ห้องหมายเลข 9

อยากเชิญชวนเพื่อนพี่น้องชาวไทยไปชมงานนิทรรศการดีๆ ที่ไม่ควรพลาดในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งทางหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครตั้งใจจัดขึ้น โดยใช้พื้นที่ถึง 3 ชั้นระหว่างชั้น 7-9 เป็นพื้นที่จัด 3 นิทรรศการหลักใน โครงการ “น้อมรำลึกถึงองค์อัครศิลปิน” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระอัจริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะองค์อุปถัมภ์งานด้านศิลปวัฒนธรรมไทย

ห้องหมายเลข 9

ท่ามกลางนิทรรศการใหญ่ทั้ง 3 งานที่ได้รวบรวมผลงานศิลปกรรมจากฝีมือศิลปินชั้นนำของไทยหลายยุคหลายสไตล์และภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งคนไทยไม่ควรพลาดแล้ว มุมหนึ่งของบริเวณชั้น 8 ยังมี “ห้องหมายเลข 9” ที่เราอยากเล่าถึงเป็นพิเศษด้วยเพราะเป็นห้องนิทรรศการที่ไม่ใช่ห้องสี่เหลี่ยมสีขาวเหมือนทั่วไป แต่มีรูปทรงรีที่เหมือนดวงตา ภายในดูสงบขรึมด้วยโทนสี Royal Blue โดยแทบทุกพื้นที่ของผนังห้องนี้ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ภายใต้กรอบภาพแบบต่างๆ ที่เมื่ออยู่รวมกันแล้วคล้ายกับสัมผัสได้ถึงพลังอันยิ่งใหญ่ จนรู้สึกได้ว่าทุกก้าวย่างของเรานั้นยังคงอยู่ในสายพระเนตรที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

คุณศักดิ์ชัย กาย หนึ่งในภัณฑารักษ์ผู้รวบรวมผลงานเล่าให้ฟังว่า ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ท่านมาเห็นผนังห้องที่บ้านผมซึ่งรวมพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไว้ เพราะตอนนั้นผมกำลังคิดโครงการจัดทำสมุดรวมพระบรมฉายาลักษณ์อยู่พอดี ท่านเห็นแล้วชอบ ก็เลยชวนผมมาช่วยทำนิทรรศการถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ครั้งนี้ด้วย แต่ตอนแรกที่ผมมาดูพื้นที่จัดแสดงงานก็ตกใจ เพราะขนาดใหญ่มาก สิ่งที่ผมคิดได้ทันทีเลยก็คือต้องสร้างห้องขึ้นมาใหม่ให้เป็นเหมือนห้องสมุดหรือห้องหนังสือที่เล่าเรื่องพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งได้หยิบยืมมาจากนักสะสมคนสำคัญหลายท่าน รวมถึงของผมเองด้วย”

ด้วยความที่หลายชิ้นเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ฉบับดั้งเดิมจึงมีทั้งความเก่าที่ผ่านกาลเวลาและทิ้งร่อยรอยไว้ให้เห็น บางชิ้นงานเห็นปีพ.ศที่กำกับไว้ว่า พ.ศ.2504 บางชิ้นงานที่เก่ามากจนไม่สามารถแขวนขึ้นผนังได้ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการทำกรอบใหม่ครอบกรอบเก่าไว้ และบางชิ้นที่เก่าจนต้องหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรงก็ต้องจัดวางให้อยู่ในมุมที่โดนแสงน้อยที่สุด โดยทุกชิ้นมีมืออาชีพผู้ชำนาญการมาช่วยติดตั้งระบบการจัดแขวนและอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทประกันอีกที พร้อมกับการออกแบบจัดวางระบบแสงไฟที่พอเหมาะ ให้ความสว่างโดยรอบ และไม่ส่องลงเฉพาะจุดมากเกินไป

“ผมมีหน้าที่มองหาตำแหน่งการจัดวางและดูองค์ประกอบรวม เริ่มจากกำหนดตำแหน่งหลักให้พระบรมฉายาลักษณ์ขนาดใหญ่ไว้ที่กลางผนังห้องทั้งสี่ด้านก่อน ตามด้วยตำแหน่งเหนือประตูทางเข้าออก จากนั้นก็จัดหมวดหมู่เพื่อบอกเล่าเรื่องราว ซึ่งก็ต้องทดลองวางและสลับเปลี่ยนขึ้นๆ ลงๆ จนกว่าจะได้องค์ประกอบที่สมบูรณ์ ทั้งหมดนี้ผมใช้คนร่วม 40-50 คน และพวกเราตั้งใจทำงานกันอย่างเต็มที่ครับ”

นอกจากพระบรมฉายาลักษณ์รอบๆ ห้องแล้ว บริเวณกลางห้องยังมีตู้กระจกรูปทรงเลขเก้าไทยที่จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ขนาดเล็กซึ่งคุณศักดิ์ชัย รวบรวมมาจัดแสดงพร้อมกับหนังสือเก่าและกล้องโบราณเทียบรุ่นให้ตรงกับกล้องที่ปรากฏในพระบรมฉายาลักษณ์ โดยแบ่งเหตุการณ์เป็นช่วงทรงพระเยาว์ ทรงผนวช ทรงแสดงอัจฉริยภาพทางดนตรี และเสด็จฯไปยังต่างประเทศ

“ท่ามกลางความโศกเศร้า ผมอยากให้ทุกคนหาโอกาสมาชมนิทรรศการที่นี่ เพราะเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้มาชื่นชมพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งเป็นของศักดิ์สิทธิ์ในบ้านของนักสะสมทุกคนที่ผมขอยืมมา เพื่อแบ่งปันความศักดิ์สิทธิ์นี้ให้ทุกคน และให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ในฐานะขององค์อัครศิลปิน และหวังให้ทุกคนได้รับพลังงานบวกที่ดีกลับไปดำเนินชีวิตสร้างความดีงามตามคำสอนของพระองค์ต่อไป”

นิทรรศการ “พระราชาในดวงใจ” จัดแสดงตั้งแต่วันนี้- 26 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เปิดบริการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-21.00 น.

โทรศัพท์ 0-2214 -6630-8, www.bacc.or.thwww.facebook.com/baccpage