Garden&Farm : Farming Together

งานบ้านและสวนแฟร์ select 2022 โซน Garden&Farm นำเสนอรูปแบบของไอเดียการทำฟาร์มในเมืองภายใต้แนวคิด Farming Together ผ่าน knowledge ของเหล่า Urban Farmer ทั้ง 7 คน ซึ่งล้วนแต่เต็มไปด้วย Passion เรียนรู้ ลงมือทำ จนประสบความสำเร็จปรากฎเป็นรูปธรรม

ความรู้จากเหล่าฟาร์มเมอร์ทั้ง 7 จะถูกถ่ายทอดจากประสบการณ์จริงสู่การสร้างสรรค์ในรูปแบบสวนครัวเชิงดีไซน์ เกิดเป็นเครือข่ายของการทำเกษตรในเมืองขนาดย่อม ที่ให้ทุกคนได้มาร่วมสนุกแลกเปลี่ยนความรู้ การปลูกผักจะกลายเป็นเรื่องสนุก ทำตามได้ และสร้างความสวยงามให้พื้นที่อยู่อาศัย

 

GA-01.1 ผักปลูกง่าย 50 วันได้กิน

หลักสูตรเร่งรัดในการปลูกผักให้ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตรวดเร็ว นอกจากเตรียมดินให้มีธาตุอาหารครบถ้วนแล้ว การเลือกปลูกผักที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีเสริมสร้างกำลังใจในการปลูกผักได้ ซึ่งผักกินใบเกือบทุกชนิด มีอายุเก็บเกี่ยวไม่เกิน 50 วัน

ผักกินใบ คือผักที่รับประทานส่วนใบ ลำต้น นับตั้งแต่ปลูกลงแปลงจะมีอายุเก็บเกี่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ 1-2 เดือน ส่วนอายุเพาะต้นกล้าอ่อนจะอยู่ที่ 7-10 วัน หรือมีใบงอก 4 ใบ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด มักเป็นผักอายุสั้น โตเร็ว เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง ตระกูลสลัดอย่างเรดโอ๊ก กรีนโอ๊ก คอส ผักกาดเขียว ชุนฉ่าย ผักกาดขาวใหญ่ คะน้า เบบี้กวางตุ้ง แรดิช ผักชี ผักโขม เป็นต้น

GA-02.1 ผักหาอาหารเก่ง ปลูกง่ายไม่ต้องปรุงดินใหม่

หลังการเก็บเกี่ยวผักในแปลง ลำดับต่อไปคือการปรับสภาพดินเก่าเพื่อปลูกผักเซตใหม่ ซึ่งในขั้นตอนการปรับสภาพดินนั้นต้องใช้เวลานานหลายเดือน แต่มีผักบางชนิด ที่หาอาหารเก่ง โตไว สามารถปลูกต่อแปลงดินเก่าได้ หากดินนั้นยังมีคุณภาพดี หรือหลังจากเก็บเกี่ยวพืชตระกูลทั่ว อย่างถั่วพุ่ม ถั่วฝักยาว ถั่วแระ ก็สามารถปลูกผักกินใบต่างๆ ตามได้ เช่น ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง ผักสลัด ชุนฉ่าย หอมแบ่ง ผักชี เป็นต้น

 

GA-03.1 ผักพี่เลี้ยง ปลูกคู่ให้ดูแลกัน

โดยทั่วไปแล้วหลายคนอาจจะรู้จัก พืชคู่หู (Good Companion Planting) คือพืชที่ปลูกใกล้กันแล้วจะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งผักคู่กันจะเป็นทั้งร่มเงาให้กัน ช่วยไล่ศัตรูพืชให้กันและกัน ไม่แย่งธาตุอาหาร ทั้งยังช่วยผสมเกสรให้ออกผลได้มากขึ้นด้วย เมื่อปลูกรวมในแปลงเดียวกันแล้วยังเป็นการสร้างความหลากหลายในระบบนิเวศ แต่รู้หรือไม่ ยังมี ผักพี่เลี้ยง (อายุเก็บเกี่ยวสั้น) ที่สามารถปลูกร่วมแปลงเดียวกันกับผักหลัก(มีอายุเก็บเกี่ยวนาน) เพื่อรอให้ผักที่ปลูกเติบโตจนถึงอายุเก็บเกี่ยว

– ปลูกผักชี ต้นหอม สะระแหน่ ร่วมกับผักขึ้นค้าง เช่น ฟักทอง บวบ ฟัก แฟง ถั่วฝักยาว มะระ แตงกวา โดยปลูกใต้ค้าง

– ปลูกผักชี ต้นหอม ร่วมกับ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อกโคลี ผักสลัด กวางตุ้ง แครอท คะน้า หัวไชเท้า โดยปลูกร่วมในแปลงเดียวกัน

 

GA-04.1 ผักปลูกแล้วคุ้ม ครั้งเดียวเก็บกินได้นาน

ผักกินผลส่วนใหญ่มีอายุหลายปี ปลูกครั้งเดียวเก็บกินได้นาน เช่น มะเขือเปราะ พริกขี้หนูสวน พริกชี้ฟ้า มะเขือพวง ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะนาว ขจร ถั่วพู และผักกินใบอื่นๆ ที่เก็บกินได้นานด้วย เช่น กะเพรา โหระพา แมงลัก ยี่หร่า ผักชีลาว ชะอม ผักหวานบ้าน ผักเหลียง เป็นต้น

 

GA-05.1 ดอกไม้ล่อแมลงดี

ปลูกดอกไม้รอบๆ แปลงผัก นอกจากจะเพิ่มความสวยงามให้สวนครัวได้แล้ว ยังช่วยล่อแมลงดีช่วยควบคุมแมลงศัตรูได้ โดยสีของดอกไม้จะช่วยดึงดูดให้แมลงตัวห้ำและตัวเบียนเข้ามาอยู่ในแปลง แล้วทำลายแมลงปากกัดและแมลงปากดูด ซึ่งเป็นแมลงศัตรูธรรมชาติต่อกัน

การเลือกปลูกดอกไม้ อาจเลือกชนิดที่ดอกสีสด ๆ เช่น ดาวเรือง ดาวกระจาย บานชื่น บานไม่รู้โรย ทานตะวัน รวมถึงปลูกผักที่มีรสขม รสเผ็ด หรือมีกลิ่นฉุน เช่น กะเพรา โหระพา แมงลัก ผักชี ต้นหอม ตะไคร้หอม บริเวณหัวแปลงก็ช่วยไล่แมลงได้อีกทางด้วย

โดยทั่วไปแล้วมีวิธีป้องกันและกำจัดแมลงในสวนผักมีหลายวิธีให้เลือก เช่น

1.การเขตกรรม เป็นวิธีวางแผนการปลูกพืช เช่น การปลูกพืชหมุนเวียนสลับไปมาในแต่ละปี การปลูกพืชล่อแมลง พลิกไถดินเพื่อให้ความร้อนจากแสงแดดทำลายไข่ของแมลงและเชื้อโรคต่าง ๆ

2.วิธีกล เป็นเทคนิคป้องกันกำจัดแมลง เช่น กับดักแมลงที่ใช้แสงไฟล่อหรือใช้กาว

3.ชีววิธี (Biological Method) เป็นวิธีที่ให้สิ่งมีชีวิตกำจัดสิ่งมีชีวิตด้วยกัน เช่น การใช้มวนเพชฌฆาตแดงดำและแตนเบียนที่คอยกินตัวหนอนในแปลงผัก การใช้เชื้อราไทรโคเดอร์มา (Trichoderma) กำจัดเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคพืช

4.การใช้สารเคมี ควรใช้เมื่อไม่สามารถป้องกันกำจัดด้วยวิธีข้างต้น

ทั้งนี้หากมีแมลงทำลายไม่มาก ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีฉีดพ่นอาจใช้วิธีกลในการกำจัด ซึ่งมีหลายวิธีให้เลือก ได้แก่ใช้มือจับออก วิธีนี้สามารถใช้ได้กับพวกเพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน หนอนกัดกินใบ หรือแมลงอื่น ๆ ที่เคลื่อนไหวช้าหรือไม่มีปีก ใช้สารสกัดจากธรรมชาติฉีดพ่น เช่น สารสกัดจากสะเดาน้ำแช่ยาฉุน (ยาสูบ) น้ำผสมพริกไทย น้ำสกัดชีวภาพ น้ำผสมพริกแกง แต่สารจากธรรมชาติจะมีฤทธิ์ในช่วงสั้น ๆ และถูกชะล้างได้ง่าย ต้องฉีดพ่นทุกสัปดาห์ หรือผสมสารจับใบที่ช่วยให้ตัวยาจับบนใบได้นานขึ้น เช่น น้ำยาล้างจานน้ำสบู่ หรือผงซักฟอก เป็นต้น

เรียนรู้วิธีกำจัดแมลงศัตรูพืชเพิ่มเติมได้จากหนังสืMy Little Farm Vol.6 สมุนไพรไล่แมลง ทำใช้เองแบบง่ายๆ

 

GA-06.1 ดอกไม้ ใบไม้ รสชาติเหมือนผลไม้ 

การเลือกดอกไม้มาใช้เมนูแต่ละประเภทจะต้องใช้แตกต่างกัน แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มอาหารคาว จะเลือกใช้ดอกผักซึ่งดอกผักหรือดอกผลไม้จะให้รสชาติเหมือนผักหรือผลไม้ชนิดนั้นๆ มีกลิ่นหรือรสชาติที่โดดเด่น เพื่อใช้เติมแต่งให้รสชาติของแต่ละเมนูมีมิติมากขึ้น ที่นิยมเช่น ดอกโหระพา ดอกพริก ดอกผักชีลาว ดอกผักลีล้อม ดอกต้นหอม อีกกลุ่มคือใช้ตกแต่งขนมเค้ก ในคาเฟ่หรือบาร์ จะใช้ดอกไม้ที่ไม่มีกลิ่นหรือไม่มีรสชาติ หรือมีอ่อนๆ ไม่ให้กลิ่นรบกวนขนมเค้กหรือเครื่องดื่ม อย่างพวงชมพู พวงชมพูดอกขาว หางนกยูงไทย เล็บมือนาง ช่อม่วง อเมริกันบิวตี้

ไม่เพียงเท่านั้น ฟาร์มสุขดอกไม้ไทย ได้แนะนำอีกมิติของการกินดอกไม้ ด้วย “ดอกไม้ ใบไม้ ที่ให้รสชาติเหมือนผลไม้”

-ผีเสื้อราตรี รสชาติเปรี้ยวเหมือนตะลิงปลิง

-ดาวกระจายป่า (Ulam Raja) รสชาติเปรี้ยวมัน เหมือนมะม่วงเขียวเสวย

-กล้วยไม้ตระกูลเอื้อง รสชาติเหมือนแตงโมง

-มะรุม รสชาติเหมือนมะขามเทศ

-ผักกาดหิ่น รสชาติเหมือนวาซาบิ

-มาการ์เร็ต รสชาติอมเปรี้ยว

GA-07.1 วิธีทำแปลงอะควาโปนิกส์แบบ Hybrid System

อะควาโปนิกส์ เป็นรูปแบบการปลูกพืชที่ประยุกต์มาจากการปลูกพืชด้วยน้ำหรือไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) ผสมผสานกับการเลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำ (Aquaculture) โดยใช้น้ำที่เป็นของเสียจากการเลี้ยงปลา ผ่านกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติโดยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เปลี่ยนของเสียจากปลาให้เป็นปุ๋ยของพืช และบำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำดีเหมาะแก่การเลี้ยงปลา เกิดเป็นระบบนิเวศแบบพึ่งพากันของสิ่งมีชีวิต วิธีการในส่วนของการปลูกผักในระบบอะควาโปนิกส์มี 2 วิธีหลัก ๆ คือ การปลูกพืชในน้ำ (Water Culture) และการปลูกพืชในวัสดุปลูก (Grow Bed)

อะควาโปนิกส์แบบ Hybrid system หรือระบบลูกผสม คือมีทั้งแปลงปลูกแบบน้ำลึก (Deep Water Culture: DWC) และแปลงปลูกแบบที่ใช้วัสดุปลูก (Media bed) สองอย่างในระบบเดียว ส่วนแปลงดินออกแบบแปลงปลูกแบบวิคกิ้ง (Wicking Bed) ซึ่งพืชผักได้รับน้ำทางรากอย่างทั่วถึง

แปลงปลูกผักแบบน้ำลึก (Deep Water Culture: DWC) ใช้แผ่นโฟมเจาะรูให้เท่ากับขนาดของถ้วยปลูก การปลูกแบบนี้รากพืชจะจุ่มอยู่ในน้ำทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีการเติมอากาศเพิ่มปริมาณออกซิเจนลงในแปลงปลูกเพื่อป้องกันรากพืชเน่า และควรใช้กระบะหรือภาชนะปลูกที่มีความลึกอย่างน้อย 30 เซนติเมตร ข้อดีของระบบนี้คือ ปริมาตรของน้ำในกระบะปลูกมาก ทำให้อุณหภูมิของน้ำไม่สูง พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี

แปลงปลูกแบบที่ใช้วัสดุปลูก (Media Bed) ติดตั้งกาลักน้ำ นิยมออกแบบระบบโดยใช้หลักการน้ำขึ้น-น้ำลง (Flood and Drain: FAD) ซึ่งเป็นเทคนิคที่สามารถติดตั้งง่าย วัสดุปลูกทำหน้าที่พยุงลำต้นพืชและเป็นตัวกรองชีวภาพช่วยกักเก็บธาตุอาหารให้แก่พืช การไหลเวียนของน้ำอาศัยปั๊มทำหน้าที่ดูดน้ำจากถังพักน้ำเติมลงในแปลงปลูก กระทั่งถึงระดับที่กาลักน้ำทำงาน น้ำจะไหลลงสู่ถังพักและกลับไปยังบ่อเลี้ยงปลา แล้วถูกปั๊มกลับขึ้นไปในแปลงปลูกใหม่ หมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง หัวใจหลักของระบบน้ำขึ้นน้ำลงก็คือ ระหว่างที่กาลักน้ำทำงาน เทน้ำออกจากกระบะหรือแปลงปลูก น้ำที่ไหลออกจากกระบะอย่างรวดเร็วจะทำให้รากพืชได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่ ยังสามารถใช้การตั้งเวลาที่ตัวปั๊มน้ำ เพื่อให้เปิดปิดน้ำใส่กระบะโดยอัตโนมัติได้อีกด้วย

แปลงปลูกแบบวิคกิ้ง (Wicking Bed) ซึ่งพืชผักได้รับน้ำทางรากอย่างทั่วถึง เสมือนมีอ่างเก็บน้ำใต้ดินที่มีชั้นหินเป็นแหล่งกักเก็บ ดินชั้นล่างจะค่อย ๆ ดูดซับความชื้นขึ้นมาทำให้ดินด้านบนมีความชุ่มชื้นตลอดเวลา รากของพืชผักจึงได้รับน้ำอย่างทั่วถึง รวดเร็ว ช่วยลดเวลาในการให้น้ำและช่วยประหยัดน้ำไปในตัว

เรียนรู้การทำอะควาโปรนิกส์ให้เข้าใจและทำตามได้จากหนังสือ คู่มือปลูกพืชไม่ใช้ดินและอะควาโปนิกส์อย่างง่าย

 

 

GA-08.1 แจกแบบ เล้าไก่เคลื่อนที่

การทำเล้าไก่สำหรับให้แม่ไก่อยู่อาศัย อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องคำนึงคือการแบ่งโซน เพื่อต้องสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมโดยแบ่งเป็น โซนที่ใช้อาบแดด 20% ของพื้นที่ ให้มีแสง 100% ลม 100% โซนที่ให้อาหารขนาด 30% ของพื้นที่ เป็นโซนที่กรองแสง 50% โดยใช้ครึ่งหนึ่งเป็นหลังคาทึบ ครึ่งหนึ่งเป็นหลังคาโปร่งแสง มีลมโกรก อีกส่วนหนึ่งคือทึบแสง 50% ของพื้นที่สำหรับให้ไก่ได้นอนออกไข่ โดยเล้าไก่ต้องอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัย ไม่มีสุนัขหรือสัตว์ร้ายเข้ามาทำร้ายไก่ได้

เล้าไก่เคลื่อนที่ อีกหนึ่งรูปแบบการสร้างเลาไก่สำหรับคนเมือง ที่สามารถเคลื่อนย้ายไปยังตำแหน่งต่างๆ รอบบ้านได้ ขนาด 90 x 120 x 130 เซนติเมตร สามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้ 2 ตัว ตัวเล้าไก่เคลื่อนที่ออกมาเพื่อเป็นส่วนให้ไก่นอนและออกไข่เป็นหลัก จึงมีพื้นที่สำหรับเปิดเก็บไข่พร้อมคอนไก่ให้เกาะนอนภายใน

ดาวน์โหลดแบบเล้าไก่ได้ฟรี!!!

อยากเลี้ยงไก่ไข่ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้จากหนังสือ คู่มือเลี้ยงไก่ในบ้าน สร้างเล้าไก่ในฝัน

GA-09.1 วิธีจัดสวนครัวให้เป็นสวนสวย

การจัดสวนครัวนิยมจำแนกประเภทของพืชพรรณตามความสูงเพื่อสะดวกในการใช้งาน พืชที่ความสูงมากและมีพุ่มใบเหนือศีรษะเหมาะกับการให้ร่มเงา พืชที่สูงกว่าระดับสายตาและมีพุ่มหนาแน่นจากยอดถึงโคนเหมาะใช้กันสายตา บดบังสิ่งที่ไม่สวยงาม หรือกั้นขอบเขตพืชที่มีระดับต่ำลงมาถึงระดับเข่าใช้กั้นขอบเขตหรือนำสายตา ส่วนพืชที่ต่ำกว่าเข่าลงมาเหมาะสำหรับใช้แสดงขอบเขตในแนวราบ ใช้เป็นแปลงเล่นสีสันประกอบในสวน พืชที่เลี้อยพันขึ้นในแนวสูงใช้บังกำแพง โดยสรุปแล้วถ้าเราต้องคำนึงถึงนิสัยในการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิดด้วย แต่จะจัดอย่างไรให้สวยมีหลักการง่ายๆ คือ ใช้ความรู้ด้านศิลปะและความมีใจรักในการปลูกพืชมาผสมผสานดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพและขนาดของพื้นที่ที่จะจัดสวน ทั้งการใช้เส้น สี ผิวสัมผัส มาเป็นองค์ประกอบในการจัดสวน ช่วยให้ภาพของพื้นที่ดูใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงได้

ทฤษฎีสามเหลี่ยม (Basic Triangle) เป็นการจัดวางองค์ประกอบต่างๆให้มีจังหวะสูงต่ำ ทำให้ดูไม่แข็งเป็นแนวตรงหรือเหมือนสวนแบบประดิษฐ์จนเกินไป เราต้องพิจารณาทั้งในแนวระนาบ (แปลน) และแนวตั้ง (รูปด้าน) ซึ่งสามารถสังเกตได้ว่า การจัดวางองค์ประกอบมักเป็นเลขคี่

 

GA-10.1 สูตรผสมดินปลูกสมุนไพรฝรั่ง

สวนครัวในเมืองหลายแห่งนิยมปลูกสมุนไพรฝรั่งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมินต์ ไทม์ ออริกาโน ลาเวนเดอร์ และพืชปราบเซียนอย่างโรสแมรี่ ซึ่งสมุนไพรฝรั่งเหล่านี้ใช้ทั้งเป็นส่วนเครื่องเทศในอาหารคาว และเป็นพืชให้กลิ่นในเครื่องดื่มเพิ่มความสดชื่น แต่หลายต่อหลายครั้งคนเมืองมักท้อแท้ที่จะปลูกต่อเพราะความล้มเหลวด้วยเหตุผลหลายประการ หนึ่งในนั่นคือ ดินปลูก

ตามธรรมชาติของสมุนไพรฝรั่ง ส่วนใหญ่จะชอบ ดินชื้นแต่ไม่แฉะ นั่นหมายความว่าวัสดุปลูกจะต้องโปร่ง ร่วน ระบายน้ำดี โดยส่วนผสมที่แนะนำคือ กาบมะพร้าวสับ 3 ส่วน ดินร่วน 1 ส่วน แกลบดิบเก่าและแกลบเผา 1 ส่วน หากปลูกในกระถางรองก้นกระถางด้วยกาบมะพร้าวสับอีกชั้นจะช่วยให้ระบายน้ำได้ดีขึ้น ส่วนวิธีสังเกตว่าดินชื้นแต่ไม่แฉะเป็นอย่างไรนั้น ให้เอานิ้วจิ้มลงในดินปลูกหากรู้สึกถึงความเย็นเป็นอันว่าใช้ได้

อยากปลูกสมุนไพรฝรั่งให้รอด หาความรู้ได้จากหนังสือ My Little Farm VOL.9 สมุนไพรฝรั่ง