หอสมุดกรุงเทพ: หน้าปกอันสวยงาม ของหนังสือที่เรารออ่าน

หอสมุดกรุงเทพ: หน้าปกอันสวยงาม ของหนังสือที่เรารออ่าน ติดตามตอนต่อๆไป (ว่าจะจบอย่างไร?)

หลังจากการเปิดตัวห้องสมุดใหม่ เราได้เห็นโครงการที่น่าชื่นชม ในเรื่องของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ออกแบบปรับปรุงภายในได้อย่างสวยงามทันสมัย แต่ก็แอบหวั่นว่านี่คือหน้าปกอันสวยงามน่าติดตามของหนังสือเล่มนึง ที่ออกมาเป็นฉบับเฉพาะกิจในวาระสำคัญ (โครงการ กรุงเทพเมืองหนังสือโลก พศ 2556) หรือจะเป็นหนังสือที่มีสาระข้างใน และมีเล่มต่อๆไปกันแน่

ถ้าจัดการดูแลได้จริงๆ ห้องสมุดนี้จะมีหนังสือใหม่ๆจากทั่วโลกที่ผ่านการคัดสรร ไม่ต้องเป็นคลังหนังสือเก่าแบบเดิม เน้นสร้างเสริมความรักการอ่านให้กับเยาวชนและคนรุ่นใหม่ น่าจะมีหอสมุดแบบนี้สัก 3-4ที่ตามหัวมุมของเมืองหลวง และหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด ไม่ต้องใหญ่โตราคาแพง แต่ให้เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ จัดกิจกรรมพิเศษช่วงปิดเทอมหรือวันหยุดยาว (ไม่ใช่หยุดไปกับเขาด้วย) ให้โรงเรียนและผู้ปกครองพาลูกหลานไปกันได้บ่อยๆ ขอสักเสี้ยวนึงของที่พาไปห้างสรรพสินค้าก็ยังดี

หอสมุดกรุงเทพ

(ชมบรรยากาศภายในอาคารใหม่นี้ได้ที่นี่)

 

ดีใจที่งบประมาณก้อนโตถูกใช้ไปกับโครงการดีๆแบบนี้ ห้องสมุดไทยถูกปล่อยร้างเงียบโทรมมานาน แต่ในส่วนของการทำหอสมุดหรือห้องสมุดนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า ข้อมูลที่เคยค้นหากันยากๆในอดีตนั้น เดี๋ยวนี้มันหากันได้ง่ายมากด้วยอุปกรณ์ที่ทุกคนมีติดมือ การออกแบบห้องสมุดแบบใหม่ควรออกมาในรูปแบบของ Information Cafe หรือ Co-thinking Space เป็นการให้ความรู้และนำเสนอข้อมูลในแบบที่จอโทรศัพท์ให้ไม่ได้ ซึ่งดูจากการออกแบบหอสมุดนี้ผมคิดว่าทำออกมาได้ดีทีเดียว นึกภาพกิจกรรมเวิร์คชอปต่างๆมากมายที่สามารถเกิดขึ้นได้ มีตัวอย่างห้องสมุดยุคใหม่ที่ดีมากมายในกรุงเทพ ส่วนเมื่ออ่านหรือเรียนรู้ผ่านกิจกรรมแล้วอยากจะซื้อหนังสือเล่ม โหลดอีบุ๊ค หรือยืมกลับบ้านแบบเดิม ก็แล้วแต่ คิดแบบนี้ ร้านหนังสือก็เป็นห้องสมุดได้ ร้านกาแฟก็เป็นห้องสมุดได้ พิพิธภัณฑ์ก็เป็นห้องสมุดได้

(ดูตัวอย่างของ ห้องสมุดแบบใหม่ได้ที่นี่)

 

เราคงหวังให้ห้องสมุดในภาพเดิมๆ ที่ต้องพูดกันเบาๆและค้นหาข้อมูลยากๆแบบตัวใครตัวมัน เรียกความสนใจจากเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ ห้องสมุดอาจไม่ต้องใหญ่โตนอนรอให้คนมาหา เปลี่ยนเป็นห้องสมุดที่ออกไปหาคนบ้างก็ได้ ไม่ได้แปลว่าต้องทำคาราวานรถห้องสมุดเคลื่อนที่ให้เปลืองงบประมาณ แต่คือการเลือกโลเคชั่นให้คนเห็นได้ ไปมาสะดวก หรือเป็นที่ๆมีความเป็นศูนย์กลางชุมชนอยู่แล้วจริงๆ และทำให้เป็นห้องสมุดชุมชนที่แบ่งพื้นที่เงียบแบบส่วนตัว กับพื้นที่กิจกรรมที่คนเยอะๆมาเจอกันโดยไม่ต้องกลัวใครจะทำปากจุ๊ๆใส่ กิจกรรมที่ว่าไม่จำเป็นต้องแพงและไฮเทคแบบพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ก็ได้

วงการสิ่งพิมพ์อาจจะดูซบเซาไป ไม่ใช่เพราะคนไม่อ่าน หรืออ่านน้อยลง แต่เพราะเงินสนับสนุนจากรายได้โฆษณาค่อยๆย้ายไปอยู่ในสื่อดิจิตัลกันหมด

Amarin printing house

(อ่านความในใจของคนที่ทำงานกับสิ่งพิมพ์มาทั้งชีวิต ได้ที่นี่)

อีกสักระยะเราอาจจะประสบปัญหาว่า ข้อมูลดีๆที่เคยผลิตด้วยมาตรฐานบรรณาธิการของสิ่งพิมพ์ จะค่อยๆถูกแทนที่ด้วยข้อมูลแบบไวๆ มันๆ ฟรีๆ และใครทำขึ้นมาก็ได้แบบโซเชียลมีเดีย ซึ่งถ้ารัฐบาลและเอกชนมีการสนับสนุนการจัดทำข้อมูลดีๆ ผ่านการสร้างนิสัยการค้นคว้าหาข้อมูลแบบนี้ต่อไป ในระยะยาวคนที่ทำหน้าที่ผลิตและบรรณาธิการข้อมูลก็จะมีหน้าที่ที่สำคัญนี้ต่อไปด้วย ส่วนจะอ่านจากจอสัมผัสที่เป็นส่วนนึงของท้อปโต๊ะ แทนการหยิบหนังสือกระดาษมาวางบนโต๊ะ เราก็ไม่ว่ากัน