ตู้เก็บรองเท้า ไม่ได้แค่เก็บ แต่เปลี่ยนบ้านให้ดูดีขึ้นได้! - บ้านและสวน
ตู้เก็บรองเท้า

ตู้เก็บรองเท้า ไม่ได้แค่เก็บ แต่เปลี่ยนบ้านให้ดูดีขึ้นได้!

ตู้เก็บรองเท้า ถือเป็นสิ่งจำเป็นของขาช็อปรองเท้าคู่สวยที่มีแต่จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ เรามีเทคนิคการเลือก ตู้เก็บรองเท้า มาให้อ่านกัน โดยจะแบ่งตามลักษณะพื้นที่และไลฟ์สไตล์ พร้อม Tips สนุก ๆ เกี่ยวกับรองเท้า และตัวอย่างไอเดียการทำตู้เก็บรองเท้าสวยๆ มาฝากกันด้วย

คอนโดมิเนียม

ตู้เก็บรองเท้า ในคอนโดมิเนียม หลายคนคงคิดว่าจะเป็นไปได้หรือ เพราะปัญหาหลักของคอนโดมิเนียมคงเป็นเรื่องของพื้นที่จัดเก็บ เราขอแนะนำให้คุณคิดแบบเดียวกับตอนที่จะเลือกซื้อตู้เสื้อผ้า คือมองหาพื้นที่สำหรับทำบิลท์อินไว้ได้เลย โดยต้องคุยกับโครงการตั้งแต่แรกว่าคุณต้องการทำในจุดใดบ้าง 

ตู้เก็บรองเท้า
ตู้บิลท์อินสูงถึงเพดาน จุรองเท้าได้ถึง 200 คู่ เหมาะกับคอนโดมิเนียมนักละ 

จุดที่เหมาะ

  • ผนังข้างประตูทางเข้า - ออก : เพราะคุณต้องถอดและใส่รองเท้าบริเวณนั้นอยู่แล้ว ทำบิลท์อินซ่อนบานตู้ให้กลืนไปกับผนังและสูงถึงเพดานเลยก็ยังได้ 
  • walk-in closet : หลายคนทำ walk-in closet แยกจากห้องนอนเพื่อเก็บเสื้อผ้า เครื่องประดับให้เป็นที่ทาง คุณจะรวมตู้รองเท้าเข้าไปไว้ในห้องนี้ด้วยก็ได้เช่นกัน 
  • ระเบียง : ไม่ต้องแปลกใจ เพราะหลายคนไม่ได้ใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณนี้เลย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นงานบิลท์อินก็ได้ เพียงแต่ควรระวังเรื่องของฝนที่จะสาดมาโดนตู้ และทำให้เกิดความชื้นสะสมเข้าไปในตู้และรองเท้าได้ 

ตู้ที่เหมาะ

  • ตู้บิลท์อินแบบซ่อนมือจับ หรือหน้าบานที่กลืนไปกับผนัง 

ทาวน์เฮ้าส์

ตึกแถวหรือโฮมออฟฟิศที่มีลักษณะอาคารเป็นกล่องสี่เหลี่ยม ก็อาจหาพื้นที่จัดเก็บค่อนข้างลำบาก แต่เชื่อไหมว่ามีบางจุดที่คุณมองข้าม และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ 

ทำตู้บิลท์อินให้เป็นได้ทั้งม้านั่งและที่เก็บรองเท้า เพราะฉะนั้นถึงจะอยู่นอกบ้านก็ไม่กลัวรองเท้าเปียกฝนหรือเปื้อนฝุ่น 
เอาใจหนุ่ม ๆ ด้วยชั้นแบบติดผนังเรียบ ๆ ง่าย ๆ แต่วางรองเท้าได้เป็นระเบียบดี คนอยู่ตึกแถวก็สามารถทำได้ เพราะใช้พื้นที่ไม่เยอะเลย

จุดที่เหมาะ

  • โรงรถ : สำหรับทาวน์เฮ้าส์จะมีบริเวณชานด้านหน้าประมาณ 3 x 5 เมตร ผนังด้านข้างจะเหลือพื้นที่นิดหน่อยให้ทำชั้นวางของได้ ก็แล้วแต่คุณว่าจะปรับไปใช้วางอุปกรณ์เกี่ยวกับรถหรือรองเท้า แต่เนื่องจากอยู่ภายนอก จึงควรทำเป็นตู้มีบานเปิด - ปิดเพื่อป้องกันฝุ่นด้วยนะ  
  • ห้องใต้บันได : ส่วนใหญ่เป็นห้องน้ำสำรอง ซึ่งใช้งานไม่สะดวก ควรคุยกับช่างตั้งแต่แรกว่าอยากเก็บไว้เป็นพื้นที่เก็บของ ซึ่งคุณสามารถดัดแปลงติดชั้นไม้หรือชั้นเหล็กให้เป็นที่วางรองเท้าได้ 

ตู้ที่เหมาะ

  • ชั้นบิลท์อินสำเร็จรูปที่สามารถต่อยึดกับผนังและปรับระดับได้ตามต้องการ  

บ้านเดี่ยว

บ้านหลังใหญ่แม้จะมีพื้นที่เยอะ แต่ถ้าจัดเก็บไม่ดีก็รกได้ ควรนำข้อได้เปรียบเรื่องพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลองมาดูกันว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง 

ตู้เก็บรองเท้า
 พื้นที่ข้างบันไดก็ทำเป็นที่เก็บรองเท้าได้นะ ยิ่งเลือกทาผนังสีขาวแล้วใช้บานเปิดกดกระเด้งที่กลืนไปกับผนังแบบนี้ ยิ่งทำให้ดูกว้าง ไม่เกะกะ 
 ใครไม่อยากทำตู้ แต่ยังต้องการความเป็นระเบียบ กล่องรองเท้าแบบพลาสติกใสเป็นตัวช่วยที่เหมาะมาก เพราะเจาะช่องระบายอากาศทำให้ไม่อับชื้น และยังมองเห็นรองเท้าด้านในได้ด้วย 

จุดที่เหมาะ

  • โรงรถหรือจุดจอดรถ : คล้ายคลึงกับทาวน์เฮ้าส์ คุณสามารถทำงานบิลท์อินติดผนังได้เลยเช่นกัน แต่ถ้าไม่อยากให้เปลืองพื้นที่ อาจทำเป็นชั้นลอยสูงจากพื้นแทนตู้ยาวขนานไปกับผนังก็ได้ 
  • ลานซักล้าง : พื้นที่ที่ถูกมองข้าม แต่จะบอกว่าใช้งานได้อเนกประสงค์มาก โดยปกติลานซักล้างจะเป็นส่วนที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เพื่อให้เวลาซักตากเสื้อผ้าแล้วแห้งเร็ว การทำหรือวางตู้รองเท้าไว้บริเวณนี้จะช่วยลดกลิ่นอับในตู้และรองเท้าได้ด้วย 

ตู้ที่เหมาะ

  • ใช้ได้ทั้งตู้ลอยตัว ตู้บิลท์อิน หรือชั้นวางอื่น ๆ 

จุดที่ควรระวัง

แน่นอนว่าเมื่อมีจุดที่เหมาะสม ก็มีจุดที่ควรระวังเช่นกัน เราไม่ได้กำลังจะบอกว่าคุณวางตู้เก็บรองเท้าในจุดเหล่านี้ไม่ได้ แต่ควรเพิ่มความระมัดระวังขึ้นอีกนิด อาทิ ห้องนอน ที่ปกติแล้วไม่ควรมีเฟอร์นิเจอร์มากชิ้น ทั้งนี้เพื่อให้ห้องโปร่งและสะสมฝุ่นน้อยที่สุด ที่สำคัญ รองเท้าจะต้องเจอมลภาวะมากกว่าเสื้อผ้า แต่มีหลายท่านอยากเก็บรองเท้าไว้ในห้องนอน เพื่อให้สามารถนำมาเลือกมิกซ์แอนด์แมตช์กับเสื้อผ้าก่อนสวมใส่ คำแนะนำคือ ถ้าคุณมีทั้งเสื้อผ้าและรองเท้ามากขนาดนั้น ก็ควรทำเป็น walk-in closet แยกออกไปจากห้องนอน สะดวกและถูกสุขอนามัยมากกว่าจะนำมารวมกันไว้ในห้องเดียว  

แต่ไม่ว่าจะวางไว้มุมไหนก็ตาม สิ่งที่ควรคำนึงถึงทุกครั้งคือคุณต้องวัดขนาดพื้นที่ก่อนออกไปช็อปปิ้งทุกครั้ง ส่วนใหญ่เราจะเลือกซื้อตู้เก็บรองเท้าเป็นรายการท้าย ๆ ซึ่งหมายความว่าคุณวางเฟอร์นิเจอร์ชิ้นอื่น ๆ เรียบร้อยแล้วเหลือพื้นที่ว่าง จึงคิดจะมองหาตู้เก็บรองเท้า ดังนั้นหากไม่ได้เตรียมวัดพื้นที่ที่ว่า คุณอาจได้ตู้ที่ไม่พอดี แล้วจะกลายเป็นเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายไปโดยเปล่าประโยชน์ 

สำหรับคนที่จะทำงานบิลท์อิน อย่าลืมเช็กความลึกและความสูงของชั้นวางในตู้ ไม่ควรออกแบบให้พอดีกับรองเท้าเป๊ะ ๆ เพราะรองเท้าแต่ละประเภทมีความยาวและความสูงไม่เท่ากัน ความสูงอาจอยู่ที่ประมาณ 15 เซนติเมตร (เผื่อไว้สำหรับรองเท้าส้นสูง) และมีความลึกประมาณ 18 - 20 เซนติเมตร   

TIPS ชนิดของรองเท้ากับการเลือกที่จัดเก็บ

  1. รองเท้าหนัง : 80% ของรองเท้ามักทำจากหนัง เพราะเป็นวัสดุที่ยืดหยุ่นและระบายอากาศได้ค่อนข้างดี แน่นอนว่าหนังคือวัสดุจากธรรมชาติ เราจึงแนะนำว่าตู้ไม้ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติเช่นกัน จะเป็นการแมตช์ที่ค่อนข้างลงตัว 
  2. รองเท้าพลาสติกหรือรองเท้ายาง : สามารถเก็บในตู้ชนิดใดก็ได้ แต่ถ้าจะให้ดี ลองเลือกเป็นชั้นวางแบบโปร่ง เพราะด้วยวัสดุพลาสติก หรือยาง คุณอาจใส่มันไปย่ำน้ำมา การวางหรือเก็บบนชั้นโปร่ง ๆ ที่ไม่ปิดทึบหรือไม่มีหน้าบานจะลดความอับชื้นได้ 
  3. รองเท้าผ้า : สามารถเก็บได้ในชั้นทุกประเภท แต่ควรเพิ่มอุปกรณ์เสริม เพราะรองเท้าผ้าจะเสียทรงได้ง่าย อาจยัดกระดาษหนังสือพิมพ์ หรืออุปกรณ์รักษาทรงรองเท้าแบบอื่น ๆ 
  4. รองเท้ากีฬา : วัสดุที่ใช้ทำส่วนใหญ่จะเป็นผ้าใบหรือพลาสติก จึงทำความสะอาดง่ายและเลือกจัดเก็บแบบใดก็ได้ แต่วิธีการใช้งานรองเท้าประเภทนี้ส่วนมากจะก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น ความอับชื้น และความสกปรกมากกว่าปกติ จึงควรผึ่งลมหรือแดดก่อนเก็บเข้าตู้หรือวางบนชั้น

Tips กลิ่นจากตู้รองเท้า

ตู้เก็บรองเท้า

ตู้เก็บรองเท้าส่งกลิ่นเหม็นโชยออกมา ต้นตอของปัญหาเหล่านี้ก็มาจากรองเท้าที่เราใส่เป็นประจำ แต่ขาดการเก็บรักษาอย่างถูกวิธี จึงเกิดการหมักหมมของเหงื่อไคล ความอับชื้น ก่อนเก็บควรเช็กสักนิด หากรองเท้าที่ใส่เปียกชื้นห้ามเก็บเข้าตู้ทันที ต้องผึ่งให้แห้งหรือซักทำความสะอาดเสียก่อน หมั่นนำรองเท้าตากแดดเป็นประจำ อีกวิธีที่ช่วยลดกลิ่นได้ก็คือ ม้วนกระดาษหนังสือพิมพ์เป็นก้อนใส่ในรองเท้า หมึกจากกระดาษหนังสือพิมพ์จะช่วยดูดซับกลิ่นอับและความชื้นได้ หรือจะใช้ถุงผ้าห่อเบกกิ้งโซดาหรือกากกาแฟนำไปใส่ไว้ในรองเท้าก็ให้ผลดีเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างไอเดียการทำ ตู้เก็บรองเท้า

ตู้เก็บรองเท้า
ตู้รองเท้าบริเวณหน้าประตูห้องที่ต่อเติมเพิ่มขึ้นมา ช่วยเพิ่มพื้นที่ในการจัดเก็บรองเท้า หน้าบานกรุกระจกเงา หลอกตาให้ห้องดูกว้างขึ้น แถมยังใช้เช็กเสื้อผ้าหน้าผมก่อนออกจากบ้าน
เพิ่มพื้นที่ใช้งานบนผนังข้างประตูด้วยการตีชั้นไม้เป็นที่วางรองเท้าที่ปรับระดับความสูงได้ และทำบานเลื่อนปิด ผนังด้านหลังตกแต่งด้วยภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยชื่อดังในอดีตที่สะสมไว้
หมดปัญหาเรื่องรองเท้าที่กระจัดกระจายด้วยการวางตู้รองเท้าใกล้ประตูหน้าห้อง ถึงบ้านถอดเก็บให้เรียบร้อย ห้องไม่รก
ช่องเก็บรองเท้าที่บิลท์อินในผนังเป็น 2 ช่อง ขนาดช่องละประมาณ 1.20 x 0.60 เมตร บานเปิดคู่ออกแบบให้สามารถระบายอากาศได้ พร้อมใส่มุ้งลวดกันแมลงที่ด้านใน
ทุกพื้นที่ต้องใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า อาทิ บางส่วนของตู้เก็บของที่อยู่ใกล้ประตูทางออกก็เจาะออกมาให้เป็นที่เก็บรองเท้า 
ตู้เก็บรองเท้า
เว้นช่องลึกเข้าไปในผนัง ทำเป็นตู้เก็บรองเท้าพร้อมที่นั่ง กลับมาบ้านก็ถอดรองเท้าเก็บใส่ตู้ได้ทันที  หน้าบานเจาะรู เพื่อให้อากาศถ่ายเท ลดการอับชื้น ติดมุ้งลวดซ่อนไว้ด้านใน เพื่อป้องกันแมลงและสัตว์ร้ายไม่ให้เข้าไปภายในตู้ได้
บานตู้รองเท้าใช้ดีไซน์แบบกระเบื้องผนัง เพื่อไม่ให้รู้สึกแปลกปลอมเมื่ออยู่บนผืนผนัง
ตู้เก็บรองเท้าหน้าบ้านกรุหน้าบานตู้ด้วยวีเนียร์ลายหินสีเทาที่เข้ากับภาพรวมของบ้าน ด้านล่างเว้นระยะให้ตู้ลอยสูงเหนือจากพื้น สำหรับถอด- ใส่รองเท้าคู่ที่ใช้บ่อย ได้อย่างสะดวก 
ตู้เก็บรองเท้า
 
บริเวณประตูหน้าบ้านและอิฐก่อ  ด้านหนึ่งทำเป็นตู้รองเท้าก่อนเข้าบ้าน ง่ายต่อการดูแล
ตู้เก็บรองเท้า
ออกแบบหน้าบานตู้รองเท้าให้เป็นแบบกดกระเด้ง ใช้งานสะดวกและดูสวยงามเหมือนผนังตกแต่งทั่วไป
ออกแบบทางเชื่อมโถงทางเข้าบ้านกับส่วนลานจอดรถเป็นมุมจัดเก็บรองเท้า ให้สามารถจัดวางกล่องพลาสติกเรียงกันในแนวตั้งได้อย่างพอดี ไม่กีดขวางทางเข้า- ออก นอกจากช่วยเพิ่มความเป็นระเบียบเรียบร้อย วิธีการจัดเก็บนี้ยังช่วยป้องกันอันตรายจากสัตว์เลื้อยคลานได้อีกทางหนึ่ง
ตู้เก็บรองเท้า
ชั้นเก็บรองเท้าทำจากเหล็กดีไซน์เรียบง่าย วางเก้าอี้ไว้ใกล้ๆจะได้นั่งใส่รองเท้าได้สะดวกก่อนออกจากบ้าน
ตู้เก็บรองเท้า
ตู้เก็บรองเท้าแบบเดิมๆ ดูน่าเบื่อเกินไป ลองปรับเป็นตู้ลิ้นชักหลากสี บิลท์อินเต็มผนังจากพื้นจรดเพดาน เพื่อการใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย แถมได้ผนังที่มีเอกลักษณ์และสร้างความน่าสนใจให้บ้าน เพิ่มลูกเล่นด้วยการทำลิ้นชักแต่ละชั้นให้มีโทนสีต่างกัน หน้าบานลิ้นชักบุหนังหลากสีคล้ายกระเป๋าเดินทางแบบโบราณ ควรออกแบบตู้เก็บรองเท้าให้มีความลึกประมาณ 30-40 เซนติเมตร ส่วนเรื่องขนาด (กว้าง ยาว และสูง) ก็ดูให้เหมาะกับขนาดพื้นที่ที่ต้องการทำบิลท์อิน
ตู้เก็บรองเท้า
ปรับพื้นที่ในส่วนประตูทางเข้ารองจากที่จอดรถเป็นห้องเก็บรองเท้าและกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ ช่วยให้บ้านดูเป็นระเบียบ
ตู้เก็บรองเท้า
การทำตู้เก็บรองเท้าสูงจรดเพดานในมุมดับเบิลสเปซ เพิ่มความเป็นระเบียบด้วยชั้นวางพื้นเหล็กตะแกรง ซึ่งแต่ละช่องมีขนาดหน้ากว้างประมาณ 50 เซนติเมตร (สำหรับรองเท้า 2 คู่ ) ความสูง 1. 5 – 2 0 เซนติเมตร และมีความลึกประมาณ 30 เซนติเมตร มีบานปิดเรียบร้อยเพื่อป้องกันฝุ่นและไม่ดูรกตา มาใน ลุคของตู้ล็อกเกอร์เหล็กสไตล์ทหารที่แฝงด้วยความแมนในตัว แบ่งเป็นตู้สองชั้น ชั้นละสามบาน ให้สามารถแยกประเภทของรองเท้าต่าง ๆได้ พร้อมช่องระบายอากาศแบบบานเกล็ดอยู่ด้านล่างของแต่ละบาน และด้วยความที่ชั้นมีความสูงมาก ๆ การหยิบใช้ก็อาจลำบากและมีปัญหาตามมา จึงออกแบบให้มีบันไดล้อเลื่อนเป็นส่วนหนึ่งของฟังก์ชันนี้ด้วย
ตู้เก็บรองเท้า
ตู้เก็บรองเท้า
ทำตู้เก็บรองเท้าไว้ใต้บันไดบริเวณโถงทางเข้าบ้านให้สูงลดหลั่นตามระดับบันได พร้อมมีที่นั่งใส่รองเท้า เพื่อการใช้พื้นที่ได้คุ้มค่า
ตู้เก็บรองเท้า
พื้นที่ใต้บันไดเป็นคำตอบที่ลงตัวที่สุดสำหรับเก็บบรรดารองเท้าลูกรักได้อย่างเป็นระเบียบ โดยสามารถทำตู้ใต้บันไดให้บานเปิดมีสีเดียวกับบันได ดูแล้วกลมกลืนกัน  เพิ่มลูกเล่นด้วยการติดกระจกใสให้เห็นรองเท้าที่อยู่ด้านใน หรือจะติดกระจกเงาเพื่อส่องดูความเรียบร้อยตอนลองรองเท้าก็ได้
ตู้เก็บรองเท้า
ออกแบบลูกตั้งขั้นบันไดให้กลายเป็นที่เก็บรองเท้าแสนเก๋ ด้วยการใช้แผ่นไม้อัดหรือไม้ MDF หนา 10 มิลลิเมตร ตีเป็นกล่องซ้อนเข้าไปด้านใน ทำหน้าบานเปิดให้เลื่อนเปิด – ปิดได้โดยติดรางเลื่อนสองชั้นพร้อมเจาะช่องระบายอากาศ ทีนี้เราก็ใช้เก็บรองเท้าและนั่งใส่รองเท้าตรงนี้ได้สะดวกแล้วละ
ตู้เก็บรองเท้า
ดัดแปลงประตูห้องเก็บของใต้บันไดให้เป็นที่เก็บรองเท้า เป็นการเพิ่มประโยชน์ให้ห้องเก็บของใต้บันไดที่มักจะปล่อยทิ้งไว้
ตู้เก็บรองเท้า
ซ่อนฟังก์ชันใต้เตาผิง จำลองเป็นตู้เก็บรองเท้าได้ในตัว โดยก่อปูนติดกับผนังและออกแบบด้านในเป็นช่องเก็บของลึก 30 เซนติเมตร พร้อมบานไม้เปิดคู่ประดับมือจับสไตล์แอนทีค
ตู้เก็บรองเท้า
ตู้เก็บรองเท้า
ใกล้ประตูทางออกของบ้านควรออกแบบให้มีพื้นที่เก็บรองเท้า ถ้ามีพื้นที่หน้าตู้จำกัด ก็ใช้บานเลื่อนเปิด-ปิดแทน และอาจวางกระจกเงาด้วยก็ได้ เพื่อใช้ส่องดูตัวเองอีกครั้งก่อนออกจากบ้าน
ตู้เก็บรองเท้า
ที่ผนังหน้าบ้านเพิ่มฟังก์ชันให้เป็นตู้เก็บรองเท้าขนาดใหญ่แบบบิลท์อิน
แปลงโฉมเก้าอี้ไม้ยาวธรรมดาๆบริเวณส่วนนั่งเล่นนอกบ้านให้กลายเป็นเก้าอี้สารพัดประโยชน์ มีทั้งตู้เก็บของ ชั้นวางของและใต้ที่นั่งยังสามารถทำเป็นลิ้นชักใช้ใส่รองเท้าคู่โปรด แถมยังนั่งใส่รองเท้าสบาย ๆได้ด้วย เพียงแบ่งพื้นที่ใต้เก้าอี้เป็นสองส่วนสำหรับทำลิ้นชักโครงคร่าวไม้เนื้อแข็ง กรุไม้อัดด้านในแล้วปิดหน้าบานด้วยไม้เนื้อแข็งพร้อมมือจับ ส่วนตู้เก็บของเล็กๆด้านข้าง ให้ตัดแผ่นไม้อัดหรือแผ่น MDF หนา 10 มิลลิเมตร ตีเป็นกล่องไม้เว้นช่องสำหรับวางของ กรุผิวด้านนอกด้วยไม้อัด ทำสีให้เหมือนกับเก้าอี้

เรื่อง : มนตรา ศิริขันธ์
ภาพ : คลังภาพนิตยสาร room, บ้านและสวน และ my home
ภาพประกอบ : สุเทพ บุญน้อม

SHOES CABINET ไอเดียตู้รองเท้าสำหรับนักสะสม

ตู้เก็บของสวย ตัวช่วยจัดการบ้านไม่ให้รก

ติดตามบ้านและสวน