สวนชนบท ดูสวยธรรมดาแต่มากประโยชน์

คนไทยตามชนบทส่วนใหญ่มักอยู่อาศัยกันเป็นชุมชน แต่ละบ้านตั้งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก แต่ก็มีบริเวณรอบบ้านกว้างขวางพอให้ปลูกต้นไม้และมีพื้นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในครอบครัว

สวนชนบท โดยทั่วไปมักเน้นพรรณไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่าย ไม่ต้องดูแลรักษาสวนมากนัก และให้ประโยชน์ในแง่การใช้สอยมากกว่าความสวยงาม นับเป็นรูปแบบสวนที่แสดงให้เห็นถึงการใช้งานที่ยั่งยืนและความเป็นธรรมชาติแบบไม่ปรุงแต่ง สิ่งดี ๆ ของสวนตามชนบทเหล่านี้ จึงเป็นอีกรูปแบบสวนที่น่าจะหยิบยืมมาใช้กับบ้านทั่วไปได้เป็นอย่างดี ตามไปค้นหาแนวคิดดี ๆ ที่ซ่อนอยู่ใน สวนชนบท แล้วเก็บไปเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งสวนให้สวยกันเถอะ

1. รั้วไม้ไผ่

บ้านไทลื้อ สวนชนบท
รั้วไม้ไผ่ในหมู่บ้านตามชนบทภาคเหนือกั้นอาณาเขตบ้านแบบง่าย ๆและปล่อยให้ดอกไม้สีสวยขึ้นเองตามธรรมชาติ (บ้านชาวไทลื้อ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา)

เปลี่ยนจากรั้วปูนทึบตันมาเป็นรั้วไม้ไผ่โปร่งตา ให้ลมพัดผ่านเย็นสบาย ตามริมรั้วปลูกไม้ประดับหรือพืชผักเลื้อยคลุมรั้วให้ดูสวยงาม แต่หากเกรงอันตรายจากผู้บุกรุก ภายในรั้วก็อาจปลูกต้นไม้มีหนามเป็นแนวป้องกันอีกชั้น เช่น ชะอม แคคตัส สลัดได หรือหากไม่ทำรั้วก็อาจปลูกต้นไม้เป็นแนวรั้วแทนได้เช่นกัน เช่น กระถิน ชะอม ซึ่งเป็นพืชปลูกง่าย โตเร็ว และแตกพุ่มได้แน่นสวยงาม นอกจากนี้ยังเก็บไปรับประทานได้ด้วย สามารถทดแทนไม้ประดับริมรั้วราคาแพงได้เป็นอย่างดี ไม้ริมรั้วอีกชนิดที่พบได้ทั่วไปก็คือ ไผ่ โดยปลูกตามแนวรั้ว ริมกำแพง เพื่อบอกขอบเขตของบ้าน หรือปลูกในทิศตะวันตกเฉียงใต้เพื่อป้องกันลมแรง ไผ่เป็นไม้ปลูกง่ายจึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงมากนัก แต่มีใบร่วงมาก ทำให้หลายคนไม่ชอบปลูกไผ่ในบ้าน จึงไม่ควรปลูกในจุดที่ดูแลเก็บกวาดยาก หรือบริเวณที่ใกล้ท่อระบายน้ำ เพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันได้

 

2. ไม้ผลรอบบ้าน

สวนชนบท สวนผลไม้
ปลูกไม้ผลกินได้รอบบ้านโดยเฉพาะกล้วย นับว่าเป็นพืชสารพัดประโยชน์ ทั้งยังช่วยรักษาความชุ่มชื้นในสวนได้ดี (บ้านคุณมีนา-คุณเชิดศักดิ์ กัลมาพิจิตร จังหวัดเชียงใหม่)

การปลูกไม้ผลใช่เพียงแค่ให้เราได้อาศัยเก็บกินหรือนำส่วนต่างๆไปใช้เท่านั้น แต่ข้อดีของการปลูกไม้ผลยังให้ประโยชน์ทางอ้อมอื่นๆอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น กล้วย ลักษณะใบกล้วยที่เป็นแผ่นกว้างช่วยปกคลุมดินด้านล่าง ทำให้แสงส่องลงมาไม่ถึง ใต้ต้นกล้วยจึงมีวัชพืชขึ้นน้อย อีกทั้งยังรักษาความชุ่มชื้นในดิน ขนุน ลักษณะแผ่นใบหนาช่วยให้ใต้ทรงพุ่มขนุนเย็นสบาย ขณะที่พุ่มใบไม่ทึบเกินไปจึงทำให้ลมพัดผ่านได้ดี มะยม เป็นไม้ปลูกง่าย ทนแล้งได้ดี ใบเป็นพุ่มแน่นสวย การเลือกไม้ผลมาปลูกในบ้านสักต้นหากไม่ได้หวังผลเรื่องการเก็บรับประทานมากนัก ก็ควรเลือกต้นที่ให้ประโยชน์กับเราได้คุ้มค่า มีขนาดเหมาะสมกับพื้นที่ เลือกชนิดที่ทรงต้นและพุ่มใบสวยก็สามารถทดแทนไม้ประดับยืนต้นได้เช่นกัน

 

3. ไม้กินได้

สวนชนบท สวนไม้ผล
รอบๆบ้านปลูกพืชกินได้หลายชนิดทั้งมะละกอ มะเฟือง ข่า ขิง มะกรูด และฝรั่ง เว้นระยะห่างแต่ละต้นให้เข้าไปเก็บได้สะดวก โคนต้นคลุมเศษฟางและหญ้าป้องกันวัชพืช ทำให้สวนดูสะอาดเรียบร้อย (บ้านคุณนิลพัท วิชัยยา จังหวัดสกลนคร)

พืชพรรณต่างๆที่ปลูกในสวนทั้งไม้ประดับ ไม้ผล และพืชผักสวนครัว มักเน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลักทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะนำมารับประทาน เป็นยารักษาโรค ให้ประโยชน์ใช้สอยด้านอื่น ๆ โดยพ่วงความสวยงามมาด้วย เราสามารถเลือกปลูกพรรณไม้เหล่านี้ตามความชอบหรือการใช้งานเป็นหลัก หากมีพื้นที่กว้างขวางพอก็สามารถยกแปลงปลูกผักขึ้นมาได้ แต่หากพื้นที่จำกัด เลือกปลูกชนิดที่ใช้บ่อย ๆ และไม่ต้องดูแลมากนัก เช่น กะเพรา โหระพา ตะไคร้ พริก ก็เพียงพอให้เก็บกินได้ตลอดทั้งปี

 

4. โทนสีธรรมชาติ

สวนชนบท
บ้านโทนสีน้ำตาลแบบธรรมชาติแวดล้อมด้วยต้นไม้สีเขียว เป็นคู่สีอันแสนอบอุ่นที่จับคู่กันได้อย่างพอดี (บ้านคุณลักขณา ปันวิชัย จังหวัดเชียงใหม่)

สีของสิ่งปลูกสร้างนับตั้งแต่รั้วจนถึงตัวบ้านมักเป็นสีน้ำตาลอ่อนและแก่ เมื่อปลูกต้นไม้พุ่มใบสีเขียวรอบๆบ้านและไม้ดอกหลากสี ก็สร้างความกลมกลืนกันของสีสันวัตถุ มองดูแล้วอบอุ่นสบายตา เป็นสวนที่เห็นแล้วให้ความรู้สึกผ่อนคลายและเป็นกันเอง ลองนำโทนสีแบบธรรมชาติมาใส่ไว้ในสวน แล้วให้ต้นไม้เป็นตัวเติมสีสันที่เหลือ ก็สร้างอารมณ์สวนแบบชนบทได้ไม่ยาก

 

5. เพิ่มกลิ่นหอม

ไอเดียการปลูกไม้ดอกหอมตามมุมต่า งๆ โดยเฉพาะในทิศทางที่ลมพัดโชยให้กลิ่นอ่อนๆเข้าบ้านได้ นับเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความรื่นรมย์ได้เป็นอย่างดี ตำแหน่งที่เหมาะจะปลูกไม้ดอกหอม ได้แก่ บริเวณใกล้กับทางเข้าบ้าน ริมระเบียง ศาลาพักผ่อน และหลีกเลี่ยงการปลูกต้นไม้มีกลิ่นฉุนไว้ใกล้กับบ้านหรือบริเวณที่ต้องออกไปใช้งานบ่อย ๆ

 

6. ที่นั่งใต้ต้นไม้

คือมุมโปรดที่เป็นศูนย์รวมของคนในครอบครัวได้เป็นอย่างดี จัดที่นั่งไว้ใต้ต้นไม้ จะเป็นแคร่สักตัวหรือโต๊ะสนาม เลือกต้นที่ให้ร่มเงาได้ดี พุ่มใบไม่แน่นทึบจนรกเกินไป ไม่มียาง โรค และแมลงรบกวน รวมทั้งไม่มีดอกหรือผลที่ตกลงมาแล้วทำให้ที่นั่งสกปรกเลอะเทอะ เพื่อให้นั่งพักผ่อนได้อย่างปลอดภัย เช่น ไผ่ มะขาม มะยม ขนุน ประดู่ ปีบ เป็นต้น

 

7. น้ำดื่มในสวน

หยิบไอเดียการวางโอ่งน้ำใบเล็กริมทางมาจัดไว้ในสวนบ้านเรา อาจทำศาลาเล็กๆหรือวางโต๊ะสักตัวในบริเวณที่ร่มไม่โดนแสงแดดโดยตรงสำหรับวางโอ่งน้ำดินเผา ปล่อยให้มอสส์และตะไคร่เกาะรอบโอ่งจะช่วยให้น้ำภายในโอ่งเย็นชื่นใจให้เราได้ตักดื่ม โดยไม่ต้องพึ่งตู้เย็นเลยทีเดียว

 

8. ตุ่มเลี้ยงปลา

ตุ่มเลี้ยงปลา
ตุ่มน้ำใบเดิมที่เคยใช้รองน้ำอุปโภคบริโภค เปลี่ยนมาใส่จอกลอยสวยๆในตุ่มหรืออาจเลี้ยงปลาเล็กๆไว้ด้วยก็ได้ (บ้านคุณวีรวุฒิ กังวาลนวกุล และคุณภัทรพร อภิชิต จังหวัดสมุทรสงคราม)

แต่เดิมเรามีตุ่มน้ำรอบบ้านไว้ใช้อุปโภคบริโภค แม้ปัจจุบันจะมีน้ำประปาใช้อย่างสะดวกสบาย แต่ตุ่มน้ำนี้ก็ยังช่วยเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินได้ หรือนำมาตกแต่งสวนได้หลายรูปแบบ ทั้งวางไว้รับน้ำจากรางน้ำฝนเพื่อลดแรงกระแทกของน้ำที่ตกลงมา หรือนำไปใช้ปลูกไม้น้ำ เลี้ยงปลาหางนกยูงตัวเล็กๆก็สวยเก๋และให้บรรยากาศสวนแบบพื้นถิ่นได้ดี

เรื่อง : “ปัญชัช” “วรัปศร”

ภาพ :  คลังภาพบ้านและสวน


ปฏิทินปลูกผัก ปลูกอย่างไรให้มีผักกินทั้งปี

สุนทรียะแบบสวนญี่ปุ่น พร้อมพรรณไม้

เทคนิคการจัด สวนเกษตรพอเพียง ตามรอยพ่อ