อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ สวนกลางกรุง ของขวัญแด่สาธารณะ

Chulalongkorn University Centenary Park อุทยาน 100 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สวนกลางกรุง จากงานประกวดแบบสู่ของขวัญแด่สาธารณะ

เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยเก่าแก่อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อตั้งครบรอบ 100 ปี นอกจากการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ความพิเศษหนึ่งที่สร้างความภาคภูมิใจไม่แพ้กัน คือ การมอบพื้นที่กว่า 30 ไร่ใจกลางเมืองเพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะมอบให้แก่คนกรุงเทพฯ

สวนกลางกรุง อุทยาน 100 ปี

จุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์สวนสาธารณะแห่งนี้ มาจากในปี 2555  สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ได้เชิญชวนผู้สนใจ ร่วมกิจกรรม “ประกวดแนวคิดการออกแบบโครงการอุทยานจุฬาฯ 100 ปี และถนนจุฬาฯ 100 ปี” เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน บริเวณสวนหลวง-สามย่าน ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีเหมาะแก่การพักผ่อน โดยรางวัลผู้ชนะการประกวดครั้งนี้คือทีมภูมิสถาปนิกจากบริษัท LANDPROCESS และทีมสถาปัตยกรรมจาก N7A Architects ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการเนรมิตพื้นที่สีเขียวร่วมกับเหล่าคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย เพื่อให้สวนนี้กลายเป็นของขวัญชิ้นโตที่จุฬาฯ ตั้งใจมอบให้เมืองกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง

อุทยาน 100 ปี สวนกลางกรุง

สวนที่พร้อมรับมือกับปัญหาธรรมชาติในอนาคต

“เราไม่ได้มองแค่ว่าจุฬาฯทำอะไรที่ผ่านมา แต่กลับมองว่าจุฬาฯจะทำอะไรทิ้งไว้ให้ชาวจุฬาฯ และคนรุ่นต่อ ๆ ไป เพราะสวนนี้จะอยู่คู่กับเมืองไปอีก 100 ปีข้างหน้า”  วิสัยทัศน์ของ คุณกชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกสาวที่เล่าให้เราฟังถึงแนวคิดเริ่มต้น จนนำมาสู่การตั้งคำถามว่าอีก 100 ปี ข้างหน้ากรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร ซึ่งคำตอบดูเหมือนจะไม่พ้นปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) รวมไปถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ งานออกแบบนี้จึงหวังให้ที่นี่เป็นสวนสาธารณะต้นแบบ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อน และการจัดการปัญหาน้ำท่วมให้แก่พื้นที่โดยรอบ

อุทยาน 100 ปี สวนกลางกรุง

จามจุรี คือ รากฐาน 

ถ้าหากพูดถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาพแรกที่นึกถึงคงหนีไม่พ้นร่มเงาของต้นจามจุรีเก่าแก่ที่แผ่กิ่งก้านปกคลุมทั่วทั้งบริเวณของมหาวิทยาลัยราวกับเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ นำมาสู่แนวคิดการกำหนดฟังก์ชันให้สวนนี้เปรียบเสมือนรากของต้นจามจุรีซึ่งคอยดูดซับน้ำในเมืองไว้ ตลอดจนเป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายพื้นที่สีเขียว (Green network) และระบบนิเวศวิทยาทางน้ำ (Blue system) ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นตัวอย่างนำร่องที่สามารถขยายผลและต่อยอดไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ของเมืองได้

สวนกลางกรุง อุทยาน 100 ปี

แก้มลิงเพื่อเก็บน้ำทุกหยาดหยด 

จากแนวคิดที่ต้องการกักเก็บน้ำฝนไว้ให้ได้มากที่สุด ภูมิสถาปนิกจึงออกแบบวางผังด้วยการกดพื้นที่สวนลงฝั่งหนึ่งทำให้อีกฝั่งยกตัวสูงขึ้น น้ำฝนที่ตกลงมาจึงไหลมารวมกันด้านหน้าของพื้นที่โครงการซึ่งทำเป็นสระรับไว้น้ำ พร้อมสอดแทรกตัวอาคารไว้ใต้พื้นที่ส่วนที่ถูกยกขึ้นสำหรับเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ และพื้นที่จัดนิทรรศการในอนาคต สวนทั้งหมดแบ่งออกเป็น 5 โซน แต่ละโซนมีความสอดคล้องไปกับลักษณะสัณฐาน โดยมีฟังก์ชันหลัก ๆ ที่เหมือนกันคือการกักเก็บน้ำ

RETENTION POND หรือพื้นที่หน่วงน้ำแบบเปียก คือบริเวณสระรับน้ำขนาดใหญ่ด้านหน้าโครงการ เพื่อรองรับน้ำที่ไหลมารวมกัน และหน่วงน้ำไว้เพื่อรอการระบายออกสู่พื้นที่ภายนอกอีกที ทั้งยังใช้รดน้ำต้นไม้ในโครงการทั้งหมด บริเวณโดยรอบริมสระน้ำสอดแทรกเครื่องออกกำลังกายที่ประยุกต์มาจากเครื่องบำบัดน้ำ “กังหันชัยพัฒนา” นอกจากได้ปั่นออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้น้ำในสระไปด้วย

CONSTRUCTED  WETLAND หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ แบ่งเป็น 2 ฝั่งขนานเป็นแนวยาว บริเวณกลางสวนใช้ลักษณะของพื้นที่ที่ลาดเอียงรับกับธรรมชาติของน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ให้ไหลผ่านพืชชายน้ำ และพืชทนน้ำที่มีความสามารถในการดูดสารพิษและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม (Phytoremediation) ของน้ำเสียที่มาจากอาคารในพื้นที่โครงการและพื้นที่ข้างเคียง ก่อนจะปล่อยลงสู่ RETENTION POND ด้านหน้า เป็นการสร้างระบบนิเวศและหมุนเวียนน้ำในโครงการได้อย่างสมบูรณ์

สวนกลางกรุง อุทยาน 100 ปี

GREEN ROOF หรือสวนหลังคา จากพื้นที่ที่ถูกยกตัวทีมภูมิสถาปนิกจึงได้สร้างพื้นที่สีเขียวให้ต่อเนื่องจากด้านล่างไปสู่ด้านบนอย่างแนบเนียน ด้วยอัตราส่วนความลาดเอียงตามมาตรฐานและสเกลใหญ่ ทำให้มองด้วยตาเปล่าอาจไม่ค่อยรู้สึกถึงระดับที่เปลี่ยนไปมากนัก สวนหลังคานี้นอกจากเติมเต็มพื้นที่สีเขียวบนผืนคอนกรีตขนาดใหญ่แล้ว ยังช่วยลดอุณภูมิภายในอาคารที่อยู่ข้างได้อย่างดี พรรณไม้ที่เลือกใช้ส่วนใหญ่เน้นปลูกไม้จำพวกวัชพืช เมื่อเมล็ดตกลงดินก็สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยตัวเอง ทั้งยังดูแลรักษาง่าย ทนแล้งได้ดี วัชพืชที่ขึ้นคละกันไปมาจึงกลายเป็นความงามแบบง่าย ๆ ที่ไม่ต้องดูแลมาก แถมยังสร้างความสวยงามไปตามฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปได้ด้วย

DETENTION LAWN หรือพื้นที่หน่วงน้ำแบบแห้ง ในวันที่มีฝนตก สนามหญ้าผืนใหญ่ผืนนี้พร้อมโอบอุ้มน้ำฝนแล้วหน่วงน้ำเหล่านั้นไว้ในพื้นที่ ก่อนจะค่อย ๆ ซึมลงดินในวันธรรมดา ฝั่งหนึ่งจึงกลายเป็นพื้นที่วิ่งเล่นของเด็ก ๆ จากชุมชนข้างเคียง โดยมีสไลเดอร์ที่ลาดเอียงล้อกับสัณฐานของที่ดินให้เด็ก ๆ ได้เล่นสนุก อีกฝั่งแบ่งเป็นขั้นบันไดเสมือนแอมฟิเธียร์เตอร์ขนาดย่อมเรียงหน้าตลอดแนวสนามสำหรับนั่งพูดคุย พักผ่อน หรือทำกิจกรรมแบบกลุ่ม

RAIN GARDEN หรือสวนน้ำฝน คือทางระบายน้ำที่ไม่มีการวางท่อ แต่ใช้ประโยชน์จากไม้พุ่มและไม้คลุมดินขนาดเล็กที่ขึ้นเรียงรายอยู่ตามทางคอยซับน้ำที่เหลือบนพื้นทางเดิน ร่วมกับการเลือกใช้พื้นคอนกรีตรูพรุน (Porous Concrete) เพื่อช่วยระบายน้ำอีกทาง

สวนหลังคา อุทยาน 100 ปี สวนกลางกรุง

ห้องเรียนธรรมชาติกลางแจ้ง อุทยาน 100 ปี สวนกลางกรุง

ห้องเรียนธรรมชาติกลางแจ้ง 

หลังจากคุณกชกรได้ศึกษาหาข้อมูลงานดีไซน์โปรเจ็กต์สวนสาธารณะในพื้นที่เมืองมาพอสมควร ทำให้ได้ข้อสรุปว่า “จริง ๆ แล้วพื้นที่ของสวนที่สำคัญคือพื้นที่ขอบ แล้วปล่อยให้ตรงกลางว่างเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นสูงสุด” เป็นที่มาให้สวนแห่งนี้มีสนามหญ้าโล่งกว้างอยู่ตรงกลาง พร้อมปรับเปลี่ยนฟังก์ชันไปตามรูปแบบการใช้งาน แล้วออกแบบพื้นที่ขอบสวนเป็นห้องเรียนกลางแจ้งขนาดเล็กจำนวน 8 ห้องที่แตกต่างกันออกไปตามการเรียนรู้ ผ่านแนวคิดการออกแบบให้เป็นป่าในภาษาที่โมเดิร์น เปลี่ยนให้พื้นที่บริเวณขอบสวนเกิดความเคลื่อนไหวคึกครื้น ทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยที่มักเกิดในพื้นที่มุมอับ หรือริมรั้วที่เข้าไม่ถึง

ไปดูห้องเรียนธรรมชาติต่อที่หน้า2