เทอร์เรซเฮ้าส์ในอังกฤษ

“คนต่างชาติที่มาอยู่ในประเทศอังกฤษมักจะซื้อบ้านในเมือง แต่คนอังกฤษกลับนิยมมีบ้านย่านชานเมืองมากกว่า”

เทอร์เรซเฮ้าส์ หรือบ้านห้องแถวแบบอังกฤษสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในนครลอนดอน แต่บ้านที่เรากำลังจะไปชมกันนี้อยู่ห่างจากกลางใจเมืองออกมาค่อนไปทางสนามบินฮีโทรว์ ซึ่งอยู่ในเขตแฮมเมอร์สมิท (Hammersmith) เป็นบ้านที่สร้างในยุควิกตอเรียตอนปลาย หรือประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่19 ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้อยู่อาศัยมากี่รุ่นก็ตาม รูปร่างหน้าตาภายนอกของเทอร์เรซเฮ้าส์นี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นกฎหมายที่ทุกคนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

คุณทิม บูตชาร์ด คือเจ้าของบ้านหลังนี้ บางคนอาจเคยได้ยินชื่อของเขา เพราะเป็นอดีตผู้อำนวยการของบริติช เคานซิลประจำประเทศไทย เขาซื้อบ้านนี้เมื่อปี1995 ก่อนที่จะต้องไปประจำที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และประเทศบราซิลตามลำดับ เมื่อเกษียณจึงกลับมาอยู่ที่บ้านหลังนี้อย่างจริงจัง

“บ้านนี้มีสามชั้น และมีเจ้าของสามคน ต้องใช้บันไดร่วมกัน ผมอยู่ชั้นสอง ตอนหลังเจ้าของชั้นสามย้ายออกไป ผมจึงซื้อต่อ ส่วนชั้นล่างยังมีคนอยู่ แม้บ้านจะเก่าแต่สภาพโดยทั่วไปยังดีอยู่ ผมเปลี่ยนพื้นที่ภายในเล็กน้อย หลักๆก็ยังเป็นแบบเดิม เพราะไม่ว่าจะทำอะไรต้องขออนุญาตจากทางการก่อน”

บันไดที่นำขึ้นไปยังตัวบ้านที่อยู่ชั้นสองค่อนข้างแคบ ตัวบันไดเป็นไม้ เวลาเดินก็จะได้ยินเสียงเอี๊ยดอ๊าดบ้าง ทว่าก็ยังแข็งแรงดี ก่อนเข้าสู่พื้นที่ภายในจะมีชานพักบันได บริเวณนี้ไม่กว้างมากนัก แต่ก็สามารถวางโต๊ะตัวสวยเป็นที่วางหมวกได้

ทางเดินภายในบ้านจะขนานกับบันได ทั้งยังมีขนาดกว้างไล่เลี่ยกับช่องบันไดด้วย ส่วนนี้เป็นเสมือนแกนกลางของบ้าน โดยชั้นแรกของบ้าน(หรือก็คือชั้นสองของอาคาร) จัดเป็นห้องรับแขกซึ่งต่อเนื่องจากทางเดินหลักภายในบ้าน จึงดูคล้ายเป็นส่วนเดียวกัน ระดับเพดานของบ้านนี้ก็สูงเท่าเทียมกับบ้านทั่วไป แต่ดูไม่อึดอัด คงเป็นเพราะว่าผนังห้องทาสีครีมนวล และมีช่องหน้าต่างบานใหญ่เปิดรับแสงสว่างจากภายนอกได้อย่างเต็มที่

คุณบูตชาร์ดสะสมภาพวาดไว้มาก สังเกตได้ว่านับตั้งแต่หน้าบันไดเรื่อยมา รวมถึงเกือบทุกส่วนในบ้านจะตกแต่งด้วยภาพวาดทั้งสิ้น

“เมื่อครั้งที่ผมประจำอยู่ที่ประเทศไทย ผมชอบหอศิลป์พีระศรีมาก (ปัจจุบันปิดกิจการไปแล้ว) ทำให้รู้จัก คุณฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ผู้อำนวยการในสมัยนั้น และได้รู้จักศิลปินไทยมากมาย ผมซื้องานของพวกเขามาหลายภาพ และก็นำทุกภาพมาประดับที่ผนังบ้าน”

สุดขอบเขตของห้องรับแขกเข้าไปด้านหลังจะเป็นพื้นห้องที่ลดระดับลงไป จัดเป็นห้องรับประทานอาหาร วางโต๊ะพร้อมเก้าอี้สี่ตัว และเนื่องจากเหลือพื้นที่อยู่นิดหนึ่ง เจ้าของจึงวางโต๊ะทำงานซึ่งมีโน้ตบุ๊กเล็กๆเพียงเครื่องเดียว ห้องนี้มีหน้าต่างหลายส่วนด้วยกัน

ส่วนอีกฟากของแกนกลางบ้านที่ขนานกับห้องรับแขกจัดเป็นห้องพักผ่อนที่ใช้เป็นห้องสมุดด้วย แม้ห้องจะมีขนาดแคบ แต่ส่วนในสุดของห้องเป็นช่องหน้าต่างบานใหญ่ที่ทำให้ห้องดูกว้างกว่าความเป็นจริง ติดกันเป็นห้องครัวขนาดพอเหมาะ และห้องน้ำที่อยู่ตรงข้ามบันได

ชั้นบนมีสองห้องอยู่คนละด้านของบันได ด้านหนึ่งเป็นห้องเก็บของ ส่วนอีกด้านเป็นห้องนอนขนาดไม่ใหญ่นัก แค่พอวางเตียงนอนขนาดควีนไซส์กลางห้องตัวเดียว และมีทางเดินเล็กๆรอบเตียง แต่มีข้อดีตรงที่ผนังที่ขนานกับเตียงด้านหนึ่งเป็นหน้าต่าง ส่วนอีกด้านเป็นประตูกระจกใส ซึ่งมีส่วนต่อออกไปยังดาดฟ้าที่จัดเป็นสวนกระถาง พร้อมวางเฟอร์นิเจอร์กลางแจ้ง

“ลักษณะโครงสร้างของแต่ละห้องจะคงเดิม แต่ผมมาตกแต่งภายในใหม่ ประตูหน้าต่างเป็นของเดิมทั้งหมด รวมพื้นที่ภายในก็ประมาณ 120ตารางเมตร คนต่างชาติที่มาอยู่ในประเทศอังกฤษมักจะซื้อบ้านในเมือง แต่คนอังกฤษกลับนิยมมีบ้านย่านชานเมืองมากกว่า ตอนที่ผมซื้อบ้านหลังนี้ ราคาประมาณสองแสนกว่าปอนด์ ปัจจุบันราคากระเถิบตัวสูงขึ้นไปประมาณเก้าแสนปอนด์แล้ว นับว่าโชคดีที่ซื้อไว้ก่อน”

แม้ว่าทุกส่วนของบ้านจะมีการจัดวางของตกแต่งจากหลายประเทศ ซึ่งมีหน้าตาแตกต่างกัน แต่ทุกส่วนก็ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดสะอ้าน เป็นบ้านที่สะท้อนบุคลิกและไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านได้ดี ถึงจะไม่ใช่บ้านหลังใหญ่ แต่ก็เป็นบ้านที่สวยงามน่าอยู่และน่าอนุรักษ์ให้สวยแบบนี้ต่อไปจริงๆ

เจ้าของ-ตกแต่ง : Mr. Tim Butchard