10 ดีไซเนอร์ไทยที่ต่อยอดงานคราฟต์ชุมชนสู่งานดีไซน์อินเตอร์

5. กรกต อารมย์ดี – Korakot

คุณกรกต อารมย์ดี  ถือเป็นนักออกแบบอีกคนหนึ่งที่ทำให้งานหัตกรรมไทยร่วมสมัยเป็นที่รู้จักในเวทีโลก ภายใต้ชื่อแบรนด์ Korakot ด้วยภูมิปัญญาจากก๋งซึ่งเก่งด้านการทำว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า ทำให้เขาเข้าใจวิธีการตัดไม้ไผ่ การดัด การผูกเงื่อน ประกอบกับความสามารถด้านการออกแบบ จึงนำมาประยุกต์เป็นงานหัตถศิลป์ร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และยังรักษาวิถีงานหัตถกรรมดั้งเดิมของชุมชนบ้านแหลม หมู่บ้านประมงในจังหวัดเพชรบุรี เขาผู้นี้ยังมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการสร้างงานและคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนในชุมชนอีกด้วย

มุมมองที่มีต่องานคราฟต์

“คราฟต์ก็มาจากตัวตนของชุมชนเรานี่แหละ การทำผลิตภัณฑ์ที่มีเรื่องราวของท้องถิ่น ทำให้งานของเราโดดเด่น และเป็นการเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย แต่สิ่งที่จะต้องปลูกฝังเพิ่มเติมก็คือการนำสุนทรียศาสตร์ทั้งแบบตะวันตกและตะวันออกมาใช้ควบคู่กับการทำงานประติมากรรมที่เป็นสไตล์ของเราเอง อย่างผลงานของเราเป็นไม้ไผ่ที่ยึดกันด้วยการผูกการมัดแบบเส้นตั้งเส้นนอน ในฐานะนักออกแบบ เราจำเป็นต้องคิดตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ และต้องแปรรูปให้คนลืมความเป็นไม้ไผ่ให้ได้ สิ่งสำคัญคือจะต้องฝึกปฏิบัติให้เยอะที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะการที่เราผ่านจุดยากๆมาจะทำให้เราสอนทีมงานได้ อีกทั้งต้องเข้าใจธรรมชาติของคนทำงานหัตถกรรม ตลอดจนเข้าใจบริบทในด้านต่างๆที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”

ร่วมงานคราฟต์กับชุมชน

“การทำงานคราฟต์ต้องมีทีมงานหรือช่างท้องถิ่นเข้ามาช่วย หลังจากผมกลับเข้าไปในชุมชน ก็ฝึกชาวบ้าน ฝึกวัยรุ่นหนุ่มสาวให้ช่วยงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เพราะทุกคนมีพื้นฐานการทำประมง อีกทั้งเคยชินกับการประดิษฐ์ของใช้ในชีวิตประจำวัน พวกเขาสัมผัสกับการมัดการผูกอยู่แล้ว ทำให้เรียนรู้ได้เร็ว ก็ถือเป็นการสร้างอาชีพเสริมรายได้จากภูมิปัญญาของเขาเอง ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา สิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าการเป็นนักออกแบบคือการนำกระบวนการผลิตทั้งหมดกลับไปที่ชุมชน และสิ่งที่เราได้รับจากการทำงานร่วมกับชุมชนก็มีเยอะมาก เช่น มิตรภาพ น้ำใจ ความรัก ความอบอุ่น ความถ้อยทีถ้อยอาศัย ซึ่งก็ทำให้เราทำงานอย่างมีความสุข”  

ต่อยอดงานคราฟต์สู่อนาคต

“ความเป็นท้องถิ่นพื้นบ้านเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี ทุกชุมชนในเมืองไทยมีสไตล์ของตัวเอง วัสดุธรรมชาติในบ้านเราก็มีมากมาย เพียงแต่ต้องรู้จักการเลือกใช้ การเลือกวัสดุก็เหมือนเศรษฐศาสตร์ เราต้องรู้ว่าพืชเติบโตจากดินอะไร รู้คุณสมบัติ ต้องเข้าใจวัสดุและนำมาใช้อย่างเหมาะสม ศึกษาทั้งข้อดีและข้อจำกัด รวมถึงกระบวนการในการสร้างชิ้นงาน ตัวผมเองก็ศึกษาเรื่องวิธีการผูกการมัดเพิ่มเติม และลงลึกไปถึงวิธีการทำเชือก วิธีการทำข้อต่อของไม้ไผ่ รวมถึงเรื่องการทำสิ่งเล็กให้เป็นสิ่งใหญ่ เช่น งานออกแบบอาคาร แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่การที่เรานำงานคราฟต์เข้าไปเกี่ยวข้อง  ก็จำเป็นต้องทำเป็นตำราความรู้ให้เด็กรุ่นใหม่ที่สนใจได้ศึกษาเป็นแนวทางและเป็นแรงบันดาลใจให้สามารถออกแบบงานที่มีสไตล์ได้ เพื่อให้งานคราฟต์ของไทยมีความหลากหลาย นอกจากทำตำราแล้ว   ยังต้องสร้างคน สร้างทีม และมีบริการที่ดี ผมเชื่อว่างานศิลปหัตถกรรมไทยร่วมสมัยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลก งานคราฟต์ของเราสามารถสู้กับทางฝั่งตะวันตกได้ เพราะเรามีภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ดีอยู่แล้ว เพียงแค่ต้องรู้จักต่อยอดให้ได้ และพยายามผลักดันออกไปสู่งานแฟร์เพื่อให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายยิ่งขึ้น”

6. ดร.กฤษณ์ เย็นสุดใจ – มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

จากมัณฑนากรผู้คลั่งไคล้ Fabric  Material ในระดับลุ่มหลง ซึ่งกลายเป็นแรงผลักให้ ดร.กฤษณ์ เย็นสุดใจ หันหลังให้วงการออกแบบตกแต่งภายใน และก้าวเข้าไปเรียนรู้งานเท็กซไทล์ ก่อนเดินสู่สายงานแฟชั่นอย่างจริงจัง การเรียนรู้สิ่งใหม่ที่ได้หยอกล้อกับเนื้อผ้าอย่างไร้ขอบเขต บวกแนวแฟชั่นการแต่งกายที่เปลี่ยนตลอดเวลา กลายเป็นเรื่องสนุกที่ท้าทายขีดความสามารถของนักออกแบบ จวบจนเริ่มเข้าสู่สายงานคราฟต์ที่ต้องหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน นั่นคือก้าวเดินสู่การเป็นนักออกแบบของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

มุมมองที่มีต่องานคราฟต์

“ผมมองว่าอยู่ที่การนำเสนอความเป็นตัวตนของสิ่งนั้นๆ เป็น hybrid ของหลายๆสิ่ง ทั้งชุมชน เทคโนโลยี คนเมือง ความยั่งยืน และการผสมหลอมรวมเป็นอัตลักษณ์ของคนไทย คนไทยเก่งเรื่องการปรับใช้เหมือนมันอยู่ในดีเอ็นเอของพวกเรา อย่างที่เห็นกันก็คืออาหาร คนไทยแปลงสูตรอาหารจนไม่เหลือเค้าเดิมของต้นตำรับ เรื่องวัสดุหรือวัตถุดิบก็เช่นเดียวกัน ทำไม Material Center ถึงอยู่ที่เมืองไทยแทนที่จะอยู่ในประเทศที่มีความหลากหลายทางวัตถุดิบอย่างฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซีย นั่นเพราะคนไทยสามารถปรับใช้สร้างสรรค์ได้แตกต่างมากมาย คอลเล็คชั่นของผ้าไทยที่ผมทำในแต่ละเซตจึงเป็นการนำเสนอความหลากหลายที่สามารถทำได้ไม่จำกัด”

ร่วมงานคราฟต์กับชุมชน

“สิ่งที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯทำอยู่เรื่อยมาคือความเข้าใจที่ยั่งยืน เข้าใจในความเป็นชุมชน เข้าใจในวิถีชาวบ้าน ซึ่งพวกเขามีการใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ แม้ว่าจะมีอาชีพประจำเป็นช่างทอผ้า แต่พวกเขาก็มีอาชีพเสริมคือเกษตรกร เมื่อถึงฤดูเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ก็ต้องเข้าใจหากพวกเขาจะลาหยุด ปริมาณของผ้าที่สั่งทอจะได้น้อยลงหรือไม่ได้เลย หรือการตอกบัตรเข้างาน มาสาย 5 นาทีหักเงินค่าจ้าง เราจะเอารูปแบบวิถีคนเมืองไปตัดสินพวกเขาไม่ได้ หรือแม้แต่ความผิดพลาดของชิ้นงานอย่างลายผ้ามีตำหนิจากการทอ ผมกลับมองว่าเป็นเสน่ห์ของงานทอมือ เพราะเป็นความผิดพลาดที่หมายถึงความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เครื่องจักรกล”

ต่อยอดงานคราฟต์สู่อนาคต

“งานคราฟต์ต้องเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ ต้องมี Sustainability หรือความยั่งยืนที่แท้จริง นั่นหมายถึงว่าเราต้องทำให้สินค้าผ้าทอมือขายได้โดยที่คนซื้อไม่ต้องซื้อเพียงเพราะสงสารชาวบ้าน เราไม่ต้องการความเห็นใจเหล่านี้ แต่เราอยากให้ลูกค้าซื้อเพราะชอบผ้าไทย ชอบฝีมือการทอ ชอบความคิดสร้างสรรค์ของพวกเรา ตรงนี้คืออนาคตที่เราอยากให้เป็นครับ ทุกวันนี้ก็เริ่มเห็นผล เริ่มมีลูกค้าชาวจีนสั่งผ้าทอมือจากโครงการ ซึ่งอยู่เหนือการคาดการณ์ของเรา มีกลุ่มคนขนาดใหญ่มองเห็นความแตกต่างที่ได้จากผ้าทอมือ ทั้งที่มีทางเลือกอื่นจากแบรนด์เนมชื่อดังที่ใส่สบาย ราคาถูก ผลิตง่ายกว่า แต่เป็นเพราะเกิดการเรียนรู้ว่าผ้าทอมือนั้นสามารถใส่ในชีวิตประจำวันได้ และเป็นแฟชั่นที่สะท้อนรสนิยมของผู้สวมใส่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผ้าจากอุตสาหกรรมทำไม่ได้”

อ่านต่อหน้า 4