10 ดีไซเนอร์ไทยที่ต่อยอดงานคราฟต์ชุมชนสู่งานดีไซน์อินเตอร์

7. คุณภารดี – คุณภิรดา เสนีวงศ์ ณ อยุธยา และคุณชินภานุ อธิชาธนบดี – Trimode Studio

Trimode Studio เกิดจากการรวมตัวของ 3 คนรุ่นใหม่ฝีมือดี ได้แก่ คุณภารดี – คุณภิรดา เสนีวงศ์ ณ อยุธยา (มัณฑนากรและนักออกแบบจิเวลรี่) และคุณชินภานุ อธิชาธนบดี (มัณฑนากร) ซึ่งแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ และความชำนาญในด้านการออกแบบภายใน ออกแบบจิเวลรี และออกแบบผลิตภัณฑ์ จนกลายเป็นจุดแข็งของแบรนด์ที่สามารถต่อยอดเป็นผลงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานตกแต่งภายใน ของตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงเครื่องประดับ เกิดเป็นนวัตกรรมสุดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการนำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทยมาตีความใหม่ให้เป็นงานออกแบบร่วมสมัย ล่าสุดพวกเขาเพิ่งเปิดตัวแบรนด์ใหม่ลำดับที่สาม TRIMODE.C ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ที่ผสมผสานภูมิปัญญางานคราฟต์ร่วมสมัย

มุมมองที่มีต่องานคราฟต์

“คราฟต์คือวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนจากรุ่นสู่รุ่นที่ส่งต่อกันมา ในยุคปัจจุบันที่ทุกสิ่งทุกอย่างดูรวดเร็ว เรารู้สึกว่างานคราฟต์เข้ามาช่วยเพิ่มคุณค่าให้สิ่งของและการดำเนินชีวิต นอกจากนี้คราฟต์คือความพิถีพิถันและความใส่ใจที่ช่วยเติมเต็มให้ชีวิตมีความสุนทรีย์มากขึ้น เราเชื่อในเรื่องความสมดุล หลายปีที่ผ่านมาผู้คนเริ่มถวิลหาสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามเพื่อหาความสมดุลในชีวิต ดังนั้นไม่ว่าโลกจะพัฒนาไปอย่างไร เราคิดว่างานคราฟต์ก็ยังคงอยู่”

ร่วมงานคราฟต์กับชุมชน

“เมื่อสิบกว่าปีก่อน เราได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์โอทอปให้ชาวบ้านในหลายจังหวัด ก็ทำให้เห็นว่าไทยเรามีภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัสดุที่ดี แต่ยังไม่สามารถนำมาปรับให้เข้ากับการใช้งานในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงเป็นได้แค่ของประดับหรือของที่ระลึกที่ตั้งโชว์ในตู้  มันดูไม่มีชีวิต การลงไปเรียนรู้กับหลายชุมชนทำให้เราได้ความรู้เยอะมาก ยิ่งได้เข้าไปสัมผัส ก็กลายเป็นความท้าทายและสนุกที่จะได้เห็นความเป็นไปได้ของงานออกแบบ และก็ย้อนกลับมาสู่คำถามเดิมว่าจะทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์นั้นๆสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ เราจึงใช้ความเป็นนักออกแบบมารวมกับภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อต่อยอดสิ่งใหม่ๆที่แม้ไม่ใช่งานคราฟต์แบบดั้งเดิม แต่ยังคงเก็บคุณค่าของงานคราฟต์เอาไว้และยังสามารถใช้งานได้จริงด้วย” 

ต่อยอดงานคราฟต์สู่อนาคต

“งานคราฟต์นั้นมีความคลาสสิกอยู่ในตัวเอง เราอาจต้องนำมาออกแบบให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เช่น นำงานคราฟต์เดิมมาผสมผสานกับวัสดุใหม่ หรือนำวัสดุเดิมมาใส่นวัตกรรม เพื่อให้เกิดการ Cross กับอะไรบางอย่างที่เป็นแนวทางใหม่ เราต้องหาระบบและอะไรบางอย่างที่เหมาะสมกับฤดูกาลและวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งทำงานคราฟต์เป็นอาชีพเสริมหรืองานอดิเรก เราไม่อยากจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงตรงนี้ แต่เราพยายามสร้างข้อจำกัดให้เกิดคุณค่าขึ้น คุณค่าของงานคราฟต์คือระยะเวลา เราจะทำอย่างไรให้ระยะเวลาของการรอคอยนั้นมีคุณค่า ดังนั้นงานคราฟต์ในยุคต่อไปอาจต้องมีแอพพลิเคชั่นที่เวลาลูกค้าสั่งซื้อก็สามารถบอกขั้นตอนได้ว่าผลิตถึงขั้นไหนแล้ว อีกทั้งระบุได้ว่าผลิตจากที่ไหน แล้วงานคราฟต์นั้นๆจะมีคุณค่าและเข้ากับยุคปัจจุบัน”

8. พลอยพรรณ ธีรชัย และเดชา อรรจนานันท์  – Thinkk Studio

สองนักคิด / นักออกแบบมากประสบการณ์แห่ง Thinkk Studio ซึ่งมีหลากหลายผลงานที่เคยคว้ารางวัลทั้งในไทยและต่างประเทศมาแล้วมากมาย แถมปีที่ผ่านมายังได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในตัวแทน  แบรนด์ไทยไปจัดแสดงผลงานที่งาน Milan Design Week 2017 ณ ประเทศอิตาลี จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันบัดดี้หัวก้าวหน้าคู่นี้ถึงเนื้อหอม มีงานรอจ่อคิวยาวเป็นหางว่าว ไม่ว่าจะรับบทบาทเป็นที่ปรึกษาให้แบรนด์ต่างๆ งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ หรืองานออกแบบตกแต่งภายใน ทว่าพวกเขาก็ไม่ละทิ้งงานเพื่อสังคม เจียดเวลาเข้าร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กับชุมชนมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

มุมมองที่มีต่องานคราฟต์

“งานคราฟต์เป็นงานที่ต้องอาศัยกระบวนการคิด ทักษะบวกกับฝีมือ ไม่ใช่มีเพียงแค่ในประเทศ งานประเภทนี้แต่ละที่ทั่วโลกล้วนมีเอกลักษณ์แตกต่างกัน ส่วนประเทศเรามีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว แค่รู้จักประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย ก็จะสามารถสร้างอัตลักษณ์ และแข่งขันในตลาดโลกได้ ทำให้งานคราฟต์ที่เมื่อก่อนเคยเป็นของใช้ทั่วไปและกำลังจะกลายเป็นแค่ของชำร่วย ไม่เลือนหายไปจากคนยุคปัจจุบัน”

ร่วมงานคราฟต์กับชุมชน

Thinkk Studio ทำงานคราฟต์ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศศป.) มาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว จากการได้คลุกคลีกับหลายๆ ชุมชนที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เรียนรู้งานคราฟต์ได้ลึกซึ้งมากขึ้น กระทั่งปัจจุบันจุดประกายให้เรานำงานที่คิดมาสานต่อร่วมกับชุมชนด้วยตัวเองหลายงาน ล่าสุดได้มีโอกาสไปพัฒนางานเบญจรงค์ให้ชุมชนดอนไก่ดี ซึ่งเราก็เข้าไปสำรวจก่อน จนทราบว่าที่นั่นเขียนลายโบราณได้หลายเทคนิคทีเดียว ขาดแต่เรื่องการสร้างเอกลักษณ์เท่านั้น  เราจึงนำเทคนิคจากการเขียนลายที่เขาถนัดอยู่แล้ว ระหว่างลายเบญจมาสในสมัยรัชกาลที่ 3 มาผสมผสานกับการเขียนทองในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อสร้างเป็นลายใหม่ เกิดเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร”

ต่อยอดงานคราฟต์สู่อนาคต

“พวกเรากำลังโฟกัสการต่อยอดงานกับชุมชนอยู่แล้ว เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่สามารถช่วยคนหลายคนให้มีรายได้  ด้วยการคิดและหาวิธีการผลิตสินค้าในชุมชนให้เกิดมูลค่าทั้งทางด้านวัตถุและทางด้านจิตใจ โดยประยุกต์เข้ากับไอเดียใหม่ๆ เพื่อให้กลายเป็นสิ่งของที่อยู่ในบริบทปัจจุบันได้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ใช้และทิ้งไป แต่จะทำให้งานคราฟต์สามารถเล่าได้ว่า ฉันชอบเพราะอะไร ได้จากที่ไหน ใครเป็นคนผลิต ล่าสุดเราก็มีคุยงาน CSR ร่วมกับบริษัทต่างๆ ซึ่งชวนไปทำงานสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมด้วย อาจเป็นการช่วยออกแบบพัฒนาสินค้าชุมชน หรือผลิตเครื่องมือที่สามารถทำงานออกมาให้ร่วมสมัยขึ้น นี่ก็เป็นอีกหมุดหมายหนึ่งที่เรากำลังดำเนินการ”

อ่านต่อหน้า 5