บ้านหลังคาโค้งที่ผสมความเป็นอาร์ตแกลเลอรี่
บ้านสร้างเอง ของศิลปิน เหิร-ต่อลาภ ลาภเจริญสุข ที่ออกแบบโดยใช้ Found Object มารีไซเคิล ผสมระหว่าง Sci-fi จินตนาการ ดวงดาว ยานอวกาศ และชีวิตจริงที่มีความบ้าน ๆ เชื่อมโยงอัตลักษณ์แบบพื้นถิ่น

เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นศิลปินแล้วก็มักจะมีความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่และแตกต่างอยู่เสมอ เหมือนกับคุณเหิร-ต่อลาภ ลาภเจริญสุข ศิลปินผู้ก่อตั้ง Gallery Seescape อาร์ตสเปซชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มักจะสร้างสรรค์งานศิลปะใหม่ ๆ มาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Bestto Boy มนุษย์สวิตช์ไฟ ยานอาม่าจากแจกันลายคราม หรือหน้าต่างทวิภพ โดยล่าสุดเขายังได้นำแนวคิดที่มีต่อศิลปะมาถ่ายทอดสู่การทำ บ้านสร้างเอง เป็นหลังที่ 3 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากหลังคาเมทัลชีตเก่าทรงโค้งจากร้านรีไซเคิล ก่อนจะมาเป็นบ้านหลังคาโค้งที่ยกเพดานให้สูงโปร่งแบบอาร์ตแกลเลอรี่

บ้านทำเองที่ใช้สร้างเวลาถึง 5 ปี
ที่จริงแล้วคุณเหิรตั้งใจมองหาที่ดินธรรมชาตินอกเมืองเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดงานแต่งงานของเขากับ คุณแครี่–ธาวิมล ลาภเจริญสุข จึงได้มาพบกับที่ดินรกร้างขนาด 7 ไร่ ซึ่งอยู่ในหุบเขาและเต็มไปด้วยต้นตองตึง จากนั้นความคิดสร้างสรรค์ของเขาก็จุดประกายขึ้นมาทันที
“ผมเริ่มจากการขุดดินเพื่อทำบ่อน้ำแล้วเอาดินมาถมเป็นเนินสำหรับทำพื้นที่จัดงานแต่งงานในแวดล้อมของป่าธรรมชาติ โดยไม่ได้ตัดต้นไม้ทิ้งสักต้น หลังจากนั้นก็ไปเจอแผ่นเมทัลชีตโค้งๆ จากร้านรีไซเคิล รู้สึกชอบในรูปทรงของมัน เพราะปกติในงานศิลปะผมชอบใช้ Found Object อยู่แล้วด้วย เลยคิดว่าน่าจะเอามาใช้ทำเป็นหลังคาอาคาร ซึ่งตอนแรกตั้งใจทำเป็นโกดังเก็บงานศิลปะ พอเอามาเรียงต่อกันก็เลยได้เป็นฟอร์มของอาคาร 3 ส่วนที่เปิดข้างล่างให้โล่ง ๆ แล้วค่อยใส่ผนังกระจกเข้าไป แต่งไปแต่งมาก็คิดว่าทำให้เป็นบ้านเลยดีกว่า เพราะอยากย้ายมาอยู่นอกเมืองแล้ว โดยทั้งหมดเชื่อมโยงไปกับแนวการทำงานศิลปะของตัวเองที่มักจะผสมระหว่าง Sci-fi จินตนาการ ดวงดาว ยานอวกาศ และชีวิตจริงที่มีความบ้าน ๆ เชื่อมโยงอัตลักษณ์แบบพื้นถิ่น เป็นการทดลองทำและใช้ชีวิตไปด้วย โดยทุก ๆ วัน ผมจะขับรถจากบ้านในเมืองมาที่นี่ นอกจากมาทำงานศิลปะแล้ว ก็ขนของเข้ามา ลากไม้ ลากเหล็กมาค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ ประกอบทุกวัน ก็เลยใช้เวลานานถึง 5 ปี กว่าบ้านจะเสร็จ”


ใช้วัสดุธรรมดาให้ดูสวยไม่ธรรมดา
คุณเหิรวางตำแหน่งของบ้านให้อยู่ใกล้กับบ่อน้ำที่ขุดไว้เพราะอยากได้ความสดชื่นของน้ำ แล้วจึงขึ้นโครงสร้างหลักของบ้านด้วยงานก่ออิฐฉาบปูนบนฐานแผ่ โดยเน้นผนังเกือบทุกด้านให้เปิดโปร่งด้วยกระจก เพื่อเชื่อมโยงธรรมชาติภายนอกให้เข้าถึงทุกมุมมองภายใน แม้แต่ห้องน้ำก็ต้องมองเห็นวิวธรรมชาติได้
“ดีที่ตรงนี้เป็นหุบ มีความเงียบสงบและส่วนตัว ตอนแรกที่เรามาดูมันมืดสนิทแบบไม่มีไฟสักดวง เห็นดวงดาวชัดมาก เราเลยตั้งชื่อตรงนี้กันว่า ‘วิเวกดวงดาว’ และเลือกสร้างบ้านไว้ริมน้ำ เพราะผมเป็นคนอยุธยาที่เคยอยู่บ้านริมน้ำมาก่อน เลยอยากทำบ้านริมน้ำเพื่อได้ฟังเสียงน้ำด้วย แล้วก็เลือกใช้วัสดุหลักเป็นปูน ผนังกรุกระจกผสมกับงานเหล็กในส่วนของกรอบประตูหน้าต่างที่ออกแบบเอง แล้วดัดด้วยมือเพื่อขึ้นรูป และทำสีให้เหมือนทองแดงเพื่อช่วยลดความแข็งของเหล็กแบบอินดัสเทรียลง เป็นสีที่เข้ากับงานไม้ ซึ่งเป็นวัสดุที่ผมชอบที่สุด เพราะมีความนุ่มละมุน เหมาะกับทำงานคราฟต์ ซึ่งไม้ที่ใช้ทั้งหมดนี้ผมหามาจากชุมชนไม้เก่าที่บ้านธิ จังหวัดลำพูน ผมเชื่อว่ามนุษย์อยู่กับไม้แล้วมีความสุข แต่เราคงใช้ไม้ทั้งหมดไม่ได้ ก็ต้องผสมไปในส่วนของพื้นกับฝ้าเพดานห้องนอนที่เน้นให้ดูอบอุ่น ส่วนพื้นชั้นล่างเป็นกระเบื้องที่ปูเอง แล้วหลังคาก็เป็นเมทัลชีตโค้งที่ฉีดฉนวนกันความร้อนไว้เพื่อช่วยกันทั้งเรื่องเสียงและความร้อน”




แต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์และงานศิลปะ
แนวทางการตกแต่งบ้านของคุณเหิรเองนั้นก็ไม่ต่างจากวิธีที่เขาใช้สร้างงานศิลปะ ซึ่งมักจะใช้ Found Object หรือนำวัสดุเหลือใช้รอบตัวหรือที่พบเจอมาประยุกต์และจัดวางใหม่จนเกิดเส้นสายและเรื่องราวใหม่ที่ยังคงเชื่อมโยงถึงอดีตที่คุ้นเคย
“ผมว่าวัตถุเหล่านี้มีความหมายหรือความทรงจำบางอย่างของผู้คนที่ใช้งานอยู่ในนั้น มันเป็นความพื้นบ้านที่ผสมเข้าไปในส่วนที่ดูอวกาศ ทันสมัย อย่างกระเบื้องบ้าน ๆ เหลือใช้ก็เอามาผสมกันวางแพตเทิร์นใหม่เป็นผนังสีสันในห้องน้ำ หรือเปลี่ยนไม้ล้อเกวียนเก่ามาเติมขาใหม่ ๆ ให้กลายเป็นเก้าอี้ และก็ยังมีเก้าอี้คุ้นตาที่เคยเห็นตามร้านค้าทั่วไปเอามาจัดวางผสมผสาน”



ส่วนที่ดึงดูดสายตาที่สุดในบ้านต้องยกให้บันไดเวียน 2 จุด ซึ่งเป็นทางขึ้นสู่ห้องนอนฝั่งซ้ายและขวา ทำจากวัสดุรีไซเคิลที่คุณเหิรดัดแปลงให้สวยจนกลายเป็นประติมากรรมในกลิ่นอายอวกาศผสมไปด้วยความดิบเท่
“ผมชอบเรื่องบันไดมาก เพราะเราทำภายในบ้านให้สูงโปร่งและขาวเรียบเหมือนอาร์ตแกลเลอรี่ เพื่อให้สามารถวางงานศิลปะได้สวย บันไดจึงมักเป็นปัญหา เพราะถ้าทำแบบเอียงก็กินพื้นที่เกินไป ก็เลยต้องเป็นบันไดวน ผมใช้ตัวแกนในของเหล็กแผ่น (ก่อนจะเอามาดัดเป็นเมทัลชีต) แล้วเอามาต่อกันในแนวตั้งแล้วทำขั้นบันไดขึ้นใหม่เรียงวนออกมาจากแกนเหมือนกลีบดอกไม้ เมื่อเสาแกนกลางกว้างขึ้น ลูกนอนบันไดกว้างขึ้น ก็ทำให้เดินสบาย ดูแล้วไม่กวนสายตา สร้างฟังก์ชันพร้อมตกแต่งไปพร้อม ๆ กัน เฟอร์นิเจอร์ก็มีเท่าที่จำเป็น ผสมไปกับงานศิลปะของผมในทุก ๆ มุมของบ้าน รวมไปถึงของเล่นที่ผมทำเป็นของขวัญวันเกิดให้ลูก ซึ่งจะมีขนาดใหญ่ขึ้นในทุก ๆ ปี แล้วสอนลูกว่าสิ่งพิเศษไม่จำเป็นต้องซื้อ แต่สามารถสร้างขึ้นมาด้วยตัวเองได้ มาตอนนี้กำลังมีลูกคนที่สอง เริ่มคิดว่าไม่น่าจะใช้แผนนี้ได้แล้ว เพราะแต่ละชิ้นใช้เวลาทำนาน เลยจะปรับการสอนว่าสิ่งพิเศษไม่จำเป็นต้องใหญ่ก็ได้ เพราะเพชรเล็กๆ ก็ยังมีคุณค่าได้เหมือนกัน” (หัวเราะ)


เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้งาน โดยเปิดเพดานด้านบนให้โล่งสำหรับเป็นระเบียงขนาดใหญ่


อาร์ตแกลเลอรี่ในบ้าน
นอกจากสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยและทำงานศิลปะแล้ว คุณเหิรยังมีแนวคิดที่จะจัด Art Event บริเวณลานเนินที่เขาเคยใช้จัดงานแต่งงานนั้นให้เป็นกิจกรรมพิเศษทุกปี ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติเพื่อคนที่มีมุมมองและแนวคิดในแบบเดียวกัน
“ผมสร้างบ้านนี้โดยไม่กู้ยืมค่อย ๆ ทำไปทีละนิด บางคนบอกเสียเวลา แต่ผมมองว่านี่แหละเวลาที่เราใช้ชีวิต ซึ่งทุกอย่างที่ได้มาก็คือกำไร ทุกวันนี้ก็เปิดบ้านเหมือนแกลเลอรี่ให้คนนัดเข้ามาดูงานศิลปะด้วย บ้านเลยจะเป็นแบบนี้ตลอด ชีวิตประจำวันเราก็จะอยู่กันตรงโถงกลางบ้าน ใช้โต๊ะยาวทำหลายอย่างทั้งวาดรูป ภรรยานั่งทำงาน เพื่อนมาปาร์ตี้ มุมที่ภรรยาผมใช้บ่อยก็คือในห้องครัว เพราะเขาเรียนมาด้านนี้และก็เปิดร้านอาหารอยู่ที่นิมมานเหมินท์ด้วย ผมตั้งใจวัดขนาดครัวให้พอดีกับความสูงของเขาเลยนะ ยากหน่อยเพราะมีอุปกรณ์ของใช้เยอะ และแม้บางจุดของบ้านจะไม่เนี้ยบ แต่ก็เหมือนเวลาที่ดรออิ้ง เรายังไม่สามารถลากเส้นให้ตรงที่สุดได้เลย ซึ่งผมว่าดูละมุนดีและมันก็คือบ้านในแบบของเรา”



เจ้าของ: คุณต่อลาภ – คุณธาวิมล ลาภเจริญสุข
ออกแบบ : คุณต่อลาภ ลาภเจริญสุข
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม, ณัฐวรรธน์ ไทยเสน
สไตล์ : Suntreeya