สวนผักหลังบ้าน สำหรับเจ้าตัวเล็ก

การออกแบบพื้นที่ใช้สอยนอกบ้านไม่เพียงแค่คำนึงถึงความต้องการอย่างเดียว การใช้งานที่สะดวกสบาย ปลอดภัย ครอบคลุมสำหรับสมาชิกทุกคนในบ้าน ทุกเพศ ทุกวัย ดูจะเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

เช่นเดียวกับสวนสวยของ คุณฑูรย์ – ไพฑูรย์ กุลตั้งกิจเสรี และคุณติ๊ก – นงลักษณ์ สุภดนัยสร ซึ่งมีจุดเริ่มต้นของสวนมาจากลูกน้อยทั้งสองคน น้องภูมิ – พิชญุตม์ และน้องแพร – พิชญา กุลตั้งกิจเสรี สองพี่น้องฝาแฝดที่อยู่ในวัยกำลังซน จึงต้องขยับขยายพื้นที่ตามจำนวนสมาชิกในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น

“เมื่อก่อนเราอยู่ทาวน์โฮมเป็นทั้งบ้านและออฟฟิศในที่เดียวกัน พอมีน้องก็เลยอยากได้บ้านที่มีพื้นที่มากพอให้เขาวิ่งเล่น เราอยากให้เขาอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและเรียนรู้จากการสัมผัส ได้ลองเล่นดินเล่นทราย จับก้อนหิน รู้จักต้นไม้ใบหญ้า สีสันของดอกไม้ สัตว์และแมลงต่างๆ สนุกกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว กระทั่งมาเจอบ้านหลังนี้ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกลจากออฟฟิศมากนัก ครั้งแรกที่ย้ายมาเด็กๆไม่กล้าจับก้อนหินเลย ลองพาเขาเดินบนพื้นทรายก็วิ่งหนี การทำสวนจึงเป็นอย่างแรกที่คิดว่าน่าจะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และช่วยปลูกฝังให้เขารักธรรมชาติมากขึ้น ทีแรกตั้งใจว่าจะทำสวนโดยเปิดหาไอเดียจากหนังสือของสำนักพิมพ์บ้านและสวนและนิตยสารบ้านและสวน ข้อมูลส่วนใหญ่สามีจะเป็นคนค้นคว้าดูว่าสวนแบบไหนที่เหมาะกับบ้าน พรรณไม้ชนิดไหนดูแลอย่างไร จนได้เห็นผลงานการจัดสวนที่ คุณดำ – สิบสาม ตุลาห้าเก้า และ คุณอรรถ ประพันธ์วัฒนะ เป็นผู้ออกแบบ พอปรึกษากันก็ลงความเห็นว่านี่แหละคือรูปแบบสวนที่ใช่สำหรับเราสองคน เลยติดต่อให้เขาเข้ามาดูพื้นที่และช่วยออกแบบให้ โดยบอกโจทย์ไปว่าบ้านนี้มีเด็กและอยากให้เขาสามารถเข้ามาวิ่งเล่นใช้งานในสวนได้ด้วย ให้มีแปลงปลูกผักกินเอง และสุดท้ายขอสวนที่ดูแลค่อนข้างง่าย เพราะส่วนมากเราใช้เวลาอยู่กับลูกๆเกือบทั้งวัน”

แน่นอนว่าทุกครอบครัวย่อมประกอบด้วยสมาชิกในบ้านที่มีอายุและเพศแตกต่างกันไป การออกแบบพื้นที่ใช้งานให้อำนวยความสะดวกและเอื้อต่อการใช้สอยของสมาชิกทุกคนในบ้านให้อยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่นและปลอดภัยคือโจทย์ที่คุณอรรถ ผู้ออกแบบสวนนี้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

“โจทย์คือมีเด็กเล็กอยู่ในวัยกำลังเรียนรู้ จึงออกแบบให้พื้นที่ทั้งหมดสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องกัน โดยไม่มีของตกแต่งกีดขวาง แต่จากลักษณะการเชื่อมต่อพื้นที่สวนถูกบล็อกด้วยบ้านกับระเบียง จึงมีทั้งมุมแคบและกว้างต่างกัน ประกอบกับโครงสร้างบ้านมีลักษณะความเป็นวินเทจนิดๆ เลยเลือกใช้วัสดุ ของตกแต่ง และพรรณไม้ที่ดูเข้ากันระหว่างบ้านกับสวน เริ่มต้นจากบริเวณทางเดินส่วนที่เชื่อมมาจากหน้าบ้าน ตรงนี้ค่อนข้างแคบ แก้ปัญหาด้วยการปลูกต้นไม้เป็นแนวรั้วกั้นเพียงแค่ฝั่งเดียว  ทางเดินปูแผ่นคาร์เพ็ตสโตนและโรยกรวดแทรก ก่อนเข้าสู่บริเวณแปลงตรงกลางซึ่งเป็นลานกว้างของบ้านทำเป็นสนามหญ้า ส่วนหนึ่งปูสลับกับแผ่นทางเดินคอนกรีตสำเร็จรูป จัดวางเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถนั่งเล่นในสวนได้ ประดับด้วยฉากเหล็กสีขาวสร้างมุมมองที่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้สวน ส่วนหลังฉากใช้ชาฮกเกี้ยนทำเป็นรั้วต้นไม้บดบังสายตาจากด้านนอก สร้างความรู้สึกปลอดภัยและเป็นส่วนตัวให้ผู้ใช้งาน สาเหตุที่เลือกใช้ไม้ชนิดนี้เพราะมีผิวสัมผัสใบละเอียด พุ่มแน่น ช่วยกรองฝุ่นและดูดซับเสียงได้เป็นอย่างดี ดูแลง่าย และเป็นที่นิยมสำหรับผู้ชื่นชอบไม้ตัดแต่งเป็นรูปทรงต่างๆ โดยเฉพาะสวนสไตล์อังกฤษและสวนโมเดิร์น”

เจ้าของบ้านยังต้องการพื้นที่ใช้สอยกว้างๆ สำหรับให้เด็กๆวิ่งเล่น จึงเลือกวางตำแหน่งกลุ่มไม้พุ่มไว้ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เพื่อให้เหลือพื้นที่ใช้งานมากพอ ผสมผสานกับพรรณไม้ชนิดต่างๆเพื่อให้เกิดความหลากหลาย รวมถึงใช้ไม้ใบที่มีสีสันมากกว่าไม้ดอก  เช่น ฤๅษีผสม บุษบาฮาวายด่าง นีออน พุดด่าง กับกลุ่มสนอีกหลายชนิด เช่น สนบลู สนบอม สนแผง แล้วปลูกมาร์กาเร็ตแซมเพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติ ไม้ใหญ่เลือกไม้ฟอร์มสวย ใบร่วงน้อย อย่างซิลเวอร์โอ๊กกับตาเบเหลือง เมื่อถึงฤดูออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ก็จะเผยให้เห็นดอกสีเหลืองสดใส ทำให้เด็กๆสนุกกับการจดจำสีสันต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละฤดูกาล

ส่วนสุดท้ายเป็นมุมแปลงผักสวนครัวซึ่งเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่เจ้าของบ้านต้องการ โดยใช้ทฤษฎีการจัดวางองค์ประกอบแบบสวนฟอร์มัล คือจัดวางทั้งด้านซ้ายและขวาให้สมดุลกัน  มีแกนหลักของโครงสร้างสวนสร้างจุดเด่นนำสายตาสู่ตรงกลางที่เป็นแปลงผัก ซึ่งใช้เป็นที่นั่งเล่นในสวนได้ และเพื่อให้เด็กและผู้ใหญ่ใช้งานได้สะดวกจึงทำเป็นลานอิฐมอญที่ลงน้ำยากันตะไคร่น้ำ ช่วยลดปัญหาพื้นทางเดินลื่น แถมยังทำความสะอาดและเก็บกวาดเศษใบไม้ต่างๆได้ง่าย บริเวณนี้เป็นสวนผักแบบเปิดที่มองเห็นได้ทั้งจากในบ้าน ระเบียง และมุมที่มองออกมาจากหลังบ้าน ซึ่งจะเห็นแปลงผักสวนครัวหลากหลายชนิดไล่ระดับสูงต่ำกันไป ใกล้เคียงกับสวนผักธรรมชาติของชุมชนในแถบชนบทนั่นเอง

สวนสำหรับครอบครัว

การออกแบบสวนแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยรายละเอียดที่เปี่ยมด้วยความใส่ใจและห่วงใยทุกคนในครอบครัว ทั้งการทำทางเดินเข้า-ออกที่กว้าง ปราศจากสิ่งกีดขวางหรือทำให้เกิดการสะดุด วัสดุทางเดินที่มีผิวสัมผัสหยาบป้องกันการลื่น น้ำไม่ขัง มีช่องช่วยให้ระบายน้ำเร็วขึ้น สนามหญ้ากว้างก็ช่วยให้เด็กๆวิ่งเล่นได้อย่างปลอดภัย  หากเกิดเหตุหกล้ม หญ้าและดินจะซับแรงกระแทก ช่วยลดการบาดเจ็บของเด็กๆได้ และในอนาคตเมื่อเด็กๆโตขึ้น รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ที่มีอายุเพิ่มขึ้นไปด้วย สวนนี้ก็ยังคงใช้งานได้ต่อไป เพราะผู้ออกแบบได้รองรับความต้องการของสมาชิกในทุกช่วงวัยเอาไว้อย่างครบถ้วนแล้วนั่นเอง

เจ้าของ : คุณไพฑูรย์ กุลตั้งกิจเสรี และคุณนงลักษณ์ สุภดนัยสร

ออกแบบ : คุณอรรถ ประพันธ์วัฒนะ

จัดสวน : Design Item โดยคุณสิบสาม ตุลาห้าเก้า โทรศัพท์ 08-5555-3430, 08-6773-4733

เรื่อง : “อิสรา สอนสาสตร์”

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

สไตล์: นภิษฐา พงษ์ประสิทธิ์