ปรับปรุงสวนเก่า ให้กลายเป็นสวนญี่ปุ่นในแบบฉบับดั้งเดิม

ด้วยหน้าที่การงานของ คุณต๊อด-พงษ์สิน พฤกษมาศน์ ที่มีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นบ่อยครั้ง ทั้งยังสนใจในศิลปวัฒนธรรมของชนชาตินี้ ทำให้สวนบนเนื้อที่กว่า 200 ตารางวารอบบ้านเต็มไปด้วยกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นในแบบฉบับดั้งเดิม ต่างจากสวนญี่ปุ่นที่เราเคยเห็นทั่วไป สวนนี้เป็นฝีมือการออกแบบและจัดสวนของ คุณภูริ-ภูริวัจน์  วรากิติยาวิโรจกุล แห่ง Wabisabi Spirit ซึ่งเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการจัดสวนให้ฟังว่า “คุณต๊อดทักมาที่เพจร้านผม เพื่อปรึกษาเรื่องสวนครับ คุยไปคุยมาก็ทราบว่าชอบเลี้ยงปลาคาร์ปเหมือนกัน เลยคุยกันถูกคอ เข้าใจอะไรตรงกันง่ายขึ้น ผมเข้าไปดูสวนที่บ้านคุณต๊อด ซึ่งเดิมเป็นสวนญี่ปุ่นอยู่แล้ว แต่ยังไม่ถูกต้องตามแบบฉบับสวนญี่ปุ่นดั้งเดิมเสียทีเดียว อีกทั้งสวนก็เริ่มโทรมแล้วด้วย คุณต๊อดเลยอยากปรับปรุงสวนใหม่ทั้งหมด “การทำงานออกแบบของผมอาจไม่ได้เริ่มที่ ลูกค้าต้องการอะไร แต่เริ่มจากผมมีอะไรมากกว่าครับ ผมมีของที่ต้องใช้สำหรับสวนญี่ปุ่นที่สั่งเข้ามาค่อนข้างมาก ผมเฟ้นหาและสะสมต้นไม้ในบ้านเราจากทั่วทุกภาคที่มีลักษณะใกล้เคียงกับต้นไม้ที่ต้องใช้ โดยไม่ต้องสั่งนำเข้าจากญี่ปุ่น เวลาไปคุยกับลูกค้าก็จะรู้ว่าเขาชอบอะไร อยากได้อะไร และผมมีอะไรที่จะนำมาใช้ได้ จึงค่อยออกแบบให้ลูกค้าสวนที่ได้ก็จะตรงใจกับที่สิ่งที่เขาต้องการครับ “คุณต๊อดให้อิสระในการออกแบบเต็มที่ส่งแบบที่ชอบให้ดู เริ่มจากซุ้มประตูหน้าบ้าน ผมดึงซุ้มประตูบ้านที่ญี่ปุ่นมาใช้  อยากสื่อถึงการต้อนรับเข้าบ้าน พื้นวางแผ่นหินแกรนิตเรียบ ๆ ที่เดินง่าย เป็นแผ่นแกรนิตโบราณอายุนับร้อยปี นำเข้าจากญี่ปุ่น  ผ่านรอยเกวียน รอยวัวเดินมาแล้ว จึงทำให้มีผิวเรียบลื่นและมันวาว ซึ่งในบ้านเราไม่มีครับ ส่วนที่เหลือโรยด้วยหินแม่น้ำของบ้านเรา สนใบพายต้นใหญ่ทรงบอนไซอายุกว่า 60 ปีเป็นต้นเดิมที่มีอยู่แล้ว ตกแต่งเพิ่มด้วยตะเกียงหิน หินประดับ และตุ๊กตาจิโซซัง (เทพผู้คุ้มครองเด็ก) “ทางเดินในสวนเป็นอีกจุดเด่นหนึ่งที่ตั้งใจนำมาใช้เล่าเรื่องในสวน ถัดจากซุ้มประตูเข้ามาจะเป็นทางเดินที่เรียกว่า ‘โนะเบะดัน’ จะเห็นได้ตามวังหรือวัดในญี่ปุ่น วางแผ่นแกรนิตโบราณและกรวดแม่น้ำในรูปแบบการวางหินตามตำราโบราณ มีลักษณะเป็นทางเดินที่ทอดยาวเป็นเส้นตรง เน้นให้เดินง่ายและเดินเร็วได้ สองข้างทางก็จะเล่าเรื่องของสวนภูเขา มีเนินมอสส์วางประดับด้วยหินที่สมมติว่าเป็นภูเขา แต่ด้วยความที่ทางเดินทอดยาวมากอาจทำให้รู้สึกน่าเบื่อ จึงต้องทำฉากไม้ไผ่ตกแต่งด้วยต้นไม้ขึ้นมากั้น เพื่อเรียกความสนใจระหว่างทาง ก่อนที่อารมณ์ของผู้เดินจะหลุดไปที่ท้ายสวนเร็วเกินไปครับ “ผ่านจากทางเดินโนะเบะดันแล้ว จะเปลี่ยนรูปแบบทางเดินใหม่ที่เรียกว่า ‘อะระเระโคะโปะชิ’จะใช้ก้อนหินทรายที่ขัดลบเหลี่ยมมาวางเรียงต่อกันแบบฟรีฟอร์ม ผมเรียงหินในรูปแบบที่ชื่อ‘มุชิกุย’ (หมายถึง แมลงกินใบไม้) หินจะมีลักษณะแหว่งๆ โค้ง ๆ ที่ขอบคล้ายใบไม้ที่ถูกแมลงแทะ ซึ่งเป็นทางเดินรูปแบบดั้งเดิมอีกเช่นกัน ด้านในสุดของสวนเป็นทางเดินแบบ‘โทบิอิชิ’ […]