ประสาน “รัก” ให้เป็น ลวดลายไทย ที่งดงาม

            ความอ่อนช้อยงดงามของ ลวดลายไทย ที่ปรากฏบนตู้พระธรรม บานประตู และตามภาชนะต่างๆ ที่พบเห็นได้ทั้งในวัดและวัง

ลวดลายไทย ล้วนเกิดจากฝีมืออันประณีตในการบรรจงลงรักปิดทองอย่างวิจิตร ซึ่งนับเป็นงานศิลป์ชั้นสูงอีกแขนงหนึ่งของงานช่างสิบหมู่ที่เรียกว่าช่างรัก ปัจจุบันช่างฝีมือดีด้านนี้เหลือน้อยลงทุกที เนื่องจากส่วนใหญ่มักสอนกันแบบรุ่นสู่รุ่นในหมู่ตระกูลช่างด้วยกัน จึงถือเป็นงานช่างอีกแขนงหนึ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไป

ลวดลายไทย

งานลงรักนั้นมีมานานหลายร้อยปีแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยที่ใช้ยางรักมาทาชะลอมเพื่อไว้ตักน้ำ ก่อนจะมารุ่งเรืองมากๆในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเริ่มมีการใช้ทองมากขึ้นเพื่อให้เกิดความสวยงาม การทำลายรดน้ำลงรักปิดทองในสมัยโบราณมักเกี่ยวข้องกับการสักการะบูชาพระพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์เท่านั้น โดยลายรดน้ำลงรักปิดทองที่มีชื่อเสียงมากที่สุดจะอยู่ที่วัดเชิงหวาย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ครั้งนี้ผมมีโอกาสได้ไปดูวิธีการทำงานลงรักปิดทองด้วยตาของตัวเอง ซึ่งได้รับเกียรติจาก อาจารย์ประมวญ ศิริวงษ์ ศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านช่างรัก เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการทำงานให้ฟัง จึงอยากจะนำมาแบ่งปันให้ทุกท่านได้รับทราบและร่วมภูมิใจไปกับภูมิปัญญาด้านงานช่างของไทยเรากันครับ

อาจารย์ประมวญเล่าให้ฟังว่าสนใจงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เคยตามพ่อแม่ไปทำบุญที่วัด และได้เห็นงานลงรักปิดทองประดับที่เสาบ้าง ตู้พระธรรมบ้าง จึงเกิดเป็นความประทับใจ เมื่อมีโอกาสเดินทางเข้ากรุงเทพฯและได้เห็นงานลงรักปิดทองตามพิพิธภัณฑ์และวัดวาอารามต่างๆมากขึ้น ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากทำงานนี้ซึ่งถือเป็นศิลปะประจำชาติแขนงหนึ่ง จนเมื่อได้เข้าศึกษางานศิลปะในแขนงนี้จริงๆก็อยากสร้างผลงานที่ดี โดยไม่ได้คำนึงถึงรายได้ อาศัยความอดทนอดกลั้นในการฝึกฝนฝีมือและหาความรู้ตลอดเวลา ทำให้ผลงานของท่านได้รับการยอมรับมากขึ้น

ตลอดระยะเวลาสองชั่วโมงที่ผมนั่งคุยกับอาจารย์ประมวญ นอกจากจะได้รู้ขั้นตอนการทำงานลงรักปิดทองแล้ว ผมยังได้วิธีคิดและการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายจากท่าน ซึ่งหากใครได้อ่านก็ลองนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตได้นะครับ

“ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็แล้วแต่ เราต้องเริ่มจากใจรักเป็นอันดับหนึ่งถ้าเราไม่รักแล้วสิ่งใดๆก็จะไม่ตอบสนองกับเราเลยแต่ถ้าเมื่อลองได้รัก แม้เราจะขายงานไม่ได้ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรกว่าสามสิบปีบนเส้นทางช่างลงรักปิดทองผมทำงานนี้ด้วยความรักทำเพื่อเป็นของสะสมไม่ได้มุ่งทำเพื่อจำหน่ายหรือยึดเป็นอาชีพ คิดเพียงว่านี่เป็นงานที่เราจะต้องอนุรักษ์ไว้ไม่เคยคิดเลยนะว่าจะมาเป็นครูหรือเป็นช่าง         

“งานศิลปะเป็นเรื่องของความสุขทางใจ ถึงวันนี้ผมมีความสุขกับงานมากกว่าที่จะมาคิดถึงคำว่าท้อแท้และเหนื่อยหน่าย อาจเป็นเพราะว่าผมเตรียมตัวมาดีว่าจะต้องพบเจออะไรบ้างเมื่อเลือกอยู่บนเส้นทางสายนี้”

นอกเหนือจากงานลงรักปิดทองที่ทำเป็นประจำแล้วอาจารย์ประมวญยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนเกี่ยวกับศิลปะไทยและทำเรื่องการตลาดให้เรือนจำพิเศษธนบุรีอีกด้วย ลูกศิษย์ส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ต้องขังชาย โดยเมื่อทุกคนออกจากเรือนจำแล้วจะได้มีวิชาติดตัว ไม่ต้องหวนกลับไปสู่วงจรชีวิตเดิมๆ อย่างน้อยศิลปะก็ช่วยขัดเกลาจิตใจของผู้ต้องขังได้ อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการนำคนดีคืนสู่สังคม ซึ่งนี่คือสิ่งที่อาจารย์ประมวญบอกเล่าให้ฟังด้วยความภูมิใจ

ดูวิธีลงรักปิดทองแบบโบราณ