หมาที่ฉลาดที่สุด

สายพันธุ์ “หมาที่ฉลาดที่สุด” คือสายพันธุ์อะไร

หมาที่ฉลาดที่สุด
หมาที่ฉลาดที่สุด

การศึกษาวิจัยเรื่องทักษะด้านการรับรู้ของน้องหมา หรือที่หลายคนเรียกว่า “ความฉลาด” ได้แสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์ หมาที่ฉลาดที่สุด เป็นสายพันธุ์ที่อยู่เหนือความคาดเดาของคนส่วนใหญ่

ความสงสัยใครรู่ของมนุษย์ได้ผลักดันให้เราพยายามศึกษาเพื่อนต่างสายพันธุ์มาตลอดว่า น้องหมาสายพันธุ์ใด คือ “หมาที่ฉลาดที่สุด”

จนกระทั่งเมื่อปี 2022 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ (Helsinki) ประเทศฟินแลนด์ ได้ศึกษาพฤติกรรมสุนัขกว่า 1,000 ตัว รวม 13 สายพันธุ์ เช่น บอร์เดอร์ คอลลี่ (Border Collie), เบลเยียน มาลินอยส์ (Belgian Malinois), อิงลิช ค็อกเกอร์ สแปเนียล (English Cocker Spaniel), เยอรมัน เชพเพิร์ด (German Shepherd), โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ (Gloden Retriever), และลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever)

น้องหมาทั้งหมดที่เข้าร่วมวิจัย ต้องทำแบบทดสอบทักษะพฤติกรรมด้านการรับรู้ ที่เรียกว่า “smartDOG” ซึ่งเป็นแบบทดสอบเพื่อ ประเมินการแก้ปัญหาและกลยุทธ์ การควบคุมแรงกระตุ้น ความสามารถในการอ่านท่าทางของมนุษย์ ความสามารถในการเลียนแบบมนุษย์ พฤติกรรม ความจำ และการใช้เหตุผลเชิงตรรกะของน้องหมา

นักวิจัยได้รายงานผลการศึกษาในวารสาร Nature Scientific พบว่า สายพันธุ์ที่ได้คะแนนรวมสูงสุดคือ ‘เบลเยี่ยม มาลินอยส์’ โดยได้คะแนนรวมทั้งหมด 35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 39 คะแนน

อย่างไรก็ตาม การทดสอบครั้งนี้ก็ได้เผยให้เห็นถึงจุดเด่น และจุดอ่อน ของแต่ละสายพันธุ์ ตามเงื่อนไขต่าง ๆ ในแบบทดสอบ

หมาที่ฉลาดที่สุด
สุนัขเชลตี้นั่งจดจ้องไปที่เจ้าของอย่างตั้งใจ แม้ว่าจะมีสิ่งเร้าภายนอกรบกวน

“แต่ละสายพันธุ์มีจุดเด่น และจุดอ่อน ในตัวเองทั้งนั้นค่ะ” ซารา จันต์ติลา หนึ่งในนักวิจัย มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ กล่าวและเสริมว่า “เช่น ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ ได้คะแนนสูงมากในเรื่องการอ่านท่าทางของมนุษย์ ในขณะที่ น้องหมาพันธุ์ เชตแลนด์ ชีพด็อก หรือ เชลตี้ ได้คะแนนเกือบเท่ากันในทุกหัวข้อการทดสอบ”

สำหรับตัวท็อปของการศึกษาครั้งนี้ หลายท่านอาจไม่คุ้นเคยกับชื่อ เบลเยียน มาลินอยส์ น้องหมาที่มีต้นกำเนิดในประเทศเบลเยียม ได้รับความนิยมในเรื่องการฝึกฝน เพื่อเป็นสุนัขเพื่อภารกิจรักษาความปลอดภัย ค้นหา และการทหาร จึงมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการทำงานร่วมกับมนุษย์

อาจเป็นไปได้ว่า การทำงานร่วมกันระหว่างมาลินอยส์และมนุษย์ในภารกิจต่าง ๆ จะช่วยส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาบางอย่างของพวกเขาได้ ซึ่งสุนัขมาลินอยส์ส่วนใหญ่ต้องผ่านการฝึกฝนโดยมนุษย์มาเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม บางบททดสอบ มาลินอยส์ก็ทำได้ไม่ดีเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น ๆ เช่น ในการทดสอบเรื่องแรงกระตุ้น ซึ่งนักวิจัยได้อภิปรายไว้อย่างน่าคิดว่า เนื่องจากสุนัขสายพันธุ์นี้ถูกฝึกมา เพื่อใช้งานในภารกิจจู่โจม ดังนั้น เมื่อเห็นตัวกระตุ้นที่เป็นเป้าหมาย พวกเขาจึงพุ่งเข้าหาสิ่งกระตุ้นนั้นแทบจะทันที

จากการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยได้สรุปว่า ทักษะที่โดดเด่นบางประการของสุนัข อาจเชื่อมโยงกับสายพันธุ์ และถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น สุนัขในตระกูลชีพด็อก ที่ทำคะแนนได้ดีในเรื่องการทำตามคำสั่งของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม การทดสอบครั้งนี้ไม่สามารถบอกได้ว่า สุนัขสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง “ฉลาดกว่า” หรือดีกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ เนื่องจาก ผลการทดลองบางข้อยังแสดงผล ที่ขัดแย้งกับการพฤติกรรมในชีวิตของสุนัข เช่น สุนัขต้อนแกะของฟินแลนด์ ทำคะแนนได้ไม่ดีในเรื่องการฟังคำสั่ง แต่พวกเขาส่วนใหญ่กลับทำงานเป็นสุนัขต้อนแกะ เป็นต้น

นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังเขียนข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้ว่า สุนัขที่เข้าร่วมการทดสอบในครั้งนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชากรสุนัขบ้านทั้งหมด แต่ข้อมูลครั้งนี้เป็นเพียงการขยายภาพรวมของพฤติกรรมทั่วไปของสุนัขให้ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบใด ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อทดสอบสุนัข ล้วนไม่สามารถใช้บ่งชี้ได้ว่า น้องหมาสายพันธุ์ใดฉลาดที่สุด เนื่องจากในชีวิตจริง น้องหมาแต่ละตัวต้องเผชิญกับปัจจัยที่แตกต่างกัน แต่การศึกษาวิจัยด้านพฤติกรรมสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย เป็นเพียงการเปิดเผยข้อมูลด้านพฤติกรรมด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้เราทำความเข้าใจสัตว์เลี้ยงของเราได้มากขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง
Scientific Reports – Breed differences in social cognition, inhibitory control, and spatial problem-solving ability in the domestic dog (Canis familiaris)


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ: เบลเยียน มาลินอยส์ – ลักษณะสายพันธุ์ และการดูแล