เจาะลึกช่องทางรายได้จากสมุนไพรไล่แมลง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมสูตรการทำ

ปัญหาแมลงศัตรูพืชบุกรบกวนต้นไม้ในสวนเป็นเรื่องน่ากังวลใจไม่น้อย จะใช้สารเคมีก็อาจเกิดการตกค้างและเป็นอันตรายได้ ครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่เราได้มาพูดคุยกับ ดร.เทิดศักดิ์ โทณลักษณ์ อาจารย์ประจําสาขาวิชาวิทยาการสมุนไพร คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้ศึกษาและวิจัยพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณไล่แมลง ซึ่งถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ปลอดภัยและได้ผลดี โดยเฉพาะกับแปลงผักสวนครัวรั้วกินได้ในสวนของเรา

น้ําหมักสมุนไพรควรผสมน้ํายาเคลือบผิวอย่างน้ําสบู่ แล้วนําไปฉีดพ่นให้ต้นไม้ทุกสัปดาห์ในช่วงเวลาที่แดดหมดแล้ว จะได้ผลดีที่สุด

จากแปลงปลูกสู่มือประชาชน

ภายในแปลงเพาะชําของคณะผลิตกรรมการเกษตรแห่งนี้เป็นที่ปลูกพืชซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการทําสมุนไพรไล่แมลง เช่น ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ไพล กระชายดํา โดยที่นี่เป็นทั้งที่เพาะขยายพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์ ไปจนถึงทดลองแปรรูปสมุนไพรในรูปแบบต่างๆ เช่น น้ํามันหอมระเหย พร้อมกับเป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจมาศึกษาจนสามารถนําไปเพาะปลูกเองได้ต่อไป

หลายคนอาจสงสัยว่าการปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อสร้างพันธุ์ใหม่หรือเพื่อให้พืชกลายพันธุ์นั้นมีจุดประสงค์เพื่ออะไร อาจารย์เทิดศักดิ์ขยายความให้ฟังว่า เพื่อให้พืชมีสารที่เราต้องการใช้มากขึ้นกว่าเดิม โดยจะใช้รังสีแกมมาทําให้เกิดการตกค้างที่ทําให้เซลล์หรือสารพันธุกรรมพวกดีเอ็นเอหรือโครโมโซมของพืชเสื่อมสภาพและแตกหัก พอต้นไม้เครียดก็จะสร้างสารออกมาในปริมาณที่มากขึ้นจนกลายพันธุ์ไปเอง จากนั้นจึงต้องคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม เพื่อนําไปแจกจ่ายให้เกษตรกรหรือหน่วยงานที่ต้องการใช้ต่อไป

ตะไคร้หอมเป็นพืชคนละชนิดกับตะไคร้ที่ใช้ประกอบอาหาร แม้เป็นต้นไม้ที่มีหัว แต่ส่วนที่ใช้สกัดทําน้ํามันหอมระเหยคือใบ ซึ่งสามารถปลูกเป็นแนวรั้วเพื่อให้กลิ่นฉุนของใบไล่ยุงได้

ตะไคร้หอม 

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbopogon nardus (Linn.) Rendle

ตะไคร้หอมเป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีเหง้าใต้ดิน พืชชนิดนี้กําลังเป็นที่สนใจเนื่องจากใบมีสารซิโทรเนลลา(Citronella) ซึ่งมีฤทธิ์ทําให้ยุงและแมลงศัตรูพืชเบื่ออาหารหรือตายภายใน 34 วัน อีกทั้งยังทนแล้งได้ดี และลงทุนไม่สูงนัก หลังจากปลูกเพียง 6 เดือนก็สามารถเก็บผลผลิตได้ โดยการตัดใบประมาณ 1/3 จากนั้นต้นจะแตกใบใหม่และพร้อมให้ตัดใหม่ทุก 3 เดือน โดยพื้นที่ปลูกขนาด 1x5 เมตร จะให้ผลผลิตประมาณ 7 กิโลกรัม นําไปสกัดน้ํามันได้ประมาณ 100 มิลลิลิตร ซึ่งปัจจุบันราคาตลาดอยู่ที่ลิตรละ 5,0007,000 บาท ถ้าจะปลูกเพื่อการค้าทุก 3 ปี ต้องโค่นต้นแล้วปลูกใหม่ เพราะรากพืชจะลอยขึ้นมาเรื่อยๆอีกทั้งใบจะมีขนาดเล็กลง ซึ่งก็จะให้น้ํามันหอมน้อยลงตามไปด้วย

วิธีสกัดสารจากใบตะไคร้หอม ทางมหาวิทยาลัยจะใช้เครื่องกลั่นไอน้ํา ซึ่งหากไม่ใช้เครื่องดังกล่าวต้องใช้วิธีต้มในซึ้งและคลุมด้วยฝาที่ต่อท่อให้ไอน้ําผ่านลงไปยังภาชนะบรรจุน้ํามันอีกด้านหนึ่งที่วางอยู่บนน้ําแข็ง 

สูตรสมุนไพรไล่แมลงจากตะไคร้หอม

สูตร 1 บดใบตะไคร้หอมสด เหง้าข่าสด และใบสะเดาสดให้ละเอียด นํามาผสมกันในอัตราส่วนชนิดละ 5 กิโลกรัม ต่อน้ําปริมาณ 20 ลิตร นําไปแช่ทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นกรองเอาเฉพาะน้ําที่เป็นหัวเชื้อเวลานําไปใช้งานให้ผสมหัวเชื้อ 10 ช้อนแกงเข้ากับน้ํา 20 ลิตร นําไปฉีดกําจัดแมลงในพืชผัก ข้าว และไม้ผลบางชนิด เช่น ส้มเขียวหวาน

สูตร 2 หั่นเหง้าและใบตะไคร้หอมประมาณครึ่งกิโลกรัมเป็นชิ้นเล็กๆจากนั้นบดให้ละเอียด นํามาผสมน้ําปริมาณ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 วัน จากนั้นกรองเอาแต่น้ํา นําไปฉีดพ่นป้องกันและกําจัดหนอนกระทู้ หนอนใยผัก

สูตร 3 ผสมน้ํามันตะไคร้หอมกับแอลกอฮอล์และน้ํากลั่น อัตราส่วน 1 : 10 : 10 ฉีดพ่นไล่ยุงได้หลายชนิด เช่น ยุงก้นปล่อง ยุงลายยุงรําคาญ

แม้ขมิ้นชันจะเป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในที่มีแดดรําไร แต่การปลูกกลางแดดช่วยให้ขมิ้นผลิตสารเคอร์คูมินที่ช่วยกําจัดแมลงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

ขมิ้นชัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma Longa Linn.

ขมิ้นชันเป็นพืชล้มลุกที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ส่วนเหง้ามีสารสีเหลืองชื่อเคอร์คูมิน (Curcumin) ช่วยป้องกันและกําจัดแมลงจําพวกหนอน ด้วง-แมลงวัน ไรแดง รวมถึงแบคทีเรียและเชื้อราด้วย นอกจากนี้ยังปลูกร่วมกับไพลและกระชายดําที่มีสรรพคุณเหมือนกัน ขมิ้นชันและไพลสามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีแสงแดดรําไร นิยมปลูกในที่ร่ม แต่สารสกัดที่ได้จะมีคุณภาพน้อยกว่า ดังนั้นจึงควรปลูกกลางแดด ซึ่งต้นไม้ดังกล่าวสามารถทนแดดได้ แต่กระชายดําต้องปลูกในร่มเท่านั้น หรือปลูกแซมกับต้นไม้ใหญ่ได้

วิธีสกัดคือ นําเหง้าขมิ้นชันไปล้าง ปอกเปลือก หั่น แล้วนําไปตากแดด ก่อนบดด้วยเครื่องปั่นให้เป็นผงจะช่วยให้เก็บได้นานขึ้นหากรู้สึกไม่สบายท้องหลังมื้ออาหารก็สามารถรับประทานขมิ้นสดช่วยแก้อาการท้องอืดได้ หรือหากเป็นผดผื่นก็ให้ผสมผงขมิ้นกับแอลกอฮอล์40เปอร์เซ็นต์ แล้วนํามาทา ส่วนไพลสกัดโดยตั้งเตาแก๊สแล้วนําเหง้าที่หั่นลงไปเคี่ยวกับน้ํามันพืช ให้น้ํามันพืชเข้าไปดึงน้ํามันของไพลออกมามีสรรพคุณแก้ปวดเมื่อยและช่วยรักษาแผลแมลงกัดต่อย นอกจากนี้ยังให้ดอกสวยงามสามารถตัดขายได้อีกด้วย

ส่วนที่ใช้กําจัดศัตรูพืชของขมิ้นชันคือเหง้า ซึ่งเก็บเกี่ยวได้เพียงปีละครั้ง จากนั้นจะพักตัวในช่วงฤดูแล้ง โดยสามารถเก็บหัวไว้ในตู้เย็นเวลาใช้งานจึงค่อยนําออกมา หรือจะตากแห้งแล้วนํามาบดก็ได้

สูตรสมุนไพรไล่แมลงจากขมิ้นชัน

สูตร 1 โขลกเหง้าแก่ของขมิ้นชันสดประมาณครึ่งกิโลกรัมให้ละเอียดนําไปผสมกับน้ํา 20 ลิตร ทิ้งไว้ 1 คืน กรองเอาแต่น้ําไปฉีดพ่นแปลงผักช่วยป้องกันและกําจัดแมลงได้หลายชนิด เช่น หนอนหลอดหอม หนอนกระทู้ผัก หนอนใยผัก หนอนแมลงวันเจาะต้นถั่ว หนอนเจาะยอดกะหล่ํา และหนอนผีเสื้อต่างๆ

สูตร 2 โขลกเหง้าแก่ของขมิ้นชันสดประมาณครึ่งกิโลกรัมให้ละเอียดหมักกับน้ํา 2 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 คืน กรองเอาแต่น้ําจะได้สารเข้มข้นแล้วนําสารที่ได้นี้ไปผสมกับน้ํา 8 ลิตรเพื่อฉีดพ่นแปลงผัก สามารถไล่พวกหนอนใยผักและหนอนหลอดหอมได้ผลดี

ไพลยังช่วยระงับพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ นอกจากนี้ยังสามารถตัดดอกขายได้อีกด้วย

ข้อจํากัดของสมุนไพรไล่แมลง

ที่จริงแล้วพืชสมุนไพรหลายชนิดในบ้านเรามีสรรพคุณช่วยไล่และกําจัดแมลงได้เป็นอย่างดี บางชนิดสามารถปลูกแทรกในแปลงหรือตามแนวรั้วเพื่อสร้างกลิ่นฉุนช่วยป้องกันแมลงได้ระดับหนึ่ง เช่น ตะไคร้หอมตะไคร้ ฟ้าทะลายโจร ชะอม หากเป็นน้ําสมุนไพรที่หมัก เมื่อฉีดไปโดนแมลงก็จะออกฤทธิ์ทันที แต่ข้อจํากัดคือ น้ําสมุนไพรจะเกาะกับใบหรือต้นไม้ได้ไม่นาน แมลงตัวร้ายก็อาจกลับมาอีกได้ จึงจําเป็นต้องผสมสารเคลือบผิวอย่างน้ําสบู่หรือน้ํายาล้างจาน เพื่อให้น้ําสมุนไพรเกาะติดกับผิวต้นไม้และออกฤทธิ์ได้นานขึ้น

สําหรับผู้สนใจผลิตภัณฑ์หรือพืชสมุนไพรไล่แมลง สามารถติดต่ออาจารย์เทิดศักดิ์ได้โดยตรง แต่ของมีค่อนข้างจํากัด โดยส่วนใหญ่พืชที่มีตลอดก็คือขมิ้นชันกับตะไคร้หอม นอกจากนี้ยังสอนวิธีปลูกให้ด้วยซึ่งคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาก็มักเป็นเกษตรกรที่ปลูกเป็นกันอยู่แล้ว เพียงต้องการเข้ามาหาช่องทางการตลาดหรือวิธีแปรรูป

ติดต่ออาจารย์เทิดศักดิ์ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-7087-8448 หรืออีเมล [email protected]

ต้นขมิ้นชันที่เพาะในโรงเรือนสามารถขอกลับไปปลูกที่บ้านได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
อาจารย์เทิดศักดิ์ ณ โรงเรือนเพาะเลี้ยงและวิจัยสมุนไพรไล่แมลง

เรื่อง : “ปัญชัช”

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ําคํา