ประตูเปิดเข้าหรือเปิดออก

ประตูบ้านเปิดเข้า-ออก แบบไหนดีกว่ากัน

ประตูเปิดเข้าหรือเปิดออก
ประตูเปิดเข้าหรือเปิดออก

จริงๆ แล้วประตูบ้านนั้นสามารถเปิดเข้า หรือเปิดออกได้ทั้ง 2 แบบขึ้นอยู่กับบริบทของบ้าน แต่หากให้พูดรวมๆ ตามสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยแล้ว ก็มีข้อแนะนำเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจก่อนติดตั้งประตู เพื่อให้ใช้งานได้อย่างสะดวก

ประตูภายนอก

ประตูบ้าน

ประตูบ้าน

ประตูหน้าบ้านหรือประตูหลังบ้าน ควรเปิดจากภายในสู่ภายนอก เพื่อไม่ให้น้ำฝนหรือน้ำค้างที่เกาะตรงบานประตูไหลเปียกเข้ามาในบ้าน โดยทั่วไประดับของพื้นในบ้านจะสูงกว่าระดับของพื้นหน้าบ้าน การเปลี่ยนระดับที่กึ่งกลางวงกบล่างของประตูจะช่วยป้องกันน้ำ ฝุ่น และแมลงที่อาจเข้ามาได้ในตัวโดยไม่ต้องติดอุปกรณ์เสริม

สำหรับบ้านที่มีความเชื่อว่าประตูหน้าบ้านต้องเปิดเข้าในบ้านเท่านั้น สามารถแก้ปัญหาเรื่องแมลงและฝุ่นเข้าบ้านได้โดยติดยางกันฝุ่นใต้บานประตู แต่ไม่สามารถป้องกันน้ำที่เกาะอยู่ตรงบานประตูไม่ให้เปียกเลอะพื้นบ้านหน้าประตูเวลาเปิดเข้าได้

ประตูภายใน

ประตูบ้าน

ประตูบ้าน ประตูห้องน้ำ

ประตูห้องที่่ติดกับส่วนกลาง เช่น ทางเดินหรือโถงกลาง ควรเปิดเข้าในห้องนั้นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่อยู่ด้านในเปิดออกมาโดนคนข้างนอก

ประตูห้องน้ำ ควรออกแบบให้เปิดเข้าด้านในเช่นกัน เพราะห้องน้ำมีการลดระดับเพื่อป้องกันน้ำไหลออกมาเปียกพื้นที่ด้านนอก บานประตูควรลอยสูงจากพื้นระดับของห้องน้ำเล็กน้อยเพื่อป้องกันการผุพัง

เปิดประตูทำไมมีรอย

รอยที่พื้น – ประตูภายในมักไม่นิยมทำวงกบล่าง เพราะอาจสะดุดหรือเดินเตะได้ ดั้งนั้นส่วนพื้นตรงขอบประตูจึงมักมีรอยต่อของพื้นห้องที่ใช้วัสดุต่างกัน การเปลี่ยนวัสดุปูพื้นที่มีความหนาต่างกัน แต่ไม่ได้ไสด้านล่างบานประตูออกให้ได้ระดับ อาจทำให้มีปัญหาในการเปิด – ปิด และทำให้เกิดรอยขีดข่วนที่พื้นได้ นอกจากนี้การติดตั้งบานพับที่ไม่ได้มาตราฐาน รับน้ำหนักประตูไม่ดี อาจทำให้ประตูตกจนเปิด – ปิดลำบาก จนพื้นเกิดเป็นรอยได้เช่นกัน สำหรับประตูที่มีน้ำหนักมากควรเสริมความแข็งแรงด้วยบานพับตัวบน 2 ตัว

รอยที่ผนัง – ประตูที่อยู่ชิดผนังมากๆ ควรติดตั้งตัวหยุดประตู เพื่อไม่ให้เปิดประตูไปกระแทกผนังเป็นรอยเปื้อน และเวลาเปิดก็ช่วยให้สามารถจับหาลูกบิดประตูได้ง่ายขึ้น

บางครั้งเมื่อใช้ประตูไปนานๆ อาจเกิดรอยร้าวที่ผนังเป็นรอยเฉียง แสดงว่าประตูบานนั้นอาจไม่มีเสาเอ็นหรือทับหลัง ดังนั้นระหว่างการก่อสร้างควรเข้าไปตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีเสาเอ็นและทับหลังที่ประตูทุกบาน

รอยที่ประตู – การเลือกมือจับ ลูกบิด หรือกลอนที่ใช้ยากเปิด – ปิดไม่สะดวก อาจทำให้ต้องสัมผัสบานประตูบ่อยครั้ง จนทำให้เกิดรอยหมองตรงส่วนลูกบิดได้ ก่อนตัดสินใจเลือกใช้ เจ้าของบ้านควรลองเปิด – ปิดให้คล่องมือก่อน นอกจากนี้ควรเลือกใช้สีทำบานประตูชนิดเงา หรือกึ่งเงา หรือวัสดุที่ทำความสะอาดง่าย

อ่านต่อ : รวมหลากหลาย ประตูบ้าน 50 แบบ สวยน่ามอง

เรื่อง : “กรวรรณ”, วิรัช

เรียบเรียง : Gott