สวนสไตล์ญี่ปุ่นโมเดิร์นและทรอปิคัล ที่ผสมผสานให้มีกลิ่นอายเอเชีย
“เจ้าของบ้านเป็นคุณหมอทั้งคู่ครับ มีเวลาอยู่บ้านค่อนข้างจำกัด เลยอยากใช้เวลาที่อยู่บ้านอย่างมีคุณค่า ชอบความเป็นส่วนตัว และ สวนสไตล์ญี่ปุ่นโมเดิร์นและทรอปิคัล”
“คอนเซ็ปต์การออกแบบคือ สวนสไตล์ญี่ปุ่นโมเดิร์นและทรอปิคัล ที่มีรูปแบบผสมผสานให้มีกลิ่นอายเอเชียตามที่คุณหมอทั้งสองท่านชอบ มีสนามหญ้าให้ลูก ๆ และน้องหมาวิ่งเล่น มีพื้นที่สังสรรค์ในครอบครัว สวนเน้นความร่มรื่นของไม้ใหญ่รอบบริเวณบ้าน มีจุดนั่งพักผ่อนและเดินเล่นในสวนเพื่อสร้างความผ่อนคลายจากการทำงาน โดยต้องมีความเป็นธรรมชาติด้วย” อาจารย์ขวัญชัย จิตสำรวย นักจัดสวนมากประสบการณ์ ผู้จัดสวนแห่งนี้เริ่มต้นเล่าให้ฟัง
สวนนี้ออกแบบให้โอบล้อมอยู่รอบบ้าน มีพื้นที่จัดสวนรวม 925 ตารางเมตร โดยหลังบ้านเป็นทิศตะวันออกและทิศใต้ ซึ่งมีระดับดินสูงกว่าด้านหน้าบ้านที่เป็นทิศตะวันตกและทิศเหนือ ซึ่งมีความต่างระดับถึง 75 เซนติเมตร และมีความลาดชันมาก ต้องปรับระดับพื้นที่ใหม่เพื่อให้เกิดการใช้งานสวนได้สะดวกและเหมาะสม อีกทั้งดินเดิมยังเป็นดินถมทั่วไป สภาพดินปานกลาง ทำให้ต้องปรุงดินใหม่ เน้นเฉพาะโซนที่ปลูกต้นไม้ และใช้น้ำจากประปาหมู่บ้านหรือก็คือน้ำบาดาล ซึ่งการจัดการพื้นที่สวนจึงทำเป็นสเต็ปถึง 4 ระดับ และแบ่งฟังก์ชันการใช้พื้นที่สวนออกเป็น 7 ส่วน ดังนี้


พื้นที่ส่วนแรก จากถนนทางเข้าบ้านออกแบบเป็นลานกว้างและโรงจอดรถ ด้านในเป็นกระบะปลูก ต้นไม้ 3 ระดับยาวล้อไปกับตัวบ้าน ทางเดินเข้าสู่สวนยกระดับให้สูงขึ้นจากระดับพื้นถนน 15 เซนติเมตร เป็นสวนโซนต้อนรับ จัดเป็นพื้นที่ส่วนสาธารณะ ตั้งใจให้มีแค่เสม็ดแดง 1 ต้นและก้อนหินใหญ่ 1 ก้อน ที่เหลือเป็นสนามหญ้าโล่ง เน้นความเรียบง่ายสไตล์โมเดิร์น แล้วยกระดับด้วยกำแพงกันดินสูง 45 เซนติเมตร ทำเป็นบันไดขึ้นไปสู่พื้นที่ส่วนถัดไป ด้านหนึ่งออกแบบเป็นฉากประดับเจาะช่องกลม เพื่อเปิดมุมมองบางส่วน และปิดบังบางส่วนให้เกิดความอยากรู้ อาจารย์ขวัญชัยเรียกว่าเป็นเทคนิค “ซ่อนและเปิดเผย”

พื้นที่ส่วนที่สอง สนามหญ้าที่มีลานวงกลมเพิ่มลูกเล่นด้วยเส้นตรงตัดขวาง ดูขัดแย้งกันตามสไตล์ญี่ปุ่นที่ดูโมเดิร์น เพิ่มความร่มรื่นด้วยแคนา จิกน้ำ และมั่งมี แวดล้อมด้วยไม้ตัดแต่งพุ่มกลม เน้นโทนสีเขียวเป็นหลักตามสไตล์สวนญี่ปุ่น ทางเดินในสวนเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ เพื่อให้เดินง่าย และดูแลง่าย สวนโซนนี้มีลักษณะเป็นกึ่งพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนตัว คือใช้เป็นทั้งพื้นที่พักผ่อน ของครอบครัว และต้อนรับเพื่อน ๆ ผู้มาเยือนได้เช่นกัน แต่ก็มีความเป็นส่วนตัวมากกว่าส่วนแรกขึ้นมา ระดับหนึ่ง ถัดไปยกระดับพื้นที่ขึ้น 15 เซนติเมตร ทำเป็นเสาประตูเพื่อทำให้เกิดความรู้สึกถึงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่พื้นที่ต่อไป


พื้นที่ส่วนที่สาม บริเวณนี้เป็นโซนสวนหลักของบ้าน จัดเป็นสวนสไตล์ญี่ปุ่นโมเดิร์น ลักษณะเป็นสวนกึ่งปิดล้อม คือด้านหนึ่งถูกปิดด้วยตัวอาคาร อีกด้านหนึ่งออกแบบเป็นกำแพงประดับรูปวงกลมคล้ายประตูพระจันทร์ และน้ำตกรางสไตล์โมเดิร์นที่มีกลิ่นอายญี่ปุ่น พื้นที่ส่วนใหญ่โรยกรวดแกลบ วางแผ่นทางเดิน ขนาดใหญ่ไปยังชานบ้านแบบญี่ปุ่นที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ขนาบไปด้วยพุ่มไม้ทั้งสองข้าง เด่นที่มะขามป้อมฟอร์มสวย เติมด้วยไม้ขนาดกลางฟอร์มต้นสวยแตกกิ่งอ่อนช้อยตามสไตล์สวนญี่ปุ่น เช่น พุดกุหลาบ พุดกังหัน พุดมาลัย พู่จอมพล เสริมด้านล่างด้วยไม้พุ่มเตี้ยและไม้คลุมดินที่ปลูกเป็นกลุ่ม แซมด้วยไม้ดอกโทนสีขาว ชมพู และม่วง สวนส่วนนี้ไม่สามารถมองเห็นได้จากส่วนอื่น จะต้องเดินผ่านประตูสวนเข้ามาเท่านั้น เป็นพื้นที่ส่วนตัวเฉพาะเจ้าของบ้าน


พื้นที่ส่วนที่สี่ อยู่ติดกับห้องรับประทานอาหาร มีเฉลียงและทางลงไปที่สวน จัดเป็นสวนทรอปิคัล ตามที่ คุณหมอหนุ่ม-นายแพทย์ธีรพร เหลืองรังษิยากุล ชอบ ด้านนี้เป็นทิศใต้ที่ค่อนข้างร้อน สร้างความ ร่มรื่นด้วยจิกน้ำ ด้านล่างเลือกใช้ไม้กลุ่มเฟิน เช่น ทรีเฟินออสเตรเลีย เฟินบราซิล เฟินบอสตัน เฟินกีบแรด เฟินอุ้งตีนหมี กนกนารี เสน่ห์จันทร์แดง และกระดาดเขียว พื้นโรยกรวดและวางแผ่นหินกาบป่าเป็นทางเดิน พร้อมติดตั้งระบบพ่นหมอกเพิ่มบรรยากาศของสวนป่า

เดินไปท้ายสุดลดระดับทำบันไดลงไปสู่ พื้นที่สวนส่วนที่ห้า ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบริการเป็นลานซักล้าง ปูพื้นด้วยแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปสลับหินกรวด เพื่อให้ระบายน้ำได้ดีและง่ายต่อการทำความสะอาด

พื้นที่ส่วนที่หก แบ่งพื้นที่ด้วยประตูในสวนและลดระดับพื้นที่ลงให้เท่ากับระดับของส่วนหน้าบ้าน ออกแบบเป็นลานโล่งพื้นปูด้วยแผ่นซีเมนต์ ใช้สำหรับสังสรรค์ในครอบครัว ตกแต่งด้วยกำแพงประดับ และที่นั่งสไตล์ญี่ปุ่น ปลูกปีบและมั่งมีทำหน้าที่ให้ร่มเงา เติมความร่มรื่นด้วยต้นไม้เพียงไม่กี่ชนิดที่ตัดแต่งทรงพุ่ม ปลูกในกระบะให้เรียบร้อยสะอาดตาดูเรียบง่ายสไตล์โมเดิร์น

และสุดท้าย พื้นที่ส่วนที่เจ็ด อยู่ด้านหลังโรงจอดรถ ออกแบบเป็นคอกสุนัข ปูพื้นด้วยบล็อก แต่ใส่กรวดในช่องบล็อกแทนหญ้า เพื่อช่วยระบายน้ำและสะดวกในการทำความสะอาด “ด้วยบ้านเป็นสไตล์โอเรียนทัลร่วมสมัยกลิ่นอายเอเชีย จึงเข้ากันได้ดีกับสวนญี่ปุ่นโมเดิร์น แต่หากเจ้าของบ้านต้องการเป็นสวนสไตล์ยุโรป ก็ต้องมีการคิดวิเคราะห์ออกแบบกันใหม่ ปัจจุบันจะเห็นว่าในหลาย ๆ พื้นที่ สไตล์สวนและสไตล์อาคารไม่ได้ไปในแนวทางเดียวกัน สาเหตุหนึ่งก็มาจากความต้องการและความชอบของเจ้าของเป็นหลัก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด เป็นเรื่องน่ายินดีมากด้วยซ้ำที่เกิดพัฒนาการในงานออกแบบ เป็นความท้าทายของนักออกแบบที่ต้องใช้ความสามารถและทักษะในการออกแบบ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ควรจะ หลุดโดดให้ต่างกันจนเกินไป ควรดึงเรื่องของสี รูปแบบงานฮาร์ดเสเคป หรือบางสิ่งที่มีความเกี่ยงเนื่องกับตัวบ้านมาใช้ในงานสวนบ้างอย่างน้อยสัก 25 เปอร์เซ็นต์ ถามว่าถ้าจะเป็นสไตล์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงได้ไหม ก็ทำได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องแยกพื้นที่ออกให้ชัดเจนครับ” อาจารย์ขวัญชัยกล่าวทิ้งท้ายให้แง่คิดในการจัดสวน
นิตยสาร บ้านและสวน ฉบับเดือนพฤษภาคม 2568
เจ้าของ : นายแพทย์ธีรพร – แพทย์หญิงกาญจนา เหลืองรังษิยากุล
ออกแบบ : อาจารย์ขวัญชัย จิตสำรวย
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : อภิรักษ์ สุขสัย