตาสำหรับผู้ที่ใช้เส้นทางผ่านจังหวัดเพชรบุรีเป็นประจำ

ในอดีตผืนดินแห่งนี้เต็มไปด้วยความแห้งแล้ง เพาะปลูกไม่ได้ผล แต่ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บนพื้นที่ 250 ไร่ ของโครงการในปัจจุบันจึงงดงามด้วยทิวเขาเขียวชอุ่ม มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แปลงผักกว้างสุดลูกหูลูกตา แปลงนาทดลอง คอกปศุสัตว์ กังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า ฯลฯ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เรียนรู้ และศึกษาดูงานด้านการเกษตรที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

เดิมทีในพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำ แต่มีอ่างเก็บน้ำห่างออกไป 7 กิโลเมตร เมื่อกรมชลประทานเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการโดยทำทางส่งน้ำมายังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้ และขุดบ่อน้ำเพิ่มเติม น้ำบางส่วนจึงถูกส่งต่อไปถึงเกษตรกรใต้น้ำ เมื่อมีน้ำเพียงพอต่อการทำการเกษตร ชีวิตเกษตรกรก็ดีขึ้น

Garden & Farm Vol.10 โรงเรือนข้างบ้าน ยังมีเรื่องราวดีๆเกี่ยวกับการทำโรงเรือนและการเกษตรสมัยใหม่อีกมากมายให้หาอ่านเพิ่มเติม

ย้อนกลับไปช่วงปลายปี พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงซื้อที่ดินบริเวณอ่างเก็บน้ำหนองเสือ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี 120 ไร่ จากราษฎรด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ปีถัดมาทรงซื้อแปลงติดกันอีก 130 ไร่ รวมทั้งหมด 250 ไร่ และมีพระราชดำริให้ทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร สภาพดินเดิมเป็นดินทรายและหินลูกรัง ขาดแคลนแหล่งน้ำ ทำให้การเพาะปลูกไม่ดีนัก การฟื้นฟูและพัฒนาที่ดินระยะแรกได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และชาวบ้านในพื้นที่ เมื่อสาธารณูปโภค แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรเริ่มเข้ามาถึง ผืนดินก็ค่อย ๆพลิกฟื้นอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านที่เคยละทิ้งถิ่นฐานก็กลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมอีกครั้ง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

สำหรับชื่อโครงการอันมีเอกลักษณ์และจดจำง่ายนั้นมีที่มาจากหัวมันเทศที่มีชาวบ้านนำมาทูลเกล้าฯถวาย พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพนักงานนำไปวางไว้บนตาชั่งในห้องทรงงานบนพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวลา เมื่อเสด็จกลับมาอีกครั้งทรงพบว่าหัวมันเทศที่วางนั้นแตกใบอ่อนขึ้นมา จึงมีพระราชดำริว่าหัวมันเทศวางไว้บนตาชั่งไม่มีดินและน้ำยังงอกได้ ที่ดินแปลงนี้ก็น่าจะปลูกมันเทศได้ จึงพระราชทานต้นมันเทศจากเรือนเพาะชำมาปลูกไว้ที่นี่ และพระราชทานชื่อ “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ”

เรือนที่ประทับทรงงานนั้นเป็นบ้านไม้สองชั้นแบบเรียบง่ายและธรรมดาที่สุด มีเฉพาะสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็น ทุกครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาที่โครงการชั่งหัวมันฯ จะมาประทับพักพระราชอิริยาบถ และทรงงานที่เรือนหลังนี้ พร้อมทอดพระเนตรแปลงนาและแปลงผักที่อยู่ตรงข้าม บ้านหลังนี้ยังได้รับการขนานนามว่า “บ้านไร่ของในหลวง”

ค้างบวบในแปลง ส่งผลผลิตตรงเข้าร้านโกลเด้น เพลซ นอกจากนี้ยังมีพืชขึ้นค้างชนิดอื่น ๆ เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วพลู มะระ

เราเดินทางมาถึงที่นี่แต่เช้าตรู่สัมผัสกับอากาศเย็นสบาย ทิวทัศน์เขียวชอุ่มรอบตัว ทำให้แทบนึกภาพไม่ออกเลยว่าที่นี่เคยประสบปัญหาความแห้งแล้งมาก่อน เพียงครู่เดียวก็มีเจ้าหน้าที่พาเยี่ยมชมโครงการ คุณสมยศ สาระเพ็ชร์ นักวิชาการเกษตร โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ อธิบายว่างานหลักของที่นี่เน้นการเกษตร แบ่งเป็นสองส่วน คือ ปลูกพืช ทั้งพืชไร่ ไม้ผล พืชผักสวนครัว ไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ป่า อีกส่วนคือเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ไข่ โคนม รวมทั้งยังเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืชพื้นเมืองของเพชรบุรี เช่น ชมพู่เพชร สับปะรดเพชรบุรี ยางนา เป็นต้น

แปลงยางนา อายุราว 7 ปี ปลูกเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ ได้มาจากโครงการพัฒนาห้วยทราย ยางนาถือว่าเป็นไม้มีคุณภาพ เนื้อไม้แน่น แต่เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. การแปรรูปไม้จึงต้องขออนุญาตให้เรียบร้อย
เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯมาทอดพระเนตรโรงโคนม และพระราชทานแนวพระราชดำริว่าควรให้ความสำคัญกับหญ้าที่วัวกิน ที่นี่ใช้หญ้าพันธุ์แพงโกลา ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ต้นทุนต่ำ ทนแล้ง แรกเริ่มนั้นมีการนำโคนมปลดระวางจากโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มาเลี้ยงเพื่อเป็นศูนย์สาธิตการเลี้ยงโคนมให้กับชาวจังหวัดเพชรบุรีและใกล้เคียง

“สภาพดินที่นี่มีหลายเนื้อ ทั้งดินทราย ดินทรายปนดินเหนียว ส่วนมากไม่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยหลักการแล้วเราจะต้องปรับสภาพดินให้ดีก่อนปลูก แต่ในความเป็นจริงการปรับปรุงดินต้องใช้เงินมหาศาล ปีเดียวก็ยังไม่เห็นผล ดังนั้นถ้ามัวแต่ปรับปรุงดินก็ไม่มีรายได้ การทำเกษตรที่นี่จึงต้องปรับสภาพดินไปพร้อมปลูกพืชไปด้วย แต่จะเน้นพืชที่ดูแลง่ายอยู่กับสภาพพื้นที่ได้ดี ทำให้ประสบผลสำเร็จ”

“รายได้จากผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดต้องเลี้ยงตัวเองได้ ไม่รวมค่านำชมหรือตั๋วเข้าโครงการ เพราะเราต้องทำให้เป็นรูปธรรมว่าทำได้จริง ที่นี่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีหรูหรา คนที่มาดูงานหรือเกษตรกรสามารถนำไปทำตามได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผลผลิตต้องปลอดสารพิษ ต้นทุนต่ำ ทั้งหมดเราส่งขายที่ร้านโกลเด้น เพลซ ทุกสาขา ผ่านการควบคุมด้วยมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices)”

แปลงผักและมันเทศ มีพืชผักกินใบเช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้ากะหล่ำปลี ผักกาดขาว ใช้ระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ทั้งหมด ช่วยประหยัดเวลาและแรงงาน คนงานส่วนใหญ่คือชาวบ้านในพื้นที่ โครงการฯนี้ทำให้พวกเขามีอาชีพโดยไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานของตัวเอง ผลผลิตนำมาขายในร้านโกลเด้น เพลซ

เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางโครงการจัดกระเช้าผลผลิตต่าง ๆ เป็นต้นว่าผัก ผลไม้ นม ไข่ไก่ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นประจำทุกวันพุธ สำหรับการเที่ยวชมโครงการไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ส่วนตัวเข้าไปด้านใน หากต้องการค่อย ๆ ซึมซับบรรยากาศ แนะนำให้ปั่นจักรยาน ซึ่งมีบริการให้นักท่องเที่ยวยืมได้ฟรี หรือนั่งรถนำชมก็มีเจ้าหน้าที่บรรยายพร้อมเกร็ดความรู้ดี ๆ แต่หากมาเป็นหมู่คณะหรือต้องการข้อมูลทางการเกษตรควรติดต่อเข้ามาล่วงหน้า ภายในโครงการเต็มไปด้วยทัศนียภาพที่สวยงาม ชวนให้เพลิดเพลินไม่น้อย สามารถแวะชมตามจุดต่างๆ ทั้งหมด 25 จุด แต่ละจุดมีป้ายกำกับ พร้อมคำอธิบายความรู้แบบง่าย ๆ

ชมพู่เพชร อายุราว 30 ปีขุดล้อมมาปลูกเพื่อนุรักษ์สายพันธุ์พื้นเมือง

การดำเนินโครงการที่เน้นความเรียบง่าย สร้างองค์ความรู้ที่ไม่ซับซ้อนแต่เห็นผล พื้นที่บางส่วนมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนงานวิจัย  เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำโครงการ 1 ไร่ 1 แสน และแปลงปลูกหม่อน บริษัทเอกชนบางแห่งเข้ามาวิจัยการปลูกผัก ทดสอบสายพันธุ์พืช มีแปลงสาธิตที่ให้ทั้งความรู้ วิธีการ และรายละเอียดให้ผู้ที่สนใจมาศึกษาดูงานนำไปปรับใช้ได้

กังหันลมทั้งหมด 20 ชุด ผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นรายได้กลับมายังโครงการ

โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ไม่เพียงแต่มีทัศนียภาพสวยงาม และมีความรู้มากมายให้เข้าไปเก็บเกี่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความไม่ย่อท้อ สะท้อนถึงความเรียบง่าย พอเพียง  และแม้ในพื้นที่ยากลำบากที่สุด พระองค์ก็ไม่เคยทอดทิ้งราษฎร ที่นี่จึงเป็นเสมือนตัวแทนของพระองค์ที่พระราชทานความรู้ และอาชีพให้เป็นสมบัติของแผ่นดินสืบไป

 

โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ

เปิดทุกวัน เวลา 9.00-16.30 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 032-472-700 – 1
อีเมล์: [email protected]
ว็บไซต์ www.chmrp.com

 

เรื่อง เกซอนลา
ภาพ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ


เรื่องที่น่าสนใจ