10 ดีไซเนอร์ไทยที่ต่อยอดงานคราฟต์ชุมชนสู่งานดีไซน์อินเตอร์

3. พิบูลย์ อมรจิรพร – Plural Designs

จากการทำงานในแวดวงงานสถาปัตยกรรมมาหลายปี คุณพิบูลย์ อมรจิรพร สถาปนิกผู้ไม่เคยพร่องเรื่องการเติมความรู้ให้ตัวเอง ได้สานต่อความสนใจด้านการออกแบบสู่เวทีการประกวด “เทศกาลนวัตศิลป์นานาชาติ” จนกลายเป็นใบเบิกทางให้เขาได้ก่อตั้งแบรนด์ Plural Designs ผลิตเครื่องเรือนจากการทดลองใช้วัสดุอันหลากหลายที่ไม่ยึดติดกับคำว่า “สไตล์” ได้อย่างน่าสนใจ แถมขึ้นแท่นเป็นนักออกแบบผู้มีวิสัยทัศน์ไกล ปรากฏผลงานต่อเนื่องทั้งในงาน Chiang Mai Design Week, British Council (Thailand) รวมถึงงานฝีมือกับชุมชนต่างๆ ที่ร่วมมือกับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศศป.) ภายใต้วิธีคิดอันเรียบง่าย เน้นการต่อยอดสร้างรายได้ให้ชุมชน

มุมมองที่มีต่องานคราฟต์

“งานคราฟต์หรืองานฝีมือเป็นเหมือนวัตถุที่บันทึกวิถีชิวิต วัฒธรรม และความเป็นอยู่ที่เกิดจากงานฝีมืออันพิถีพิถัน ซึ่งมีสาระสำคัญมาจากความตั้งใจของผู้ทำนั่นเองครับ ช่างฝีมือก็เป็นเสมือนฟันเฟืองแห่งการสร้างวัฒนธรรม ปัจจุบันงานประเภทนี้พัฒนาเป็นอะไรๆ ได้หลายอย่าง สร้างรายได้และเกิดเป็นธุรกิจใหม่ๆ มากมายครับ”

ร่วมงานคราฟต์กับชุมชน

“ประสบการณ์ที่ดีของผมคือการได้มีโอกาสทำงานกับ ศศป. ล่าสุดได้รับโจทย์ให้ทำเรื่องจักสาน ซึ่งผมก็ดึงการสร้างรูปทรงทางสถาปัตยกรรมมาใช้ด้วย แต่ก็จะเน้นโครงสร้างใหม่ๆ ที่มีความเรียบง่าย สำหรับเวลาไปร่วมงานกับชุมชนต่างๆ ผมมักมีไอเดียติดหัวไปบ้างบางส่วน แต่จะลงพื้นที่ไปดูด้วยว่าชุมชนนั้นๆ เขาถนัดหรือขาดอะไร แล้วจึงนำมาคิดมาปรับ เช่น ผลงานตะกร้าสานที่ชื่อ ‘Forest’ ผมคิดลายขึ้นใหม่ก็จริง แต่เน้นออกแบบให้เข้าใจง่ายด้วย ความจริงคือนำลายสานปกติทั่วไปมาเปลี่ยนให้ลวดลายมันเอียงเท่านั้น ซึ่งบิดจากวิธีที่เขาทำนิดหน่อย เพราะผมอยากให้งานที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนการทำงานร่วมกัน ชุมชนสามารถนำความรู้หรือเทคนิคไปปรับใช้ต่อได้ ไม่ใช่ไม่มีนักออกแบบแล้วทำต่อไม่ได้”

ต่อยอดงานคราฟต์สู่อนาคต

“นอกจากตั้งใจพัฒนางานชุมชนให้เกิดการต่อยอดที่ดี ทำให้เขาเห็นว่างานพื้นถิ่นสามารถประยุกต์เป็นอะไรได้มากกว่าที่ใช้กัน ตอนนี้ผมก็มีแผนอยากจะสร้างแบรนด์ผลิตงานคราฟต์ขึ้นเองด้วย โดยเน้นไปทางเล่นกับการผสมผสานวัสดุ ผลิตออกมาให้ดูเรียบง่าย ไม่คราฟต์มากหรือหวือหวาจนเกินไป ตอนทำนิทรรศการ Collective Craft ในงาน Chiang Mai Design Week ที่ผ่านมา ก็รู้สึกว่าอยากศึกษางาน           โฟล์คคราฟต์ให้มากขึ้น เพื่อนำมาต่อยอดความรู้ให้ตัวเองและชุมชนในอนาคต รวมถึงเราชอบและอยากลองทำข้าวของประมาณนี้ด้วยครับ”

4. ศุภชัย แกล้วทนงค์ – Tima by Nakkhid Studio

ในปี 2015 โคมไฟที่ผลิตด้วยเทคนิคการทำกรงนกจากชุมชนพื้นถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช และโดดเด่นในรูปทรง “ทะลายจาก” ที่ออกแบบโดย คุณศุภชัย แกล้วทนงค์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ Innovative Craft Award จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศศป.) ตามมาด้วยรางวัล DEmark 2015 ซึ่งทำให้เขาได้นำผลงานไปจัดแสดงที่งาน Milan Design Week ตามมาด้วยการรับรางวัล Designer of the Year สาขา Product Design ในปีต่อมา แต่ทั้งหมดนี้คงไม่เกิดขึ้นแน่ๆ หากเขาไม่ลาออกจากงานที่กำลังรุ่งเรืองในกรุงเทพฯ แล้วกลับไปสานต่องานคราฟต์ที่ชุมชนบ้านเกิดในจังหวัดนครศรีธรรมราช

มุมมองที่มีต่องานคราฟต์

“ที่ผมคลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก คราฟต์คือวิถีที่คนพื้นถิ่นดั้งเดิมทำงานกันมาก่อนที่เราจะไปทำดีไซน์ด้วยซ้ำไป เป็นสิ่งที่เขาทำขึ้นมาเพื่อใช้งานในชีวิตประจำวัน อย่างกรงนกที่ทำขึ้นมาเพื่อใส่นก ภาชนะจักสานที่ทำมาเพื่อใส่อาหาร แม้แต่ของเล่นเด็กซึ่งทำควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตประจำวัน ทำงานอยู่ใต้ถุนบ้านและไกวเปลเลี้ยงลูกไปด้วย ผมรู้สึกว่ามันเป็นวิถีที่ไม่แปรเปลี่ยน ถ้าเขายังไปทำเกษตรได้ ยังออกไปหาวัตถุดิบใกล้ตัว และมานั่งทำงานคราฟต์ซึ่งให้กลิ่นของชีวิตและจิตวิญญาณที่ผมสัมผัสได้ในทุกเส้นสีกับทุกการถักสานที่มีความเฉพาะตัว นี่แหละเสน่ห์ของงานคราฟต์”

ร่วมงานคราฟต์กับชุมชน

“สมัยทำงานอยู่โรงแรมบันยันทรี ผมได้ออกทริปดูงานคราฟต์ทุกปี ทำให้เห็นกระบวนการทำงานและเทคนิคจากวัสดุหลากหลายของแต่ละชุมชนซึ่งมีอัตลักษณ์ท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีต่างกันไป เลยคิดว่าเราน่าจะทำงานกับท้องถิ่นแบบนี้ได้ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมกลับบ้านไปทำงานกับชุมชน เริ่มคลุกคลี สังเกต และเรียนรู้เทคนิคการทำกรงนกกับชุมชนที่นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2013 กระบวนการเยอะมากทั้งขึ้นโครง แกะไม้ ฉลุลาย กลึงไม้ ซึ่งผมเลือกนำหลักการนั้นมาพลิกแพลงทำโคมไฟร่วมสมัยทรงทะลายจากที่ได้รางวัลมา และยังสามารถต่อยอดงานออกแบบไปได้อีกเยอะ ทั้งโคมขนาดเล็ก โต๊ะ สตูล แทนที่จะทำแต่กรงนกหรือสานตะกร้าแบบเดิมๆ เราก็ต่ออายุงานคราฟต์ในนครศรีธรรมราชที่มีอยู่หลากหลาย โดยคุมเรื่องเวลาและคุณภาพเพื่อให้สินค้าเข้าสู่ตลาดพรีเมียม แล้วชุมชนก็จะอยู่ได้เอง”

ต่อยอดงานสู่อนาคต

“ผมอยากนำงานหัตถกรรมด้านอื่นที่ชุมชนมีอยู่มาผสมให้เกิดสิ่งใหม่อีก อย่างการนำหนังตะลุงมาผสมกับเทคนิคกรงนก ยังมีองค์ความรู้เชิงหัตถกรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาที่น่าสนใจอีกเยอะที่น่านำกลับมาใช้ ตอนนี้ผมมีแบรนด์ Tima (มาจากภาชนะตักน้ำทำด้วยใบจากซ้อนๆ กัน ในภาษามลายูเรียกว่า Timba) ที่สร้างสรรค์สินค้าหัตถกรรมจากอัตลักษณ์พื้นถิ่น โดยมีสตูดิโอ Nakkhid เป็นเหมือน Hub หรือดีไซน์เซอร์วิสกลางของชุมชนในนครศรีธรรมราชและรอบๆ ช่วยพัฒนางานออกแบบ หาช่องทางการตลาดสากล รวมถึงการกำหนดราคาที่สมดุล เพื่อความยั่งยืนของชุมชน”

อ่านต่อหน้า3