จัดสวนให้เหมาะกับคนหลายวัย

เลือกใช้พรรณไม้ที่เหมาะสม

การเลือกพรรณไม้มาจัดในสวนที่มีผู้ใช้งานหลากหลายวัยก็มีความสำคัญไม่น้อย อาทิ ทางเดินและลานกิจกรรมควรปลูกไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาได้ดีและมีกิ่งก้านแข็งแรงอย่างหูกระจง พิกุล ตีนเป็ดน้ำ หรือจำปี จะช่วยป้องการแสงแดดที่อาจเข้าตาหรืออากาศร้อนที่จะทำให้ผู้สูงอายุเกิดอาการตาลายและเหนื่อยได้ง่าย ร่วมกับการปลูกไม้พุ่มหนาที่สูงไม่เกิน 1.50 เมตร เช่น โมก เข็มเชียงใหม่ ไทรใบมน หรือไทรทอง ตลอดแนวทางเดิน เพื่อช่วยพยุงร่างกายของผู้ใช้สวน กรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือล้มลงไประหว่างทาง

นอกจากนี้การตัดแต่งดูแลต้นไม้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ไม่ควรปลูกต้นไม้จนรกเกินไป เนื่องจากอาจเป็นที่หลบซ่อนของสัตว์มีพิษและสร้างมุมอับสายตา ซึ่งไม่สามารถดูแลหรือสังเกตได้จากภายในบ้านบริเวณริมทางเดินและรอบๆสนามเด็กเล่นยังไม่ควรปลูกไม้ที่มียางพิษหรือมีหนามแหลมคมเป็นอันตราย เช่น ยี่โถ เต่าร้าง อากาเว่ กระถินณรงค์ หรือหางนกยูงไทย เพราะอาจสัมผัสถูกตัวผู้ใช้งานได้ง่าย

ใช้องค์ประกอบอย่างเหมาะสม

องค์ประกอบต่างๆในสวนแม้จะช่วยเติมเต็มความสวยงาม แต่บางอย่างก็แฝงด้วยอันตราย โดยเฉพาะกับเด็กเล็กและคนชราที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น บ่อน้ำ ควรดัดแปลงเป็นบ่อตื้นๆ สูงไม่เกิน 50 เซนติเมตร เพื่อให้ได้อารมณ์ของบ่อน้ำ แต่มีระยะไม่ลึกจนทำให้จมน้ำได้ หรืออาจทดแทนด้วยอ่างน้ำพุที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆก็ได้

นอกจากนี้เรายังดัดแปลงองค์ประกอบสวนบางอย่างเป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกได้ เช่น รั้วเตี้ยริมทางเดินหรือริมบ่อน้ำก็ใช้แทนราวกันตกได้ โดยตัวราวจับควรสูงจากพื้น 80-90 เซนติเมตร ระยะคนนั่งรถเข็น 70-75 เซนติเมตร และระดับสูง 60 เซนติเมตรสำหรับเด็ก เช่นเดียวกับเสาไฟสนามที่ใช้เป็นที่ค้ำยันให้ผู้สูงอายุลุกขึ้นยืน พยุงตัว หรือว่าเกาะได้ในกรณีที่ต้องการการทรงตัว

ติดตั้งไฟในยามค่ำคืน

การใช้งานสวนในบางโอกาสก็กินเวลายาวไปจนถึงยามค่ำคืน ซึ่งมักเป็นช่วงเวลาที่เกิดอันตรายได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการสะดุดล้ม หรือสัตว์ไม่พึงประสงค์ที่ออกหากินในช่วงนี้ อุปกรณ์ให้แสงสว่างทั้งในรูปแบบไฟฉายและเสาไฟสนามจึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะจุดที่เป็นมุมนั่งพักผ่อน ทำกิจกรรม หรือบริเวณทางเดิน

สำหรับการติดตั้งไฟไม่ควรให้อยู่ในระดับสายตาหรือส่องลงมาที่ผู้ใช้หรือทางเดินโดยตรง เพราะแสงไฟอาจแรงจนทำให้ผู้สูงอายุเกิดอาการตาพร่ามัวหรือตาลายได้ ควรติดตั้งตลอดแนวทางเดินอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ห่างกันมากนัก เพราะจะทำให้สายตาต้องปรับความสว่างบ่อยเกินไป ตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดควรส่องในระดับพื้นหรือเหนือพื้นขึ้นมา 10 – 50 เซนติเมตร ซึ่งนอกจากให้แสงสว่างที่ดูสบายตาแล้ว ยังมองเห็นเส้นทางหรือสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินได้ชัดเจน หรือหลบอยู่ในมุมพุ่มไม้ก็ช่วยไม่ให้แสงไฟเข้าตาผู้สูงอายุโดยตรง นอกจากนี้สวิตช์ไฟควรมีสองจุด ทั้งจุดที่สามารเปิด-ปิดได้จากภายในบ้านและมุมนั่งเล่นภายในสวน รูปแบบของหลอดไฟควรเป็นสีเดียวกันและความแรงของแสงไม่มาก เช่น หลอดไฟแอลอีดี

 

เรื่อง :“ปัญชัช”

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน, สำนักพิมพ์บ้านและสวน