ClearView Power พลังงานสะอาดบนกระจกใส

ลองจินตนาการถึงทุกๆพื้นผิวที่เป็นกระจกใสแต่ผลิตพลังงานสะอาดได้ดูซิครับ ไม่ว่าจะหน้าจอมือถือ กระจกหน้ารถ บานหน้าต่าง หน้าปัดนาฬิกา หรือ หน้าจอคอมพิวเตอร์ ถ้าหากว่าสิ่งเหล่านี้สามารถป้อนพลังงานเข้าสู่อุปกรณ์ต่างๆรอบตัวที่นับวันเริ่มจะมากขึ้นเรื่อยๆ  สมาร์ทโฟนที่ชาร์ตตัวเองได้ไม่ต้องวิ่งวุ่นหาที่ชาร์ตตลอดเวลา รถพลังงงานไฟฟ้าที่วิ่งได้ตลอดเวลาตราบที่ยังมีแสงอาทิตย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่ได้รับพลังงานไฟฟ้าจากหน้าต่างรอบๆบ้าน หรือแม้แต่อาคารสูงที่กรุกระจกทั้งอาคารกลับผลิตพลังงานได้เกือบเทียบเท่ากับเขื่อนเล็กๆซักแห่ง ฟังดูดีอย่างกับฝันไปใช่ไหมล่ะครับ? แต่อนาคตเหล่านั้นมาถึงเราแล้ว เพราะเทคโนโลยีอย่างที่ว่าได้เกิดขึ้นจริงๆแล้วในชื่อของ ClearView Power™

พลังงานสะอาดอย่างพลังงานแสงอาทิตย์นั้น เริ่มได้รับความนิยมมาขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบันด้วยการพัฒนาให้เทคโนโลยีเหล่านี้อยู่ในสิ่งที่ง่ายดายและใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นข่าวของแผ่นหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์โดย Solar City ที่แทบจะไม่แตกต่างจากกระเบื้องหลังคา Shingle แต่อย่างใด ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นก้าวกระโดดครั้งใหม่ของวงการพลังงานสำหรับชีวิตประจำวันแล้ว แต่โซล่าเซลล์ก็ยังเป็นโซล่าเซลล์อย่างที่เราคุ้นเคยอยู่ดี ไม่เหมือนกับ ClearView Power™ ที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เพราะนี่คือการปฏิวัติครั้งใหม่ของแผงพลังงานแสงอาทิตย์เลยทีเดียว

 

ทำไม ClearView Power™ จึงมองทะลุผ่านได้? สิ่งที่เกิดขึ้นคือแทนที่ ClearView Power™ จะสร้างแผงพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วๆไป พวกเขากลับคิดค้นสารที่ฉาบได้บางถึง 1/1000 มิลลิเมตรลงบนวัสดุอะไรก็ได้ขึ้นมา และสารนี้จะรับเอาเฉพาะคลื่นแสงในช่วง UltraViolet และ Infrared เท่านั้นในการผลิตพลังงานไฟฟ้า จึงทำให้แสงในช่วงที่ตามนุษย์มองเห็นสามารถทะลุผ่านได้ เป็นผลให้มันมีความโปร่งใสแต่ก็ยังสามารถผลิตพลังงานได้ในหลักการเดียวกับโซล่าห์เซลล์ทั่วๆไปนั่นเอง

ClearView Power™ เป็นผลงานของบริษัท Ubiquitous Energyซึ่งเริ่มขึ้นจากโปรเจคต์ทดลองโดยสถาบัน MIT และได้รับรางวัลมากมายจนถึงตอนนี้เช่น 2015 SID Display Week Innovation Award, MIT Clean Energy Prize ซึ่งในอนาคตพวกเขาจะสร้างให้ ClearView Power™ สามารถผลิตพลังงานได้มากขึ้น และอีกไม่ช้าไม่นาน คงมีวันที่คำว่าโซล่าห์เซลล์เป็นคำที่หาฟังได้ยาก แต่กระจกใสทั้งหมดจะกลายเป็นแหล่งพลังงานของมนุษย์ไปแทนก็เป็นได้

 

ภาพ : Ubiquitous Energy