บ้านเรือนไทย

เรือนหมู่ร่วมสมัย นิยามใหม่ของบ้านเพื่อ “ครอบครัว”

บ้านเรือนไทย
บ้านเรือนไทย

แต่เดิม บ้านเรือนไทย มักปลูกเรือนเป็นหมู่ใหญ่ และขยายออกไปตามการเติบโตของครอบครัว แต่เมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่ยุคโมเดิร์น ลักษณะการวางเรือนเหล่านั้นก็ค่อยๆหายไป กลายเป็นบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยว จนเมื่อลูกหลานเริ่มออกเรือนก็จะเกิดการย้ายออกไปสร้างบ้านเรือนของตัวเองในท้ายที่สุด

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Mee-D Architect

แต่บ้านสวยหลังนี้กลับคิดต่างออกไป คุณมานิธและคุณญาณรักษ์ มานิธิคุณ เลือกที่จะปลูก บ้านเรือนไทย สำหรับลูกๆเอาไว้ในบริเวณที่ดินเดียวกับบ้านหลังเดิม แต่มีสวนที่เชื่อมต่อเรือนทั้งหมดเข้าด้วยกัน ทั้งหมดก็เพื่อจะคงไว้ซึ่งคำว่า “ครอบครัว” เกิดเป็นนิยามความลงตัวของครอบครัวขยายในปัจจุบัน

“เห็นว่าลูกชายโตๆกันแล้ว อาจต้องการพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง และเมื่อที่ดินในบ้านยังมีเหลืออยู่จึงได้นำส่วนหนึ่งมาปลูกเรือนเพิ่มอีกสามหลังให้เป็นบ้านสำหรับลูกๆ และมีเรือนนั่งเล่นอีกหนึ่งหลังเพื่อใช้เป็นพื้นที่ของครอบครัว ทั้งสังสรรค์ใช้เวลาร่วมกัน และรับแขกของพ่อแม่และลูกๆเอง อีกอย่างผมก็อยากจะทำสวนสมุนไพรและเปิดรับผู้ที่สนใจให้แวะเข้ามาเยี่ยมชมได้ในอนาคตเมื่อเกษียณตัวเอง” คุณมานิธเริ่มต้นเล่าให้เราฟัง

จากบ้านหลังใหญ่ที่สร้างเสร็จเมื่อปี 2554 หลังน้ำท่วมใหญ่ ส่วนต่อขยายนี้จึงเข้ามาเติมเต็มหลายๆส่วนที่บ้านหลังเก่ายังขาดไป นั่นก็คือสวนและพื้นที่สบายๆที่ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน และในอนาคตหากลูกๆจะมีครอบครัว บ้านทั้งสามหลังนี้ยังสามารถรองรับการที่ทุกคนจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ โดยยังคงไว้ซึ่งความเป็นส่วนตัวของแต่ละคน

“บ้านทุกหลังจะมีรูปแบบเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็จะแตกต่างกันไปตามบุคลิกของแต่ละคน เป็นสไตล์เรียบเท่ดิบๆตามที่ลูกๆต้องการ ส่วนเราก็เข้ามาเติมเต็มเกี่ยวกับเรื่องสวนและความร่มรื่น เพราะอยากได้บรรยากาศแบบรีสอร์ต อยากให้บ้านนี้เป็นพื้นที่พักผ่อนไปในตัว”

สวนที่ว่านี้นอกจากจะสร้างความร่มรื่นให้บ้านทั้งสามหลังแล้ว ยังช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวและแยกทุกพื้นที่ออกจากกันอีกด้วย คุณมานิธยังบอกอีกว่า “พอมีสวนนี้ขึ้นมาประกอบกับสระน้ำที่เรือนนั่งเล่น ก็ทำให้ต้องเดินดูแลมันบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีนะ รู้สึกว่าแข็งแรงขึ้น ทั้งยังได้อยู่กับธรรมชาติของสวนเหล่านี้ไปด้วย”

นอกจากแนวคิดเกี่ยวกับการทำบ้านเพื่อครอบครัวแล้ว สถาปนิกยังได้ซ่อนเทคโนโลยีรักษ์โลกเอาไว้บนหลังคาอีกด้วย “เราออกแบบให้หลังคาทำมุม 15 องศา ไปทางทิศใต้เพื่อรับแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่และติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เอาไว้บนหลังคาบ้านทุกหลัง รวมถึงโรงจอดรถด้วย” โซลาร์เซลล์เหล่านี้ช่วยประหยัดพลังงานไปได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายพลังงานในบ้านเลยทีเดียว

“เราเลือกใช้เหล็กเป็นโครงสร้างของบ้าน เพราะสามารถสร้างได้รวดเร็ว อีกทั้งเทคนิคการก่อสร้างก็ก่อมลพิษทางเสียงและรบกวนบ้านหลังใหญ่น้อยกว่าโครงสร้างแบบอื่น ที่สำคัญคือโครงสร้างเหล็กสามารถสร้างความเป็นไปได้ของรูปทรงได้มากกว่าโครงสร้างคอนกรีตแบบเสาคาน ซึ่งถ้าเราจะใช้คอนกรีตแบบผนังรับน้ำหนักก็จะทำให้งบประมาณสูงกว่านี้อีกหลายเท่า” คุณพิริยะ เตชะรัตน์พงษ์ หนึ่งในสถาปนิกของบ้านหลังนี้เล่าให้เราฟัง “อย่างช่วงเสาตรงเรือนนั่งเล่นก็ออกแบบให้เยื้องกัน เพื่อสร้างมุมมองประหนึ่งว่าอาคารลอยอยู่บนสระน้ำด้านล่าง ด้วยเส้นสายที่บางเบาของโครงสร้างเหล็กก็ทำให้อาคารมีภาพตรงตามที่ออกแบบไว้”

“เราเป็นพ่อเป็นแม่ก็อยากเห็นลูกเติบโต ลูกจะพาเพื่อนมาสังสรรค์กันที่บ้านหรือพาแฟนมาอยู่ด้วยเราก็ยินดีทั้งนั้นแหละ บ้านทั้งสามหลังรวมถึงเรือนนั่งเล่นนี้จึงเปรียบเหมือนความหวังดีที่ดีกว่าการบอกให้เขาอยู่กับเรา ถ้าวันหนึ่งเขาอยากย้ายออกไปสร้างครอบครัวของตัวเองก็คงไม่เป็นไร แต่ในวันนี้เราอยากให้ทุกคนอิ่มใจกับบรรยากาศของครอบครัว” คุณมานิธเล่าให้เราฟังในตอนท้ายด้วยประโยคที่เปี่ยมด้วยความหมายของคำว่า “ครอบครัว” ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่าบ้านหลังนี้สามารถแสดงออกได้อย่างชัดเจนเลยทีเดียว

เจ้าของ : คุณมานิธ – คุณญาณรักษ์ มานิธิคุณ
ออกแบบ : Mee-D Architect Co.,Ltd. โดยคุณพิริยะ เตชะรัตน์พงษ์ และคุณปวิธ ชวนกำเนิดการ โทรศัพท์ 08-1433 – 3959
รับเหมาก่อสร้าง: บริษัทพรทัศน์การโยธา จำกัด


เรื่อง : วุฒิกร สุทธิอาภา

ผู้ช่วยกองบรรณาธิการ : ศุภลักษณ์ วงค์อานา, สหภาพ เสนาคำ

ภาพ : ธนกิตติ์   คำอ่อน

สไตล์ : นภิษฐา   พงษ์ประสิทธิ์

 “บ้านไทยร่วมสมัย” ไทยเหมือนเดิม เพิ่มแค่ความทันสมัย