ธนานนท์ วัชระสุขศิลป์ กับความสนุกในการผสานอาหาร การออกแบบ และมายากลเข้าด้วยกัน

              จากความสนใจในเรื่องมายากล การออกแบบ และอาหาร ธนานนท์ วัชระสุขศิลป์ ไม่เลือกทางใดทางหนึ่ง แต่เขาผสาน 3 สิ่งนี้เข้าไว้ด้วยกันเพราะเป็นสิ่งที่เขาสนุกกับมันทั้งสิ้น

อดีตแชมป์มายากลรุ่นเด็กที่ไปศึกษาต่อด้านการออกแบบ ก่อร่างสร้างความสนใจให้ธนานนท์นำความรู้ที่ได้จากการออกแบบมาผสานกับมายากลที่เขาคุ้นเคย ก่อเกิดเป็นงานออกแบบที่เล่นไปกับพื้นที่ และ Illusion หรือภาพลวงตา ที่สร้างมุมมองแปลกใหม่ เขาใช้วิธีนี้กับงานธีสิสเพื่อจบการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีที่ไทย และปริญญาโทที่ออสเตรเลีย รวมถึงใช้กับคาเฟ่และบาร์ที่เขาเป็นเจ้าของอยู่ที่ซิดนีย์

ธนานนท์ วัชระสุข

“บาร์ของผมใช้มายากลมาช่วยในการออกแบบกลางวัน-กลางคืน เพราะกลางวันเราเปิดร้านกาแฟ ตกกลางคืนเราเป็นบาร์ คนไปร้านกาแฟเขาไม่ได้อยากเห็นร้านที่มีขวดเหล้าเต็มไปหมดหรอก เขาอยากได้พื้นที่ที่ผ่อนคลาย ชิล มีกลิ่นกาแฟ เห็นถุงกาแฟ เห็นแก้วกาแฟ ผมเลยใช้เรื่องการเปิด-ปิดของตู้ชั้นวางของมาเป็นส่วนประกอบของการออกแบบ กลางวันเราจะโชว์แก้วกาแฟ ถุงกาแฟ พอตกกลางคืนเราก็จะเลื่อนตู้ชั้นวางของนั้นให้อีกด้านหนึ่งมีอารมณ์เหมือนบาร์ ขึ้นมา” ดีไซเนอร์เจ้าของร้านพูดถึงการนำมายากลที่เขาถนัดมาใช้กับพื้นที่

การออกแบบถูกผสานไปกับอาหารเมื่อชายหนุ่มมีโอกาสได้สัมผัสอาหาร Fine Dining ที่โดดเด่นในเรื่องของ ศิลปะการจัดจานอาหาร ประกอบกับการเริ่มทำอาหารทานเองที่เขาสามารถเลือกวัตถุดิบที่ตัวเองชอบลงไปในเมนูต่าง ๆ   เป็นการค้นพบผ่านประสบการณ์ส่วนตัวว่า ‘อาหารคือการออกแบบอย่างหนึ่ง’ เขาใช้วิธีคิดนี้ในการดีไซน์เมนูและการจัดวาง พร้อมเสิร์ฟสำหรับร้านคาเฟ่และบาร์ของเขา

ธนานนท์ วัชระสุข

ทั้ง 2 ศาสตร์ทั้งการออกแบบกับมายากล และการออกแบบกับอาหาร น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนพอจะเดาทางกันได้ว่าจะนำเสนอออกมาในรูปแบบใด แต่อาหารกับมายากลนี่สิมันจะผสานกันได้อย่างไร

“เริ่มจากผมได้ดูซีรีย์เรื่อง Chef’s Table เป็นเรื่องของร้านอาหารที่เขานำ Illusion มาใช้ เช่น อาหารจานแรกเขาเสิร์ฟมะเขือเทศวางคู่มากับสตรอว์เบอร์รี่ แล้วพอเราหยิบสตรอว์เบอร์รี่กินเข้าไปกลับพบว่ามันคือมะเขือเทศ ซึ่งภายนอกดูยังไงก็เป็นสตรอว์เบอร์รี่แน่ ๆ แต่เขาใช้น้ำมะเขือเทศคั้นออกมาแล้วใช้ขั้วสตรอว์เบอร์รี่มาใส่ มันจึงดูคล้ายสตรอว์เบอร์รี่มาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคาดหวังไม่ได้ว่าเราจะเจออะไร มันเป็นมายากลที่ไม่ใช่ลักษณะเสกนก เสกหมู เสกจานขึ้นมา แต่เป็นการดีไซน์กลเหล่านั้นเข้าไปอยู่ในอาหาร ผมก็เลยรู้สึกว่ามันเจ๋ง” แชมป์มายากลอธิบายด้วยน้ำเสียงสนุกถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจ็กต์ร้านอาหารที่ใช้มายากลเข้ามาสอดแทรก

“เรามีความรู้เรื่องความออกแบบ และความรู้พื้นฐานด้านมายากลอยู่แล้ว เลยคิดว่าอยากจะทำอะไรพวกนี้ โปรเจ็กต์ใหม่ที่ผมศึกษาอยู่เป็นการสร้าง Dining Experience ให้แก่แขกที่มาทานอาหาร เพราะฉะนั้นอาหารแต่ละจานจึงเป็นมากกว่ารสชาติ หรือว่าบริการที่ดี แต่เป็นเรื่องของการเซอร์ไพร้ส์ให้แก่คนที่มาทานอาหารของเรา”

ผมว่าอาหารมันมีคุณค่า และคุณค่าของอาหารแต่ละจานมันอยู่ที่เราจะให้คุณค่านั้นอย่างไร คุณค่าทางโภชนาการคืออาหารที่ดีต่อสุขภาพมาก ๆ  คุณค่าทางอารมณ์คือไข่เจียวที่แม่ทำ คุณค่าความสุขคือการได้กินของมัน หรือของทอดที่อร่อยสุด ๆ แต่ก็อันตรายต่อสุขภาพสุด ๆ เช่นกัน สิ่งที่ผมทำจึงถือเป็นคุณค่าทางประสบการณ์ เพื่อจะพาทุกคนไปพบเจอกับสิ่งใหม่ ๆ”

ธนานนท์ วัชระสุข

ธนานนท์จะมาร่วมพูดคุยถึงตัวอย่างของงานออกแบบที่ผสาน 3 สิ่งนี้เข้าด้วยกันในกิจกรรม “The Art of Gastronomy” ซึ่งจะจัดขึ้นภายในบู๊ธ room x BAB Art & Design Cafe ที่งานบ้านและสวนแฟร์ 2018 ร่วมสนุกไปกับการเปิดจินตนาการพร้อมกันกับเขา ว่าการผสานสิ่งที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้นั้น จะออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่อย่าหวังว่านักออกแบบผู้ซ่อนกลไว้คนนี้จะบอกถึงเมนูที่เขาค้นพบ เพราะนั่นจะทำให้หัวใจของการทานอาหารในแบบฉบับของ Dining Experience จานนี้ถูกทำลายลง

“ภายในงานนี้ ผมไม่ได้นำอาหารจานที่คิดค้นมาไปโชว์นะ ถ้าทำอย่างนั้นมันจะเป็นการเฉลยกลของผม แต่ผมจะไปเล่าให้ฟังว่าที่จริงแล้วความรู้หรือสิ่งใหม่ ๆ มันไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากของที่ใหม่ก็ได้ แต่เป็นการนำองค์ความรู้ที่แตกต่างกันมารวมกัน แต่จะทำอย่างไรให้มันเกิดเป็นช่องทางใหม่ ๆ ซึ่งผมว่าอันนี้มันเจ๋งมากเลย อยากให้การพูดคุยครั้งนี้เป็นแรงบันดาลใจใหม่ให้ทุกคนค้นพบว่าเราสามารถผนวกความรู้ที่เรามีซึ่งบางทีอาจจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย มาสร้างเป็นช่องทางใหม่ที่น่าสนใจได้” ธนานนท์ทิ้งท้ายเพื่อเชิญชวนให้มาร่วมสนุกด้วยกัน

ธนานนท์ วัชระสุขศิลป์ บ้านและสวนแฟร์ 2018

              สัมผัสกับประสบการณ์การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด และทดลองชิมอาหารในมิติแปลกใหม่ ซึ่งเรามั่นใจว่าคุณไม่เคยสัมผัสที่ไหนมาก่อนเเน่นอน เริ่มตั้งแต่เรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังก่อนจะมาเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหาร ศิลปะการรับรสชาติ ไปจนถึงการออกแบบพื้นที่เพื่อสร้างประสบการณ์พิเศษในระหว่างนั่งรับประทานอาหารผ่าน 6 โปรแกรมในกิจกรรม ‘The Art of gastronomy’ โดย  Lucky Planet ที่งาน บ้านและสวนแฟร์ 2018 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2561 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com/fair


เรื่อง จรัลพร พึ่งโพธิ์
ภาพ กรองเเก้ว ก้องวิวัฒน์สกุล
ขอขอบคุณ ช่างชุ่ย (ถนนสิรินธร) ที่เอื้อเฟื้อสถานที่
www.facebook.com/ChangChuiBKK/

Lucky Planet
คุยกับประธาน ธีระธาดา ผู้ก่อตั้ง Lucky Planet แพลตฟอร์มที่หมายมุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านวัฒนธรรมบนโต๊ะอาหาร