ผลการประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ ครั้งที่ 6

ประกาศผลกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับการประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ ครั้งที่ 6 (Innovative Craft Award 2017) ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา

ซึ่งผลงานแต่ละชิ้นที่ผ่านเข้ารอบต่างมีความสวยงามและสร้างสรรค์ เรียกได้ว่าเฉือนกันแทบไม่ลงทีเดียว แต่มีเพียง 4 ชิ้นงานเท่านั้นที่คว้ารางวัลจากการประกวดครั้งนี้ไปครอง มาดูกันว่าเบื้องหลังของแนวคิดและแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ผลงานเหล่านี้จะยิ่งน่าสนใจแค่ไหน แล้วคุณจะเชื่อว่างานออกแบบของคนไทยไม่แพ้ที่ใดในโลกเลย

รางวัลชนะเลิศประเภทประชาชนทั่วไป

จากความประทับใจในภูมิปัญญาของชุมชนบ้านบาตร ชุมชนเก่าแก่ในเกาะรัตนโกสินทร์ ทั้งยังเป็นชุมชนแห่งแรกและแห่งเดียวที่ยึดอาชีพทำบาตรพระด้วยมือ ทำให้ คุณเฉลิมเกียรติ สมดุลยาวาทย์ และ คุณกวิสรา อนันต์ศฤงคาร เลือกนำเทคนิคหนึ่งเดียวนี้มาพัฒนาแนวทางการออกแบบใหม่โดยทำเป็นภาชนะในชุด “บัว” ซึ่งมีรูปทรงต่างไปจากบาตรพระเดิมๆ โดยประกอบขึ้นจากแผ่นโลหะที่มีรูปทรงคล้ายกลีบบัวเชื่อมต่อกัน แต่ปรับบริทบทใหม่ด้วยการขึ้นรูปให้เป็นภาชนะที่แตกต่างทั้ง ถาด แจกัน หรือเชิงเทียน

“ปกติเวลาทำบาตรพระ เขาจะเคลือบผิวจากเหล็กสนิมๆให้สวยเงางามและคงสภาพความงามนี้ไว้ ซึ่งเรามองว่ามันย้อนกับความคิดทางพุทธศาสนาตรงที่ให้ยอมรับในธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลง ก็เลยออกแบบใหม่เพื่อเน้นการเปลี่ยนสภาพของผิวภาชนะ โดยใช้เทคนิคสีเทอร์โมโครมิคกร่วมกับคุณสมบัติของเหล็กที่นำความร้อนความเย็นได้เป็นอย่างดี ช่วยให้สีของตัวผลิตภัณฑ์ที่ดูเหมือนเคลือบมาสวยแล้วสามารถเปลี่ยนกลายเป็นสีเหมือนสนิมได้ไปตามอุณหภูมิหรือการสัมผัส สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ใช้งาน ทั้งช่วยให้ตระหนักถึงความไม่จีรังในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติไปในตัว”

 

รางวัลชนะเลิศ ประเภทนักศึกษา

คุณพศิษฐ์ เจริญเผ่า,คุณศุภวิชญ์  ทองสมบูรณ์ และคุณสุภรดา ทัศคร จากกลุ่มนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้สร้างสรรค์ผลงานเก้าอี้ภายใต้คอนเซ็ปต์ Basic Non – basic ได้เลือกเอาความคลาสสิคของเก้าอี้เหล็กสามขาในร้านก๋วยเตี๋ยวธรรมดาๆ มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเก้าอี้”ขด”ให้ดูไม่ธรรมดา โดยเลือกใช้ไม้ไผ่มาเป็นวัสดุหลัก ผสมด้วยเทคนิคการขดไม้ไผ่ซึ่งเรียนรู้มาจากชุมชนบ้านศรีปันครัว จ.เชียงใหม่ ที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนานซึ่งปกติแล้วใช้ทำเพื่อขึ้นรูปภาชนะเครื่องเขินของชาวล้านนา มาประยุกต์ด้วยการขดตอกไผ่รวมกันให้เกิดเป็นลวดลายและชิ้นส่วนของที่นั่ง ขณะที่ส่วนขาใช้เทคนิคการดัดไม้ไผ่ให้โค้งเหมือนไม้ดัด จากนั้นก็ประกอบชิ้นงาน กลายเป็นผลิตภัณฑ์สุดเจ๋งที่ยังคงรูปแบบหัตถกรรมพื้นบ้านได้เป็นอย่างดี

“ตอนเราไปเรียนรู้กับชุมชนศรีปันครัว ก็ได้ทั้งความรู้และความรักจากคนในชุมชนมาเยอะมากๆ จากที่ไม่รู้อะไรเลย ก็ค่อยๆ เข้าใจและรู้จักกระบวนการทำไผ่ขดตั้งแต่ขั้นตอนแรกคือการจักตอกไผ่ให้เป็นเส้นบางๆ ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายที่สำเร็จออกมาเป็นภาชนะ เป็นพาน เป็นขันโตก ซึ่งเราคิดว่าการนำเทคนิคแบบนี้มาใช้ในผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างออกไปจะสามารถสร้างมุมมองที่ไม่ธรรมดาเหมือนกับเก้าอี้ธรรมดาๆ ตัวนี้ได้ และเชื่อว่าน่าจะพัฒนาต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆ ได้อีกในอนาคต”

รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ประเภทนักศึกษา

จากที่เห็นเศษไม้เหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย ทำให้ คุณนครินทร์ ตันติศิริวัฒนา จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดแนวคิดอยากนำวัสดุเหล่านี้กลับมาสร้างคุณค่าและประโยชน์ใช้งานใหม่ จึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ชื่อ “รวงไม้” ซึ่งทำจากเศษไม้วอลนัทและไม้สนไทยมาประกอบต่อกันใหม่ในระบบโครงสร้างแบบข้อต่อระหว่างไม้กับไม้ สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้ง Wall Art หรืองานศิลปะประดับผนัง ไปจนถึงถาดใส่ผลไม้ แจกัน และที่วางของ เขาบอกถึงแนวคิดเพิ่มเติมว่า

“ผมมีความชื่นชอบในเทคนิคการเข้าไม้เป็นทุนเดิมอยู่แล้วด้วย ก็เลยสนุกที่จะศึกษาและพัฒนาต่อ แม้ไม่ได้เข้าไปในชุมชน แต่ใช้ความสนใจร่วมจากกลุ่มคนหรือดีไซเนอร์ที่ชอบงานไม้เหมือนกันมาต่อยอดร่วมกัน โดยเน้นนำเศษไม้ที่พวกเขาเหลือใช้ในรูปทรงแตกต่างมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ  แล้วประกอบต่อไปตามฟอร์มใหม่ที่ต้องการ ผมว่ายังสามารถต่อยอดไปได้อีกในแง่ของการนำเศษวัสดุอื่นจากชุมชนต่างๆ มาผสม อย่างบางชิ้นที่ผมเลือกใช้เศษทองเหลืองมาเป็นข้อต่อเชื่อมเศษไม้ เพื่อให้มีมิติ เพิ่มผิวสัมผัสและขึ้นรูปทรงโค้งงอได้หลากหลายกว่าเดิม”

รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ประเภทนักศึกษา

ความหลงใหลในเสน่ห์ของเครื่องเขินทำให้ คุณกฤตภาส จุนสมพิศศิริ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เลือกที่จะออกแบบโคมไฟชื่อ “โคมเขิน” โดยนำเอาความพิเศษเฉพาะตัวของยางรักผ่านเทคนิคการเช็ดรักแบบดั้งเดิมมาผสมกับความโดดเด่นในการขึ้นโครงจักสานไม้ไผ่ สร้างเป็นโคมไฟที่มีน้ำหนักเบาซึ่งเคลือบด้านบนด้วยยางรักที่สามารถขับเน้นรายละเอียดของเนื้อไม้ไผ่ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น สร้างความแตกต่างจากงานเครื่องเขินแบบดั้งเดิม

“ผมว่าเครื่องเขินเกือบจะสูญหายไปจากประเทศไทยแล้ว แต่ช่วงสิบปีหลังมีการรื้อฟื้นกัน ในบรรดาที่เหลืออยู่ไม่กี่ชุมชน คือวิชัยกุล เครื่องเขิน จ.เชียงใหม่ อาจเพราะยางรักหายากขึ้นและกลายเป็นวัตถุดิบราคาแพง แต่มันมีความมหัศจรรย์ตรงที่พอทาแล้วปล่อยให้แห้งจะกลายเป็นกาวที่ซึมเข้าเนื้อวัสดุด้วย ผมเลือกใช้ยางรักผสมน้ำมันเพื่อทำให้เกิดความโปร่งมากกว่ารักปกติจึงสามารถโชว์ลวดลายของไผ่ได้ชัดเจน สร้างเสน่ห์ให้กับตัวงานว่าทำจากวัสดุธรรมชาติแท้ๆ ไม่ใช่พลาสติก

“โดยผมนำรูปทรงมาจากดอกรักที่มีกลีบนอก 5 กลีบกับกลีบใน 5 กลีบ พอใช้เทคนิคเครื่องเขินด้วย ก็เลยตั้งชื่อว่า โคมเขิน ด้วยวิธีการทำนั้นไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงวิธีดั้งเดิมของชุมชนเลย อีกอย่างคือโคมไฟมันมีเวลาหลับและเวลาตื่น คือตอนเปิดกับปิดไฟก็ให้อารมณ์ที่แตกต่างกันได้อย่างน่าสนใจ”