Studio Miti
ชีวิตธรรมดาใน บ้านไม้ใต้ถุนสูง
บ้านไม้ใต้ถุนสูง แบบไทยๆ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากบ้านทรงไทยมอญ เน้นการทำช่องเปิดเพื่อเป็นตัวดักความร้อน พร้อมวางแผนทำเกษตรผสมผสาน ให้อยู่แบบพึ่งพาตัวเองได้สบายๆ หากเปรียบต้นไม้เป็นประติมากรรมทางธรรมชาติ บ้านก็น่าจะเป็นประติมากรรมอย่างหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาในรูปแบบของสถาปัตยกรรมสำหรับให้อยู่อาศัยได้ โดยเฉพาะเมื่อสถาปัตยกรรมนั้นมีความอ่อนน้อมถ่อมตนที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทั้งยังนำประโยชน์จากธรรมชาติมาเกื้อกูลต่อชีวิตที่อยู่อาศัยได้อย่างดี เหมือนกับ บ้านไม้ใต้ถุนสูง หลังนี้ของ คุณเด่น-สายันต์ ทิพย์แสง หนุ่มเมืองใต้ และคุณมะลิ-อารมณ์ วิรัชศิลป์ สาวเมืองเหนือ ซึ่งตั้งใจสร้างขึ้นเพื่ออยู่อาศัยอย่างเรียบง่ายพร้อมๆไปกับวางแผนทำเกษตรกรรมแบบพอเพียงในพื้นที่รอบๆ บ้าน โดยปลูกไม้ใบ ไม้ผล พืชสวนครัว ควบคู่ไปกับการขุดบ่อเลี้ยงปลาและเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อสามารถใช้ชีวิตประจำวันธรรมดาแบบพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด จึงตั้งชื่อบ้านไว้ว่า “บ้านทำ-มะ-ดา” แรงบันดาลใจของ บ้านไม้ใต้ถุนสูง “เราอยากได้บ้านไม้และอยากอยู่บ้านไม้กันมานานแล้ว ก็เลยตั้งใจให้ คุณบั๊ม – ประกิจ กัณหา สถาปนิกแห่ง Studio Miti ช่วยออกแบบให้ ตอนแรกมีสองแบบ คือแบบที่วางแปลนรวมๆ กัน กับแบบนี้ที่แยกส่วนรับแขกและส่วนห้องนอนไว้อยู่คนละด้าน ซึ่งเราชอบแบบนี้เพราะดูเป็นสัดส่วนดี” นอกจากฟังก์ชันที่ตอบรับการใช้งานอย่างดีแล้ว รูปทรงของบ้านยังได้แรงบันดาลใจจากบ้านทรงไทยมอญของชุมชนใกล้เคียงมาปรับใช้ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการยกใต้ถุนสูงเพื่อเลี่ยงปัญหาพื้นที่น้ำท่วมถึง สถาปนิกจึงเพิ่มฟังก์ชันให้พื้นที่ใต้ถุนเป็นเหมือนชานนั่งเล่นและครัวเปิด ซึ่งคุณมะลิเล่าว่า “ตอนแรกว่าจะใช้แค่ปิ้งย่างเป็นบางครั้ง ส่วนครัวจริงอยู่ชั้นบน แต่พอย้ายมาอยู่เราใช้ครัวใต้ถุนเป็นครัวประจำบ้านไปเลย เพราะพื้นที่ตรงนี้โปร่งรับลมได้สบายตลอดทั้งวัน เลยกลายเป็นทั้งที่รับแขก ที่พักผ่อน ที่รับประทานอาหาร และศูนย์กลางของทุกคนในครอบครัว” การออกแบบ บ้านไม้ใต้ถุนสูง ให้อยู่สบาย ไม้สำหรับสร้างบ้านทั้งหมดเป็นไม้เต็งเก่าอายุราว 80 – 100 ปีที่เลือกซื้อมาจากอยุธยา ซึ่งต้องอาศัยเวลาและความใจเย็นในการคัดเลือกชุดไม้ให้ได้โทนสีและขนาดตามต้องการ […]