บ้านสุขอรุณ ทำหน้าที่เหมือนพื้นที่ส่วนกลางที่ทุกคนในครอบครัวสามารถเข้าถึงและใช้งานพร้อมกันได้ โดยไม่มีรั้วกั้นระหว่างบ้าน มีมุมพักผ่อนที่เปิดโล่งต่อเนื่องกัน มองเห็นกันได้ตลอดไม่ว่าจะอยู่มุมไหน
Design Directory : สถาปนิก ชาน สตูดิโอ (CHAN STUDIO)
บ้านสุขอรุณ หลังนี้ ตั้งอยู่ถนนเส้นหลักที่มีรถราขวักไขว่ในย่านชานเมือง ความเจริญที่ขยายตัวเข้ามาใกล้ แต่เมื่อเลี้ยวเข้าซอยเล็กๆที่ไม่ได้ไกลจากถนนใหญ่มากนัก ก็พบรั้วที่ปกคลุมไปด้วยต้นเหลืองชัชวาลจนแทบไม่เหลือที่ว่าง สีเขียวของใบไม้ที่ห้อยย้อยลงมา เป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งการต้อนรับการกลับบ้านที่แสนร่มเย็น เมื่อเราเดินผ่านประตูไม้หน้าบ้านเข้าไป ความประหลาดใจที่ซ่อนอยู่ในบ้านหลังนี้ทำให้เราต้องหยุดซึมซับภาพของสวนที่มีพรรณไม้นานาชนิดตรงหน้า ปลาคาร์ปที่กำลังแหวกว่ายอยู่ในบ่อน้ำ และมีบ้านเป็นฉากหลังโอบล้อมเอาไว้
บ้านหลังกลางที่สร้างเป็นหลังสุดท้าย
“ที่ดินตรงนี้แม่ซื้อไว้นานมากแล้ว ผมมาสร้างบ้านหลังนี้เป็นหลังสุดท้าย อยู่ตรงกลางระหว่างบ้านพี่สาวทั้ง 2 คน” คุณโจ้ – ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ เจ้าของบ้าน ปัจจุบันทำงานด้านเทคโนโลยี โดยร่วมก่อตั้งบริษัทบุญมีแล็บ (BOONMEE LAB) และใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศเกาหลีใต้เป็นส่วนใหญ่ เปิดคาเฟ่ Fjord Soeul กับภรรยาชาวเกาหลีใต้ในกรุงโซล นานๆ ครั้งถึงจะกลับมากรุงเทพฯ จึงตั้งใจให้บ้านหลังนี้ ทำหน้าที่เหมือนพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านที่ทุกคนในครอบครัว ทั้งพ่อแม่ พี่ๆ และหลานๆ สามารถเข้าถึงและใช้งานพร้อมกันได้ โดยไม่มีรั้วกั้นระหว่างบ้าน พื้นที่ภายในแบ่งเป็นมุมแพนทรี่ โต๊ะกินข้าวขนาดใหญ่ และมุมพักผ่อนที่เปิดโล่งต่อเนื่องกันมองเห็นกันได้ตลอดไม่ว่าใครจะอยู่มุมไหน
“บ้านนี้จะไม่มีครัวไทยจริงจังเพราะบ้านพี่สาวก็จะทำกับข้าวทีเป็นหม้อใหญ่ๆ สไตล์คนไทย แล้วยกมาอุ่นที่บ้านนี้ หรือมื้อเย็นบางทีก็ซื้อสุกี้มาทำกินกัน นั่งกินบ้าง ลุกไปเติมบ้าง ทุกอย่างมันต่อเนื่องกันเป็นมื้ออาหารที่สนุกมากๆ มีหลานคนหนึ่งบอกว่า ‘กินข้าวที่นี่แล้วอยากล้างจาน’ เพราะเขายังมองเห็นและพูดคุยกันได้อยู่ ไม่ได้ถูกตัดขาดออกจากคนอื่น”
สไตล์ที่ใช่ใน Planning ที่ชัดเจน
บ้านหลังนี้ได้ คุณชาย – ศักดิ์ชาย โกมลโรจน์ และคุณแอน – อรพิมพ์ ตันติพัฒน์ สถาปนิกจาก ชาน สตูดิโอ เป็นผู้ดูแล ซึ่งคุณชายเป็นเพื่อนกับคุณโจ้ตั้งแต่เรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณโจ้เองเรียนออกแบบอุตสาหกรรม จึงมีสไตล์และความชอบในด้านการออกแบบเช่นกัน
“ผมเองค่อนข้างชัดเจนกับสิ่งที่ต้องการ Planning ของบ้านค่อนข้างนิ่งมาตั้งแต่ต้น คือ ชั้นล่างเป็นแชร์สเปซมีคอร์ตที่มีต้นไม้เยอะๆ และมีบ่อปลาคาร์ป มองไปเห็นสีเขียวสดชื่น เพราะผมชอบปลูกต้นไม้ อยากให้มองไปทางไหนก็เห็นสีเขียว ส่วนชั้นบนให้เป็นพื้นที่ส่วนตัว มีห้องนอนและห้องทำงานกึ่งสตูดิโอที่แยกออกมา และแน่นอนว่ามีการออกแบบให้มีพื้นที่ปลูกต้นไม้บนชั้น 2 และบริเวณดาดฟ้าเพื่อความร่มรื่นเช่นกัน
“ส่วนที่มีการปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ และใช้ระยะเวลาพอสมควร เป็นเรื่องของรายละเอียดการตกแต่งภายใน เพราะในวันแรกกับในวันนี้มุมมองในชีวิตก็เปลี่ยนไป ถ้ารีบทำรีบสร้างก็มีโอกาสที่เราจะไม่ชอบ เพราะใช้เวลากับมันน้อยเกินไป สไตล์ที่ใช่สำหรับผมคืออะไรที่เราอยู่ด้วยแล้วไม่เบื่อ ไม่ดูพยายามเกินไป เพราะจะกลายเป็นการตีกรอบในการเลือกใช้วัสดุหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ แต่โจทย์สำคัญที่ใหญ่กว่านั้นคือการแก้ปัญหา เพราะบ้านหลังนี้ค่อนข้างตื้น จะทำอย่างไรให้ไม่รู้สึกอึดอัด และในทางยาวก็ไม่ทำให้บ้านทั้งสามหลังถูกตัดขาดจากกัน”
คิดพื้นที่เผื่อผู้สูงอายุ
บ้านสุขอรุณ คือ ชื่อบ้านที่แสนเรียบง่ายมาจากการนำชื่อของคุณพ่อกับคุณแม่มาผสมกัน ซึ่งท่านทั้งสองก็มีอายุมากแล้ว จึงต้องการให้ชั้นล่างมีความสะดวกและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยเริ่มตั้งแต่ทางเข้าบ้านที่ทำเป็นทางลาดเอียงเผื่อสำหรับการใช้งานรถเข็นในอนาคต ทางเดินและประตูที่กว้างเพียงพอ ห้องน้ำที่อยู่ใกล้กับห้องนอน พื้นเรียบปลอดภัยไม่มีจุดสะดุด และถึงแม้จะอยู่ในชั้นเดียวกับพื้นที่ส่วนกลางของครอบครัว แต่จัดวางพื้นที่ทั้งสองส่วนให้แยกออกจากกันและไม่รบกวนกัน
บ้านที่ช่วยกันดูแล
เมื่อ บ้านสุขอรุณ เป็นพื้นที่ส่วนกลางของครอบครัวก็ย่อมต้องการให้ทุกคนได้เข้ามาใช้พื้นที่นี้ร่วมกัน “ผมรู้สึกว่าทุกคนดูมีความสุขกับการเข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ ซึ่งเมื่อเขาแฮปปี้กับการใช้พื้นที่นี้ เขาก็จะช่วยดูแล ปัดกวาดเช็ดถูให้น่าอยู่น่าใช้งาน เพราะบ้านถ้าทิ้งไว้ไม่มีคนอยู่ก็จะยิ่งเก่าโทรมลงไป กลับดีเสียอีกเมื่อมีการใช้งาน มีคนมาเดินมาชงกาแฟทุกเช้า แวะมานั่งเล่นดูปลาบ้าง รดน้ำต้นไม้บ้าง หรือใช้เป็นมุมรับแขกประจำบ้าน รู้สึกดีที่พื้นที่นี้ทำงานได้จริง”
บ้านที่เป็นบ้าน
บ้านที่ออกแบบก่อสร้างมาจนเสร็จสมบูรณ์แต่ความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน “คุณพ่อคุณแม่ก็จะบอกว่าบ้านสวย โปร่งโล่งสบาย นั่งเล่นได้ไม่ร้อนเลย นั่งตรงนี้เห็นหมดเลยว่าใครไปใครมา คำพูดของเขาค่อนข้างธรรมดามากๆ แต่ก็เข้าใจได้ทันที แปลกนะบ้านนี้ก็อยู่ไม่ไกลจากถนนใหญ่ที่ค่อนข้างวุ่นวาย แต่เมื่อผ่านกำแพงบ้านเข้ามากลับเงียบสงบ เราก็พร้อมจะลืมทุกอย่าง ผมรู้สึกว่าเป็นบ้านที่ทำให้เวลาเดินช้าลง เมื่อมีโอกาสกลับเมืองไทยไปเมื่อไร บ้านหลังนี้แหละที่จะให้ความรู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน” เป็นคำตอบสุดท้ายที่ฟังดูเรียบง่าย แต่เข้าใจความหมายของคำว่า “บ้าน” ได้อย่างชัดเจน
Designer’s Tips
“การออกแบบเพื่อให้ใช้พื้นที่ร่วมกันสำหรับครอบครัวขยาย ต้องวางลำดับของการเข้าถึงโดยแยกพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนกลางให้ชัดเจน การสร้างพื้นที่ส่วนกลางควรจะเอื้อให้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน มองเห็นกัน พูดคุยกันได้ แต่ต้องไม่ลืมเรื่องมุมมองการมองเห็นระหว่างกัน ซึ่งไม่ใช่เพียงการกั้นพื้นที่หรือสร้างผนัง แต่รวมไปถึงว่าอีกฝั่งอยากมองเห็นเราด้วยการออกแบบช่องเปิด การกำหนดเฟรมเพื่อบังคับมุมมองไม่ให้มองเห็นกันตรงๆ ก็ช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวได้เช่นกัน” ทีมสถาปนิก จาก ชาน สตูดิโอ
เจ้าของ : คุณฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ
ออกแบบ : ชาน สตูดิโอ (CHAN STUDIO) โดยคุณศักดิ์ชาย โกมลโรจน์ และคุณอรพิมพ์ ตันติพัฒน์
เรื่อง : jOhe
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล