สวนเล็กๆ หลังบ้าน ขนาด 80 ตารางเมตร ที่เก็บบ่อน้ำและต้นลั่นทมเดิมไว้

สวนเล็กๆ ขนาด 80 ตารางเมตร ที่เก็บบ่อน้ำและต้นลั่นทมเดิมไว้

ที่น่าสนใจของ สวนเล็กๆ หลังบ้าน หลังนี้ คือเคยใช้เป็นฉากบ้านของ “เป็นหนึ่ง” หรือ “คุณหมอปุริม” พระเอกเรื่องมาตาลดา ละครดังที่อยู่ในใจของใครหลายคน

คุณดล-ดนย์ปิยะ ผดุงไชย ตัดสินใจซื้อบ้านเก่ากลางเมืองในย่านชุมชนหลังนี้ ซึ่งมีด้านหน้าติดถนนและล้อมด้วยเพื่อนบ้านทั้งสามด้าน โดยรีโนเวตต่อเติมเพิ่มห้องใหม่เพื่อใช้พื้นที่ได้อย่างเต็มที่ พร้อมจัด สวนเล็กๆ หลังบ้าน ขนาด 80 ตารางเมตร ที่เจ้าของเดิมปลูกลั่นทมไว้หลายต้น มีบ่อน้ำไว้ใช้แช่ตัวเสมือนเป็นบ่อออนเซ็นในสวน

สวนเล็กๆ หลังบ้าน
โซนสวนป่าทรอปิคัลอยู่ติดกับห้องครัวที่ต่อเติมขึ้นใหม่ ดูร่มครึ้มด้วยเงาของลั่นทมต้นใหญ่ จึงเลือกปลูกไม้ใบในร่มเป็นหลัก แต่ต่างเฉดสีและฟอร์มใบ ใส่ลูกเล่นให้สวนเขียวๆ ดูไม่น่าเบื่อ

โจทย์คือเจ้าของบ้านต้องการเก็บลั่นทมและบ่อน้ำไว้ เพราะอยากเก็บบรรยากาศที่ครั้งหนึ่งบ้านหลังนี้ เคยใช้เป็นบ้าน ‘เป็นหนึ่ง’ พระเอกในละครเรื่องมาตาลดา ซึ่ง คุณแอมณัฏฐณิชชา แจ้งประดิษฐ์ ภรรยาของคุณดลชอบมากครับคุณโจ้คมกฤต สุขทอง นักจัดสวนจาก คนสวน Landscape Design เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการจัดสวนนี้ให้ฟัง

สวนเล็กๆ หลังบ้าน
บ่อปูนพร้อมหัวสิงห์พ่นน้ำของเดิมที่เจ้าของต้องการให้เก็บไว้ แม้จะดูเหมาะกับสวนอังกฤษมากกว่า แต่นักจัดสวนได้ปรับปัจจัยแวดล้อมเสียใหม่ ทั้งการเคลือบสีบ่อให้เข้มขึ้น วางกลุ่มหินประดับ และจัดกลุ่มต้นไม้ ก็สร้างบรรยากาศให้ดูเป็นสวนป่า พอเข้ากันได้แบบไม่ขัดตานัก

“คุณแอมชอบสวนญี่ปุ่นที่ดูคลีน ๆ คุณดลชอบเฟินและอยากได้สวนป่าชื้น ๆ ที่ดูแลง่าย การออกแบบสวนค่อนข้างยากด้วยข้อจำกัดหลายเรื่อง ทั้งทางขนของเข้า – ออกที่แคบ ต้นไม้ใหญ่และบ่อปูนที่ดูไม่เข้ากับทั้ง สวนญี่ปุ่นและสวนป่า ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผมเลยว่าจะทำอย่างไรถึงจะรวมทุกอย่างให้อยู่ด้วยกันได้ อย่างกลมกลืนในพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัด”

สวนเล็กๆ หลังบ้าน
สวนด้านหลังบ้านที่สามารถมองเห็นได้จากห้องนั่งเล่นและระเบียงห้องนอนชั้น 2 ถูกโอบล้อมด้วย ตัวบ้านและฟาซาดสูง เพื่อบังมุมมองจากเพื่อนบ้านที่อยู่ล้อมรอบ อีกทั้งได้ร่มเงาจากลั่นทมที่ล้อมรอบ ช่วยให้บริเวณสวนดูร่มรื่น ไม่ร้อนจนเกินไป

ลั่นทมต้นใหญ่ 6 ต้นปลูกรายล้อมอยู่ชิดรั้ว ด้านล่างปลูกไม้ใบสีเขียวเป็นกลุ่ม กลางสวนเปิดเป็นพื้นที่โล่ง โรยพื้นด้วยกรวดสีสว่าง ทำให้สวนดูกว้างกว่าความเป็นจริง ตกแต่งด้วยหินตามมุมต่าง ๆ รวมไปถึงในบ่อน้ำ ภาพรวมของสวนนี้เป็นสวนป่าที่ไม่ได้ร่มครึ้มมากนัก และมีการใช้หินประดับจัดวาง รวมไปถึงฟอร์มต้นไม้ที่มีลีลาสวยงามในแบบสวนญี่ปุ่น

ต้นไม้ที่เลือกใช้ส่วนใหญ่จะมีใบเป็นเส้นเรียว หรือใบมีขนาดเล็ก ซึ่งเป็นความชอบส่วนตัวของนักจัดสวน หนวดปลาดุกช่วยให้สวนดูเรียบร้อย ทำให้เห็นขอบแปลงและเนินชัด อีกทั้งเป็นต้นไม้ที่ดูแลง่าย

“ผมออกแบบให้สวนทรอปิคัลและสวนญี่ปุ่นแยกโซนกันก็จริง แต่ภาพที่ออกมายังดูกลมกลืนเหมือน ไม่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน ด้านในที่ติดรั้วบริเวณนี้ค่อนข้างร่มจะมีความเป็นสวนป่าทรอปิคัลมากกว่า ด้วยการลงต้นไม้ค่อนข้างแน่น เน้นไม้ใบสีเขียวเป็นหลัก เพิ่มลูกเล่นด้วยการเล่นเฉดสีเขียวที่ต่างกัน เล่นในเรื่องของฟอร์มต้นและรูปทรงใบที่หลากหลาย โดยเลือกใช้เฟินตามที่คุณดลชอบเป็นหลัก ทั้งทรีเฟินออสเตรเลีย เฟินรัศมีโชติ เฟินนาคราช กูดดอย แซมด้วยไม้ใบ อย่าง เล็บครุฑห้าแฉก ลิริโอเป้ หนวดปลาดุก เพิ่มจุดเด่นด้วยเสน่ห์จันทร์แดง กระดาดขาว แต้มสีสันของดอกไม้และใบไม้ด้วยไอริสน้ำ กุยช่ายฮาวาย หงส์ฟู่ ไทรปัตตาเวีย เพิ่มไม้ตัดแต่งพุ่มกลม ทั้งชาฮกเกี้ยนและม่วงเจริญ ค่อย ๆ เติมกลิ่นอายของสวนญี่ปุ่นในโซนสวนด้านที่ติดกับบ้านให้ชัดมากขึ้นครับ

ก่อนโรยพื้นสวนด้วยหินเกล็ดแกรนิต ต้องกำจัดหญ้าที่ขึ้นอยู่เดิมให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะบริเวณ ที่มีหญ้าแห้วหมู ด้วยการอัดพื้นด้านล่างให้แน่น ปรับด้วยทรายบางๆ เพราะต้องการแค่ปิดกันไม่ให้ ดินขึ้นมาเลอะกรวดด้านบน แล้วปูแผ่นกันหญ้า ซึ่งช่วยเรื่องการระบายน้ำได้ดี และป้องกันหญ้าขึ้นได้บางส่วน

“ต้นไม้ที่เลือกนำมาใช้จะเน้นชนิดที่เลี้ยงง่ายอยู่ทน ที่สำคัญต้องปลอดภัยสำหรับเด็กเล็กในบ้าน ใช้ต้นไม้เพียงไม่กี่อย่างและต้องเหมาะกับสวนทั้งสองสไตล์ อย่างลั่นทมเป็นไม้เมืองร้อนที่เหมาะกับ สวนทรอปิคัล แต่ก็เป็นไม้ฟอร์มสวยที่แตกกิ่งมีลีลาอ่อนช้อย สามารถนำมาใช้กับสวนญี่ปุ่นได้ด้วย โดยต้องมีการตัดแต่งช่วยบ้าง ตัดกิ่งบริเวณโคนต้นให้โล่ง ตัดแต่งพุ่มใบให้โปร่งเพื่อให้เห็นลีลาของกิ่งมากขึ้น และยังช่วยเปิดช่องให้แสงลอดผ่านลงมาถึงต้นไม้ที่อยู่ด้านล่างมากขึ้นด้วยครับ”

สวนเล็กๆ หลังบ้าน
ผิวบ่อกรุด้วยแผ่นกระเบื้องที่อาจดูเด่นขัดกับสไตล์สวนเกินไป คุณโจ้เลือกใช้ หินและต้นไม้บังกระเบื้องบางส่วนไว้ให้เห็นน้อยลง และใส่ไม้พุ่มที่มีใบขนาดใหญ่ เช่น บอนกระดาด เพื่อช่วยบังหรือพรางสิ่งที่ไม่น่ามอง เช่น โคนต้นโล้นๆที่ดูไม่สวยของไม้ใหญ่

นอกจากการเลือกใช้ต้นไม้ที่เหมาะกับสวนทั้งสองสไตล์ จัดกลุ่มและเพิ่มชนิดต้นไม้ไล่จาก สวนทรอปิคัลด้านในริมรั้วมายังสวนญี่ปุ่นด้านหน้าที่ติดกับห้องนั่งเล่นแล้ว คุณโจ้ยังให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า “อีกเทคนิคที่ผมนำมาใช้คือการทำแปลงต้นไม้ให้มีลักษณะเป็นเนินเตี้ย ๆ แบบที่นิยมทำในสวนญี่ปุ่นที่จำลองมาจากเนินเขาในธรรมชาติ การทำเนินยังช่วยแก้ปัญหาต้นลั่นทมบางต้นที่มีลักษณะ รากลอยได้ด้วยครับ นอกจากนี้ยังนำหินมาใช้ในสวน สวนนี้จะเลือกใช้หินแค่ 2 ชนิด สวนทรอปิคัลจะวางหินไม่มากนักและเน้นเป็นหินแกรนิตสีน้ำตาล ค่อย ๆ จัดกลุ่มและเพิ่มปริมาณ ไล่มาถึงสวนญี่ปุ่นที่จะใช้ หินภูเขาสีเทาดำมากขึ้นครับ ส่วนพื้นโรยด้วยหินเกล็ดแกรนิตสีเทาขาวที่ดูสะอาดตาและไม่ต้องดูแลอะไรมาก ซึ่งเข้ากันได้ดีทั้งกับสวนญี่ปุ่นและสวนทรอปิคัล การใช้สีอ่อนจะช่วยให้สวนเล็ก ๆ นี้ดูสว่างและหลอกตาว่า กว้างขึ้นด้วยครับ

แทนที่จะทำเป็นน้ำพุ น้ำตก หรือน้ำไหลจากกระบอกไม้ไผ่สไตล์ญี่ปุ่น คุณโจ้เลือกใช้ “น้ำไหลผ่านแผ่นหิน” แทน คล้ายในสภาพธรรมชาติของประเทศญี่ปุ่นที่น้ำไหลจากภูเขาผ่านสิ่งต่างๆ เป็นความงามที่ดูเรียบง่าย แต่น่าสนใจ
เจาะรูบริเวณด้านบนของหิน ใส่สายยางซ่อนไว้ด้านหลัง และมีวาล์วควบคุมความแรงของน้ำ เพื่อให้เกิดความดังของเสียงในระดับที่ต่างกัน เป็นอีกลูกเล่นที่น่าสนใจของการเล่นกับน้ำในสวน

“ส่วนบ่อปูนที่เจ้าของบ้านอยากให้เก็บไว้ ตอนแรกค่อนข้างหนักใจ เพราะดูไม่เข้ากับสวนทั้งสองสไตล์เลย ดีที่บ่อมีขนาดไม่ใหญ่มากจนเด่น สิ่งที่ทำได้คือเคลือบผิวให้สีเข้มขึ้น ซ่อมระบบหมุนเวียนน้ำ ในบ่อให้กลับมาใช้งานได้ปกติ และตกแต่งเพิ่มด้วยไม้น้ำ บ่อด้านหลังใส่สันตะวาใบพาย และกกธูปที่สื่อถึง ความเป็นสวนทรอปิคัล ส่วนอีกบ่อที่กรุด้วยกระเบื้องสีขาวน้ำเงินซึ่งดูคล้ายกับกระเบื้องเคลือบ ยังพอดู มีความเป็นเอเชียเข้ากันได้กับสวนญี่ปุ่น ผมนำหินมาจัดวางในบ่อและรอบบ่อ เพื่อบังให้เห็นกระเบื้องน้อยลง เติมต้นไม้ให้ภาพของสวนญี่ปุ่นชัดขึ้น และเพิ่มฟังก์ชันให้หินแต่ละก้อนมีน้ำไหลล้นออกมา สร้างความน่าสนใจ และทำให้เกิดเสียงเบา ๆ ให้ความรู้สึกผ่อนคลายเวลานั่งชมสวนจากห้องนั่งเล่นที่อยู่ใกล้กันครับ”

สวนเล็กๆ หลังบ้าน
สวนเล็กๆ ที่หน้าบ้านมีบ่อน้ำของเดิมที่เจ้าของอยากให้เก็บไว้เช่นกัน คุณโจ้เพิ่ม "น้ำไหลผ่านแผ่นหิน" ล้อกับบ่อหลังบ้าน แต่งขอบบ่อด้วยหินภูเขาสีเทาหลายขนาด บ่อลึก 60 เซนติเมตร คุณโจ้วางตะแกรงซ่อนไว้ ด้านในเพื่อช่วยกรองตะกอน และช่วยให้ไม่ต้องใช้หินจำนวนมาก ทำให้ปั๊มน้ำทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น

แม้สวนแห่งนี้ จะมีข้อจำกัดในหลายเรื่อง แต่ด้วยความใส่ใจในการแก้ปัญหาแต่ละจุด ทำให้พื้นที่เล็ก ๆ นี้กลายเป็นความสุขขนาดใหญ่ของผู้เป็นเจ้าของได้ไม่ยากเลย

นิตยสาร บ้านและสวน ฉบับเดือนมิถุนายน 2568
เจ้าของ : คุณดนย์ปิยะ ผดุงไชย และคุณณัฏฐณิชชา แจ้งประดิษฐ์
ออกแบบ : คนสวน Landscape Design โดยคุณคมกฤต สุขทอง โทรศัพท์ 08-7224–3078
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : ธนายุต วิลาทัน