9 แนวคิดในสวนเกษตรแบบยั่งยืน

พระราชกรณียกิจหลากหลายด้านของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชล้วนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำของเราได้ เช่นเดียวกับการทำสวน ในรูปแแบบสวน เกษตรแบบยั่งยืน ซึ่งเราได้รวบรวมให้คุณได้เป็นไอเดีย ดังนี้

1. เก็บน้ำไว้ใช้

สวนเกษตรแบบยั่งยืน

นอกจากใช้รดน้ำต้นไม้และอุปโภคแล้ว บ่อเก็บน้ำยังช่วยระบายน้ำฝน ลดปัญหาน้ำท่วมอีกด้วย ทั้งยังสร้างความสวยงามและเลี้ยงปลาไว้บริโภคได้ ดังจะเห็นได้จากโครงการแกล้มลิงและเขื่อนกักเก็บน้ำของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

2. จัดสรรที่ดิน

ตามแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่จะแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน มีอัตราส่วนของแหล่งน้ำ 30 เปอร์เซ็นต์แปลงเกษตร 30 เปอร์เซ็นต์ สวนไม้ยืนต้นและไม้สมุนไพร 30 เปอร์เซ็นต์ และที่อยู่อาศัย 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผู้ที่มีพื้นที่เล็ก ๆ ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดสรรการใช้ประโยชน์ได้ ให้มีประโยชน์ครบถ้วนคือเป็นที่พักอาศัย ปลูกต้นไม้ที่รับประทานได้ มีแหล่งน้ำไว้ใช้เอง และมีต้นไม้ให้ร่มเงาในบ้าน

3. ปลูกต้นไม้พื้นถิ่น

เนื่องด้วยความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจึงเกิดเป็นโครงการปลูกป่าทดแทนเพื่อคืนและรักษาระบบนิเวศเดิมไว้ แม้แต่สวนในบ้านเราก็สามารถทำได้โดยการเก็บต้นไม้เดิมและปลูกต้นไม้พื้นถิ่น เช่น สวนอยู่พื้นที่ชายเลนควรปลูกไม้ชายเลนและไม่ถมดินทำลายต้นไม้เดิม ซึ่งต้นไม้ดังกล่าวนอกจากปลูกง่ายแล้ว ยังมีประโยชน์มากมาย

4. แก้ไขดินเปรี้ยว

โดยใช้ทฤษฎีแกล้งดิน คือเติมน้ำให้ขังในที่ดิน สลับกับปล่อยให้แห้งไปเรื่อย ๆ เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีให้สารประกอบของกำมะถัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ดินเป็นกรดและเปรี้ยวจัดให้ระเหยหมดไป คู่กับการปรับปรุงดินที่เป็นกรดจัดด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น เติมปูนขาว ช่วยลดความเป็นกรดลงมาให้สามารถปลูกต้นไม้ทั่วไปได้

5. รักษาหน้าดิน

จากพระราชดำริในการปรับปรุงที่ดินต้องอนุรักษ์ผิวดิน ซึ่งมีความสมบูรณ์ไว้ไม่ให้ไถ หรือลอกหน้าดินทิ้งไป เนื่องจากเป็นบริเวณที่ได้รับสารอาหารจากซากพืชซากสัตว์ที่ย่อยสลาย คู่กับการกำจัดต้นไม้หรือวัชพืชโดยการฝังกลบ และสงวนไม้ยืนต้นเดิม เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผืนดิน

6. ยึดผิวดินด้วยต้นไม้

ในพื้นที่ลาดชันซึ่งผิวหน้าดินถูกชะล้างได้ง่าย การปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวซึ่งเป็นพืชที่มีรากลึกและยึดกันดี เช่นเดียวกับตามตลิ่งริมน้ำที่ต้นไม้พื้นถิ่นริมน้ำอย่าง จาก ลำพู มะพร้าว ซึ่งมีรากฝอยที่ช่วยป้องกันการกัดเซาะของตลิ่ง ทั้งยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำอีกด้วย

7. สวนหมุนเวียน

การปลูกไม้ล้มลุก ไม้ประดับ หรือไม้กินได้ ปลูกหมุนเวียนชนิดไปเรื่อยๆทำให้เกิดการหมุนเวียนของแร่ธาตุ โดยเฉพาะพืชตะกูลถั่ว อีกทั้งทำให้มีผักผลไม้ไว้รับประทานได้ทั้งปี

8. บำบัดน้ำด้วยธรรมชาติ

จากการศึกษาและทดลองในโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริว่าการปลูกไม้น้ำอย่างผักตบชวาในจำนวนที่เหมาะสม จะช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำและบำบัดน้ำที่เน่าเสียได้ ร่วมกับการปล่อยน้ำเสียผ่านบึงประดิษฐ์ที่ปลูกพืชริมน้ำและวัชพืช ทั้งยังมีกังหันชัยพัฒนาที่นำแนวคิดที่ให้กังหันตีน้ำจนเกิดฟองให้มีออกซิเจนในน้ำมาใช้

9. เลี้ยงสัตว์น้ำ

ทั้งปลาและสิ่งมีชีวิตในน้ำมีความสำคัญต่อน้ำในสวนของเรา ให้ความสวยงามและเป็นแหล่งอาหารของเราได้ รวมถึงยังช่วยทำให้ระบบนิเวศในสวนดีขึ้น เช่น ปลาหางนกยูงกินลูกน้ำทำให้ยุงน้อยลง ปลาสลิดและกระดี่กินสารอินทรีย์ในน้ำช่วยลดมลภาวะ

เรื่อง : “ปัญชัช”

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน