แบบห้องทำงาน

PLUS ROOM เพิ่มห้องใหม่ให้กิจกรรมโปรด

แบบห้องทำงาน
แบบห้องทำงาน

ใคร ๆ ก็ใฝ่ฝันอยากมีโลกส่วนตัวกันทั้งนั้น ลองคิดดูสิว่าจะดีแค่ไหนถ้าคุณมีห้องอีกห้องเพิ่มเข้ามาอยู่ในบ้านเพื่อรองรับกิจกรรมที่โปรดปราน ไม่ว่าคุณจะเป็นมือสมัครเล่นหรือครีเอทีฟฟรีแลนซ์ระดับมืออาชีพ ห้องใหม่นี้ก็สามารถบ่งบอกความเป็นตัวคุณได้เด่นชัด แถมยังได้ลงมือทำสิ่งที่ฝันโดยไม่ต้องกังวลว่าจะไปรบกวนสมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้าน และมีพื้นที่เก็บของเป็นสัดเป็นส่วน เก็บง่าย ค้นหาสะดวก

เราอยากชวนคุณมาสนุกไปกับการแปลงโฉมห้องธรรมดาให้กลายเป็นอาณาจักรใหม่ที่พร้อมให้คุณลุยงานในฝันได้อย่างเต็มที่!

 

PLUS_ROOM_01

MAKER WORKSHOP

สำหรับนักสร้างสรรค์ที่สนุกสนานกับการลงมือทำความคิดให้เป็นจริง เวิร์คชอปแบบฟูลออปชั่นอาจช่วยให้คุณได้ปลดปล่อยจินตนาการเชิงช่างได้แบบเต็มที่ แถมบางทีอาจได้อัพเกรดจากงานอดิเรกเป็นอาชีพสุดฮิปโดยไม่รู้ตัว

• SPACE

ขนาดของเวิร์คชอปนั้นส่วนใหญ่ขึ้นกับรูปแบบของเครื่องจักร หากมีเครื่องจักรขนาดใหญ่ เช่น เครื่อง CNC เครื่องเลื่อยวงเดือน เครื่องเจาะ ฯลฯ ควรวางแผนการจัดวางให้เหมาะสม รวมทั้งคำนึงถึงสเปซให้สามารถขนย้ายเครื่องจักรและวัสดุต่าง ๆ เข้า – ออกได้สะดวก พร้อมทั้งเปลี่ยนประตูเป็นแบบบานม้วนเพื่อให้สามารถเปิดกว้างได้เต็มที่

• STORAGE

นอกจากพื้นที่เก็บวัสดุ ควรคำนึงถึงระบบออร์แกไนซ์อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ โดยต้องมีการจัดระเบียบหมวดหมู่อุปกรณ์ให้ชัดเจน หยิบใช้งานง่าย

• LIGHTING

ควรมีแสงธรรมชาติหรือไฟแสงสีขาวที่สว่างเพียงพอทั่วทั้งห้อง หรืออาจเพิ่มแสงไฟเฉพาะจุดที่ต้องการความละเอียด

• SPECIAL FEATURE

หากมีเครื่องจักรหนักอาจต้องคำนึงถึงการเก็บเสียงเช่นเดียวกับห้องซ้อมดนตรี เพื่อไม่ให้รบกวนสมาชิกในบ้าน

TIP : เนื่องจากกำแพงทั่วไปสามารถป้องกันเสียงได้เพียง 40 เดซิเบล ในขณะที่ห้องงานฝีมือที่มีการใช้เครื่องมือช่างต่าง ๆ จะทำให้มีเสียงดังถึง 50 – 80 เดซิเบล จึงมีความจำเป็นต้องกรุวัสดุซับเสียงให้ห้อง โดยเฉพาะห้องทำงานที่อยู่ในเขตชุมชน สามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยแผ่นอะคูสติกที่มีจำหน่ายตามร้านทั่วไป

 

PLUS_ROOM_02

PHOTOGRAPHY STUDIO

สตูดิโอถ่ายภาพส่วนตัวขนาดกะทัดรัดอาจเป็นความฝันของช่างภาพมือสมัครเล่นหรือแม้แต่มืออาชีพหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะใช้ทดลองถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก รับจ็อบเล็ก ๆ หรือจะเปิดให้เช่า แค่มีฟีเจอร์พื้นฐานเหล่านี้ก็รับรองว่าเป็นไปได้จริง นอกจากนี้เรายังขอแถมแนวการสร้างห้องมืดสำหรับผู้หลงใหลการสร้างสรรค์ภาพฟิล์มแบบแมนวลให้คุณนำไปปรับใช้กันด้วย

STUDIO

• SPACE สตูดิโอขนาดเล็กทั่วไปมักมีขนาดเริ่มต้นที่ 4 x 6 เมตร มีเพดานสูงอย่างน้อย 3 เมตร และสามารถเปิดประตูได้กว้างเป็นพิเศษเพื่อให้พร้อมสำหรับขนย้ายอุปกรณ์หรือฉากถ่ายภาพขนาดใหญ่ อาจมีพื้นที่ห้องน้ำหรือห้องแต่งตัวในบริเวณใกล้เคียงกรณีมีการถ่ายภาพพอร์เทรต

• STORAGE เนื่องจากช่างภาพมีอุปกรณ์เกี่ยวกับแสงไฟหลายชนิดจึงควรมีพื้นที่และระบบสำหรับเก็บอุปกรณ์ เช่น หัวไฟ ที่ครอบไฟ ขาตั้งไฟ Soft Box ร่มกระจายแสง ฯลฯ ให้เป็นระเบียบ สามารถหยิบใช้ได้รวดเร็ว

• LIGHTING ควรมีแสงไฟทั้งแบบแสงสีส้มและสีขาวเพื่อให้ช่างภาพเลือกใช้ให้เหมาะกับการถ่ายภาพแต่ละประเภทและหากมีช่องเปิดรับแสงธรรมชาติก็ยิ่งช่วยให้สามารถถ่ายภาพได้หลากหลายขึ้น

• SPECIAL FEATURE ควรมีปลั๊กไฟหลาย ๆ จุดเพื่อให้สามารถย้ายตำแหน่งวางไฟสตูดิโอได้เป็นพิเศษ นอกจากนี้ควรมีโต๊ะล้อเลื่อนสำหรับวางคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อกับกล้อง เพื่อให้ตรวจสอบผลงานได้สะดวก

DARKROOM

• SPACE สำหรับมือสมัครเล่น ห้องมืดอาจไม่ต้องการพื้นที่กว้างนัก ขนาด 2 x 3 เมตรก็เพียงพอกับการใช้งานพร้อมฟังก์ชันพื้นฐานซึ่งประกอบด้วยเคาน์เตอร์อ่างล้างรูปเคาน์เตอร์หรือโต๊ะสำหรับเครื่องอัดขยายภาพ โดยมากมักมีฐานแป้นขนาดประมาณ 60 x 60 เซนติเมตรขึ้นไปพร้อมพื้นที่สำหรับราวตากฟิล์มและภาพที่ล้างเรียบร้อยแล้ว

• STORAGE ควรเตรียมพื้นที่สำหรับเก็บสต๊อกกระดาษไวแสงน้ำยาเคมี รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้หยิบใช้งานได้สะดวก

• LIGHTING ภายในห้องต้องมืดสนิทเพื่อป้องกันแผ่นฟิล์มทำปฏิกิริยากับแสง จึงควรเลือกใช้ไฟ Safelight ซึ่งมีสีส้มออกแดงแทนทั้งหมด

• SPECIAL FEATURE ในห้องที่มีการใช้สารเคมีแบบนี้ พัดลมดูดอากาศถือเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทได้สะดวก แต่อย่างไรก็ตามควรมีปล่องครอบพัดลมดูดอากาศ จากภายนอกอีกชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้แสงภายนอกลอดเข้ามาได้

TIP : สตูดิโอขนาดใหญ่มักทำผนังโค้งด้วยโครงสร้างไม้อัด เมื่อเวลาผ่านไปพื้นผิวอาจไม่เรียบเนียนเหมือนเคย ดังนั้นในสตูดิโอเล็ก ๆ คุณอาจเลือกใช้โครงฉากถ่ายภาพที่สามารถเปลี่ยนสีได้ตามใจชอบแทน

 

PLUS_ROOM_03

MINI GARAGE

สำหรับหนุ่มนักบิดหรือสาวนักปั่นที่อยากใช้เวลาวันหยุดทั้งวันในการดูแลเสริมหล่อพาหนะคู่ใจ ลองแปลงโฉมห้องเล็ก ๆ ในบ้านให้กลายเป็นโรงรถไซส์มินิ ให้คุณสนุกกับจักรยานหรือมอเตอร์ไซค์คันโปรดได้ทั้งวันแบบไม่มีใครรบกวน

BICYCLE GALLERY

• SPACE

จักรยานอาจไม่ต้องการพื้นที่มากนักสำหรับการดูแลซ่อมแซม แต่ถ้าสามารถแยกให้เป็นสัดส่วนได้ก็ช่วยลดปัญหาเรื่องเสียง กลิ่นน้ำมัน รวมถึงสารเคมีไม่ให้ไปรบกวนส่วนอื่น ๆ ของบ้าน อาจเลือกปรับปรุงห้องเล็ก ๆ ขนาด 2 x 3 เมตร มีหน้าต่างระบายอากาศ หรือห้องที่ใหญ่กว่า ขึ้นอยู่กับจำนวนจักรยานที่คุณมี

• STORAGE

อุปกรณ์ดูแลจักรยานอาจมีขนาดไม่ใหญ่มากนักจึงสามารถเก็บลงกล่องเครื่องมือได้สะดวก แต่ถ้าคุณมีซีรี่ส์ล้อรถและเฟรมแบบอื่น ๆ ไว้สำหรับปรับตกแต่ง อาจทำราวยึดบนผนังสำหรับแขวนเฟรม ล้อ หรือแม้แต่จักรยานในคอลเล็คชั่นสุดโปรด เพื่อช่วยประหยัดพื้นที่ ทั้งยังเป็นการตกแต่งไปในตัว

• LIGHTING

งานซ่อมแซมเป็นงานละเอียด ควรให้มีแสงธรรมชาติหรือไฟแสงสีขาวที่สว่างเพียงพอทั่วทั้งห้อง

BIKE GARAGE

• SPACE

เช่นเดียวกับจักรยาน การดูแลคลุกคลีกับมอเตอร์ไซค์ก็ต้องการพื้นที่เป็นสัดส่วนเพื่อลดปัญหาเรื่องเสียงและกลิ่น เนื่องจากมอเตอร์ไซค์มีน้ำหนักมากและมีขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงจำเป็นต้องเลือกพื้นที่ให้ขับเข้า – ออกได้สะดวก มีอากาศถ่ายเทดี อาจกั้นพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงรถให้เป็นห้องเฉพาะ หรืออาจต่อเติมห้องใหม่ให้มีขนาดประมาณ 3 x 4 เมตรในกรณีที่บ้านมีบริเวณเพียงพอ

• STORAGE

อะไหล่และชิ้นส่วนต่าง ๆ ของมอเตอร์ไซค์มีน้ำหนักมาก จึงอาจเพิ่มชั้นวางตลอดแนวผนังที่มีโครงสร้างรับน้ำหนักที่แข็งแรงเพียงพอ ในส่วนของเครื่องมือและอุปกรณ์ขนาดเล็กอาจเพิ่มชั้นวางของเล็ก ๆ หรือลิ้นชักให้เป็นสัดส่วน

• LIGHTING

งานซ่อมแซมเป็นงานละเอียด ควรให้มีแสงธรรมชาติหรือไฟแสงสีขาวที่สว่างเพียงพอทั่วทั้งห้อง

• SPECIAL FEATURE

ในกรณีของผู้ดูแลบิ๊กไบค์มืออาชีพที่แอดวานซ์ถึงขั้นซ่อมแซมเครื่องยนต์ด้วยตัวเอง อาจจำเป็นต้องเพิ่มแท่นยกรถสำเร็จรูป พร้อมชุดรอกยึดติดกับคานช่วยยกอะไหล่ที่มีน้ำหนักมาก

TIP : การลองเครื่องยนต์หรือการซ่อมแซมอาจเกิดเสียงดัง จึงควรเลือกกรุฝ้าและผนังด้วยวัสดุดูดซับเสียงอย่างแผ่นพาร์ทิเคิลบอร์ดประสานตัวด้วยซีเมนต์ หรือแผ่น CBPB ที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนและฉนวนกันเสียง อีกทั้งยังทนความชื้นเชื้อรา และแมลงต่าง ๆ ทั้งยังปลอดภัยจากประกายไฟด้วย

 

PLUS_ROOM_04

Music Room

ใคร ๆ ก็มีดนตรีในหัวใจ จะดีกว่าไหมถ้าเราได้อัพเลเวลจาก Bedroom Studio มาเป็นห้องส่วนตัวในแบบที่ซ้อมดนตรีและอัดเสียงได้เต็มที่แบบไม่ต้องเกรงใจคนข้างห้องอีกต่อไป

• SPACE

ขนาดของห้องดนตรีขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องดนตรีและจำนวนผู้ใช้งาน โดยทั่วไปมักมีขนาดอย่างน้อย 3 x 4 เมตร เพื่อไม่ให้อึดอัดจนเกินไป ทั้งนี้ควรเลือกห้องรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพราะจะช่วยให้เสียงเพลงใสกว่าห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัส เนื่องจากคลื่นเสียงหักล้างกันหมดพอดี

• STORAGE

หากอยากโชว์คอลเล็คชั่นเครื่องดนตรีที่สะสมไว้ควรออกแบบตู้โชว์ใหม่เพื่อให้รองรับกับเครื่องดนตรีแต่ละชนิดได้อย่างเหมาะสม

• LIGHTING

แสงไฟมีผลต่ออารมณ์ในการเล่นดนตรี จึงควรเลือกใช้แสงไฟสีส้ม (Warm White) ซึ่งให้แสงที่นวลตาและผ่อนคลาย

• SPECIAL FEATURE

คุณสมบัติการเก็บเสียงให้เล็ดลอดออกไปน้อยที่สุดเป็นเรื่องสำคัญสำหรับห้องซ้อมดนตรีทั้งในทาวน์เฮ้าส์และตึกแถว แต่ทั้งนี้ก็ควรคำนึงถึงสุนทรียภาพของเสียงที่เราจะได้ยินด้วย ในขณะเดียวกันหากติดแผ่นดูดซับเสียงมากเกินไปก็จะเกิดผลเสียได้เช่นกัน เพราะจะทำให้เสียงดนตรีที่ออกมาฟังดูแห้ง ๆ ไม่ไพเราะ

TIP : พื้นห้องก็มีความสำคัญในการทำห้องดนตรีเช่นกัน ถ้าพื้นเป็นแบบระนาบผิวแข็งและกว้างจะทำให้เกิดเสียงสะท้อนไปมา สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการปูพรมพรมสำหรับห้องดนตรีควรเป็นพรมตัดที่ไม่มีรอยต่อและมีความหนานิ้ว นำมาปูทับลงบนพื้น ปูนโดยตรงได้เลย หรือถ้าจะให้ดีนิยมใช้พรมอัดชนิดลูกฟูก เนื่องจากมีราคาไม่สูงติดตั้งง่ายด้วยกาวหรือเทปกาว 1 ม้วน ยาว 2 เมตร กว้าง 25 มิลลิเมตร

 


เรื่อง : Monosoda, Gobbi_Jirawat, Ektida_N
ภาพ : แฟ้มภาพนิตยสาร room, สำนักพิมพ์บ้านและสวน