ห้องเรียนพอดีพอดี บรรเทาวิกฤติด้วยโอกาส

โรงเรียนบ้านป่าก่อดำ

ออกแบบ : Supermachine Studio โดยคุณปิตุพงษ์ เชาวกุล

หนึ่งในห้องเรียนพอดีพอดีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างไปจากที่อื่นๆของโครงการ ที่จริงแล้วการเลือกใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุหลักของอาคารหลังนี้กลับเป็นการมองย้อนไปยังวัสดุพื้นถิ่นที่ถูกหลงลืม เพื่อให้ที่นี่เป็นทั้ง “ห้องเรียน” “ศูนย์รวมชุมชน” และ “แรงบันดาลใจ” สำหรับนักเรียน ช่างท้องถิ่น และทุกคนในชุมชน

คุณปิตุพงษ์ เชาวกุล และทีมออกแบบจาก Supermachine Design Studio ได้ออกแบบอาคารหลังนี้ด้วยแนวคิดเริ่มแรกคืออยากเก็บต้นกระท้อนที่ปัจจุบันอยู่กลางอาคารหลังนี้เอาไว้ “อยากให้เด็กๆได้มีห้องเรียนที่ผสมกันระหว่างเรียนกับเล่น พอเราเห็นต้นกระท้อนด้านในโรงเรียน จึงออกแบบให้อาคารโอบล้อมต้นนี้ไว้และเลือกใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุหลัก” ห้องเรียนนั้นแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆคือห้องคหกรรมและห้องเรียนทั่วไป ซึ่งในส่วนของห้องคหกรรมนั้นออกแบบร่วมกับบริเวณโถงด้านหน้าของอาคารสำหรับจัดงานออกร้านร่วมกับคนในชุมชนได้ เป็นการเชื่อมโยงโรงเรียนและชุมชนเข้าด้วยกัน

วัสดุไม้ไผ่ที่เลือกใช้แท้จริงแล้วเป็นความพยายามในการต่อเชื่อม “ภูมิปัญญาพื้นถิ่น” สู่การพัฒนา “วัสดุพื้นถิ่นร่วมสมัย” จนกระทั่งเกิดเป็น “อัตลักษณ์เฉพาะของชุมชน” เพราะทางทีมออกแบบไม่ได้นำไม้ไผ่มาใช้เฉยๆเพียงเท่านั้น แต่ไม้ไผ่เหล่านี้เป็นไม้ไผ่ตงที่คัดเอาแต่ลำที่ไม่มีกิ่ง ซึ่งหาได้เฉพาะในพื้นที่แถบนี้นำมาผ่านกรรมวิธีการขจัดแป้งในไม้ เพื่อยืดอายุการใช้งาน และนำมาเข้าข้อต่อกันโดยการคำนวณแบบวิศวกรรมสมัยใหม่ด้วยข้อต่อหลากหลายรูปแบบ อาคารไม้ไผ่ที่เป็นไปได้มากกว่าที่ทุกคนเคยคิดกันหลังนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากกว่าความเป็นห้องเรียน และทำหน้าที่เชื่อมโยงโรงเรียนกับชุมชนรอบข้างให้กลับมาแนบสนิทกันเหมือนเมื่อสมัยก่อน “เดี๋ยวนี้พ่อแม่ชอบส่งลูกๆไปเรียนในตัวเมืองกัน ถ้าเราทำให้ชุมชนหันมาสนใจโรงเรียนและปลูกฝังให้เด็กๆรักโรงเรียน การพัฒนาของพื้นที่คงเกิดขึ้นได้มากกว่าที่จะปล่อยให้ทุกคนไปเรียนในตัวเมืองกันหมดจนไม่เหลือใครเรียนแถวบ้านอีกเลย”

jj160526-159

jj160526-158

jj160526-157

การออกแบบโครงสร้างไม้ไผ่ที่ต้องการแสดงศักยภาพและความเป็นไปได้ของวัสดุที่มักถูกมองว่าเป็นวัสดุไม่ถาวร ข้อต่อต่างๆใช้วัสดุที่หาได้ทั่วไป แต่ผ่านการออกแบบเพื่อความคงทนในระยะยาว

อาคารรูปทรงแปลกตาด้วยวัสดุพื้นถิ่นอย่างไม้ไผ่และหลังคาไม้ไผ่สาน
อาคารรูปทรงแปลกตาด้วยวัสดุพื้นถิ่นอย่างไม้ไผ่และหลังคาไม้ไผ่สาน
ห้องเรียนที่เปิดเพดานโล่ง เห็นโครงสร้างไม้ไผ่ได้อย่างชัดเจน บานหน้าต่างสามารถเปิดออกเป็นประตูได้ ตามความตั้งใจของผู้ออกแบบที่อยากให้พื้นที่ภายนอกและภายในเชื่อมถึงกัน
ห้องเรียนที่เปิดเพดานโล่ง เห็นโครงสร้างไม้ไผ่ได้อย่างชัดเจน บานหน้าต่างสามารถเปิดออกเป็นประตูได้ ตามความตั้งใจของผู้ออกแบบที่อยากให้พื้นที่ภายนอกและภายในเชื่อมถึงกัน
โครงสร้างของอาคารใช้ไผ่ตงที่วิศวกรออกแบบให้รับน้ำหนักได้ดี
โครงสร้างของอาคารใช้ไผ่ตงที่วิศวกรออกแบบให้รับน้ำหนักได้ดี