งานประติมากรรม

สุดฝีมือเพื่อพ่อ : งานประติมากรรม ในการจัดสร้างพระเมรุมาศ

งานประติมากรรม
งานประติมากรรม

นอกเหนือไปจากตัวโครงสร้างสถาปัตยกรรมของพระเมรุมาศแล้ว งานศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศบริเวณมณฑลพิธีและริ้วขบวนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ด้วยเพราะเป็นงานศิลปะไทยดั้งเดิมที่สืบทอดมาตามโบราณราชประเพณี ช่วยขับเน้นความสง่างามขององค์พระเมรุมาศ

งานประติมากรรม การถวายพระเพลิงพระบรมศพแต่โบราณถือเป็นงานใหญ่ที่มีรายละเอียดมาก จึงจำเป็นต้องรวบรวมช่างฝีมือหลากหลายแขนงจำนวนมากไว้ในงานเดียว โดยในพระราชพิธีครั้งนี้ ทั้งช่างชำนาญการและจิตอาสาหลายร้อยชีวิตได้ทุ่มเทพลังสุดฝีมือในการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมในทุกองค์ประกอบ โดยมีผู้รับผิดชอบหลักคือ สำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปากร ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญของศิลปะไทย

งานประติมากรรม

ตามประวัติศาสตร์การรวบรวมช่างกลุ่มนี้มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้รวมกลุ่มช่างในเจ้านายต่าง ๆ รวมถึงช่างชาวบ้านและช่างเชลยให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กระทั่งเสียกรุงฯครั้งที่ 2 ช่างต่าง ๆ ได้กระจัดกระจายไป และสามารถรวมกลุ่มขึ้นได้อีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่โปรดเกล้าฯให้มีการฟื้นฟูงานช่างขึ้นมาใหม่โดยมีพระราชประสงค์สร้างราชธานีให้รุ่งเรืองสง่างามเท่าเทียมกับกรุงศรีอยุธยา จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 จึงได้มีการตั้งหน่วยงานช่างสิบหมู่ขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร และได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นสำนักช่างสิบหมู่ในปัจจุบัน นอกจากช่างฝีมือในสังกัดช่างสิบหมู่จะมีหน้าที่สร้างสรรค์งานศิลปะไทยตามแบบแผนแล้ว ยังเป็นหน่วยงานหลักในการเก็บรักษาองค์ความรู้เพื่อชนรุ่นหลัง ไม่ให้ภูมิปัญญาต่าง ๆ ที่สั่งสมมาแต่โบราณสูญหายไป

ประติมากรรม

ในการจัดสร้างพระเมรุมาศนั้นจะมีการสร้างรูปเทวดาประดับโดยทั่ว ทั้งแบบที่เป็นรูปปั้นและภาพเขียนตามคติความเชื่อในเรื่องไตรภูมิกถา ซึ่งเชื่อว่าพระเมรุมาศเปรียบเสมือนตัวแทนของเขาพระสุเมรุที่ชั้นบนสุดคือที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่สถิตของเทวราชาโดยรอบพระเมรุมาศจึงปรากฏอาคารบุษบกน้อยใหญ่ตั้งรายล้อมเปรียบเป็นเขาสัตตบริภัณฑ์ หรือเขาบริวารทั้ง 7 ซึ่งเป็นที่อยู่ของเหล่าเทพเทวดาและสัตว์ป่าหิมพานต์ จากความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์คือเทวราชาหรือสมมุติเทพ เมื่อสวรรคตพระองค์จะเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์บนยอดเขาพระสุเมรุ การจำลองภาพพระเมรุมาศให้งดงาม ดั่งสรวงสวรรค์นั้นเป็นโบราณราชประเพณีที่ได้รับการสืบทอดกันมา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในอดีตจะมีการผูกหุ่นสัตว์หิมพานต์เทินบนบุษบกใส่ผ้าไตรมีล้อลากสำหรับเชิญในริ้วขบวนอัญเชิญพระโกศพระบรมศพ เมื่อถึงมณฑลพิธีท้องสนามหลวงก็จะนำมาประดับรอบพระเมรุมาศ

สำหรับงานประติมากรรมในพระราชพิธีครั้งนี้ ล้วนได้รับการสร้างสรรค์ให้มีลักษณะเป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะในรัชกาลที่ 9 โดยยึดแก่นของศิลปะไทยดั้งเดิมไว้ แต่มีการออกแบบต่อยอดเพิ่มเติม อีกทั้งยังอาจมีรูปแบบลีลาเฉพาะตัวของช่างฝีมือผสมผสานลงไปด้วย เช่น ประติมากรรมมหาเทพหรือเทวดาต่างๆ ที่มีรูปแบบเป็นธรรมชาติและมีสัดส่วนหน้าตาร่างกายคล้ายมนุษย์จริง

หลังจากหล่อไฟเบอร์กลาส ต้องนำมาขัดแต่งเก็บรายละเอียดให้เรียบร้อยก่อนพ่นสีรองพื้นและเขียนสี

ในขั้นตอนการจัดสร้าง เมื่อได้แบบประติมากรรมมาแล้ว ประติมากรจะตรวจสอบขนาดสัดส่วนของประติมากรรมแต่ละแบบให้เหมาะสมกับพระเมรุมาศ จากนั้นจึงค่อยจัดทำรูปปั้นสเก็ตช์สามมิติขนาดเล็ก ก่อนจะทำแบบร่างขยายเท่าจริง ต่อด้วยการขึ้นโครงสร้างเหล็กสำหรับปั้นดิน เมื่อปั้นได้รูปทรงและรายละเอียดครบถ้วนแล้ว จึงทำแม่พิมพ์ยางซิลิโคนแล้วหล่อไฟเบอร์กลาสจากนั้นนำมาประกอบชิ้นส่วน ดามหุ่นไฟเบอร์กลาสด้วยโครงเหล็ก ขัดตกแต่งผิว พ่นสีรองพื้น แล้วเขียนสีเป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบทุกขั้นตอน ใช้ช่างชำนาญการของสำนักช่างสิบหมู่กว่า 150 คนและจิตอาสากว่า 200 คน

การปั้นด้วยดินเหนียวดูแลรักษายาก เนื่องจากดินเสียรูปทรงได้ง่าย บางชิ้นงานจึงต้องหล่อต้นแบบเป็นปูนก่อน แล้วค่อยนำขี้ผึ้งมาประดับรายละเอียดให้ครบถ้วน ก่อนนำไปทำพิมพ์ยางซิลิโคนหล่อไฟเบอร์กลาส
ขั้นตอนการเขียนสี่ประติมากรรมสิงห์

ราวบันไดนาคและประติมากรรมท้องไม้พระเมรุมาศ

นอกจากประติมากรรมหลักแล้ว ประติมากรรมประดับสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศก็ได้รับการจัดสร้างขึ้นอย่างประณีตบรรจง ประกอบด้วยราวบันไดนาค 32 องค์สำหรับทางขึ้นพระเมรุมาศทั้ง 4 ด้าน และเทพชุมนุมฐานไพทีนั่งราบ ซึ่งประดับที่ฐานพระเมรุมาศชั้นล่าง และเทพดาท้องไม้ประดับฐานบุษบกประธาน อันได้แก่ เทพนมนั่งส้นและครุฑยุดนาค ทั้งหมดดำเนินการโดยโครงการศิลปาชีพเกาะเกิด จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและศูนย์ศิลปาชีพบัวสีทอง จังหวัดอ่างทอง

ราวบันไดนาคสามเศียรลงยาประดับเลื่อม
เขียนสีประติมากรรมเทวดานั่งอัญเชิญฉัตร
ขั้นตอนการเขียนสีประติมากรรมพระพรหม

งานประติมากรรมหลักประกอบพระเมรุมาศ

ชั้นฐาน สัตว์ประจำทิศ ช้างม้า โค สิงห์ ชนิดละ 1 คู่
ชั้นชาลาที่ 1 ท้าวจตุโลก-บาลทั้ง 4 ท้าวเวสสุวรรณท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ท้าววิรุฬหก รวมทั้งคชสีห์และราชสีห์
ชั้นชาลาที่ 2 ครุฑ 4 คู่และพระพิเนก-พินายบริเวณสะพานเกริน
ชั้นชาลาที่ 3 มหาเทพได้แก่ พระนารายณ์ (พระ-วิษณุ) พระพรหม พระอิศวร(พระศิวะ) และพระอินทร์
มีเทวดานั่งอัญเชิญฉัตรและอัญเชิญบังแทรก32 องค์ และเทวดายืนฉัตรและอัญเชิญพุ่ม 12 องค์ประดับในหลายจุด

 

ติดตามเรื่องราว #สุดฝีมือเพื่อพ่อ ทั้งหมดได้ในนิตยสาร room ฉบับเดือนตุลาคม 2560 ที่ room ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ไทย ผ่านทุกกระบวนการสร้างสรรค์พระเมรุมาศ รวบรวม เรียงร้อย และสรุปแนวความคิดการออกแบบ ความร่วมมือร่วมใจของงานช่างไทยหลากหลายสาขาที่ทุ่มเทสุดฝีมือเพื่อถ่ายทอดความทรงจําและความรักด้วยการถวายงานแด่พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย

อ่านต่อ :โปรเจ็กต์สุดฝีมือเพื่อพ่อ

สุดฝีมือเพื่อพ่อ ๑ : ลุยสำนักช่างสิบหมู่ แอบดูเบื้องหลังงานพระเมรุมาศ

 

 

 


เรื่อง กรกฎา, monosoda
ภาพปก วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
ภาพ ศุภวรรณ, ศุภกร, อภิรักษ์, อนุพงษ์, นันทิยา, สรวิชญ์
ภาพประกอบ patit