“พรรณไม้พระนาม”ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

“พรรณไม้พระนาม” คือพรรณไม้ซึ่งนักพฤกษศาสตร์ ค้นพบและศึกษาจนแน่ใจแล้วว่า เป็นชนิดใหม่ของโลก จึงตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ขึ้น โดยนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯขอพระราชทานพระนามมาเพื่อตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์

tulipa
ภาพจาก www.tnews.com

ทิวลิปคิงภูมิพล

ชื่อวิทยาศาสตร์: Tulipa ‘King Bhumibol’
วงศ์: Liliaceae
ลักษณะ: ไม้หัวล้มลุก อายุหลายปี ต้นสูงราว 45 เซนติเมตร ใบเดี่ยว ออกเวียนสลับ ใบยาวเรียวปลายแหลม สีเขียวอ่อนอมเทา แต่ละต้นมี 2-4 ใบ กลีบดอกสีเหลืองทอง เกสรเพศเมียมีลักษณะเป็นแท่งรูปสามเหลี่ยม ล้อมด้วยเกสรเพศผู้สีเหลือจำนวน 6 เส้น ผลไม่ปรากฏ
ฤดูออกดอก: เดือนมีนาคม – พฤษภาคม
การปลูกเลี้ยง: ชอบดินร่วนระบายน้ำดี แสงแดดตลอดวัน อากาศหนาวเย็น ขยายพันธ์ุด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ใช้เป็นไม้ประดับและไม้ตัดดอก

ลูกผสมระหว่างพันธ์ุ Judith Leyster กับพันธุ์ Prince Claus โดย Klaas Koedijk เจ้าของบริษัท F.A.P. Koedijk & ZN ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้ขอพระราชทานพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาจดทะเบียนตั้งเป็นชื่อพันธ์ุ เนื่องในโอกาศที่ทรงครองศิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2549

triboun

ภูมิพลินทร์

ชื่อวิทยาศาสตร์: Paraboea bhumiboliana Triboun & Chuchan
วงศ์: Gesneriaceae
ลักษณะ: ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 20-60 เซนติเมตร เมื่ออายุมากขึ้นมีเนื้อไม้แข็ง ลำต้นสีน้ำตาล แตกเป็นร่องตามแนวยาว ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามสลับฉากรูปรีหรือรูปไข่ กว้าง 1.5-2.2 เซนติเมตร ยาว 2.5-6 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนสอบ ขอบใบหยักตื้น ใต้ใบปกคลุมด้วยขนสีขาว ก้านใบยาว 3-4 มิลลิเมตร ดอกเป็นช่อกระจุกสั้น ออกที่ยอดหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉกคล้านรูประฆัง สีชมพูหรือสีม่วงอ่อน ผลแห้งแตก เมื่อแก่บิดเป็นเกลียว ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก
ฤดูออกดอก: ไม่ทราบแน่ชัด
การปลูกเลี้ยง: เป็นพรรณไม้ที่ยังไม่มีการนำมาปลูกเลี้ยง คาดว่ามีศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้ประดับ

เป็นพืชถิ่นเดียวของไทยสำรวจพบบริเวณแก่งหินปูนที่เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน ค้นพบโดยดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ และเป็นผู้ขอพระราชทานพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาตั้งเป็นคำระบุชนิด เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2544 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

มะลิเฉลิมนรินทร์

ชื่อวิทยาศาสตร์: Jasminum bhumibolianum Chalermglin
วงศ์: Oleaceae
ลักษณะ: ไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยได้ไกล 1-2 เมตร ยอดอ่อนมีขน ใบเดี่ยวค่อนข้างหนา รูปรี กว้าง 3-3.5 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนกลม แผนใบเรียบเหนียวเป็นมัน เส้นใบย่อย 3-4 คู่ไม่เด่นชัด ไม่มีต่อมใต้ใบ ก้านใบยาว 4-5 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกที่ปลายกิ่งข้าง มีดอกย่อย 7-13 ดอก ริ้วประดับรูปแถบยาว 5-6 มม. ก้านดอกยาว 2-3 มม. แฉกกลีบเลี้ยงสั้นมี 4-5 ซี่ เป็นหนามแหลมแข็ง หลอดกลีบดอกยาว 12-15 มม. ปลายหลอดสีเหลืองนวล แยกเป็น 7 กลีบ กลีบกว้าง 3-4 มม. กลิ่นหอมแรง ผลทรงรี
ฤดูออกดอก: กรกฎาคม – กันยายน
การปลูกเลี้ยง: ปลูกเป็นไม้กระถางหรือปลูกลงแปลงกลางแจ้งให้เลื้อยไต่ซุ้ม ชอบดินร่วนระบายน้ำดี แต่โตช้า ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและปักชำกิ่ง

มะลิพื้นถิ่นเดียวของไทยชนิดใหม่ล่าสุด สำรวจพบโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น บนเขาหินปูนที่มีความสูง 715 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลในจังหวัดเลย เมื่อปี พ.ศ. 2552 และได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้ใช้ชื่อนี้ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ ในปี พ.ศ. 2554

แหล่งที่มาข้อมูล : คู่มือคนรักต้นไม้ ชุดที่ 6

สั่งซื้อหนังสือได้ที่นี่ : https://www.facebook.com/Baanlaesuanbooks/

bsp_%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%89%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%a1_cover